กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) สนับสนุนด้านวิชาการและเทคโนโลยีนวัตกรรมให้กับธุรกิจก่อสร้างต่อยอดธุรกิจพัฒนาระบบฟาร์มเกษตรในอาคาร (Plant Factory) มาใช้กับการปลูกพืชออแกนิกในห้องพักอพาร์ตเมนต์ใจกลางกรุงเทพฯ โดยสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญโปรแกรม ITAP จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ถ่ายทอดเทคโนโลยีและให้คำปรึกษาจนเป็นผลสำเร็จ
โดย บริษัท ลอฟท์ บิวเดอร์ จำกัด ได้ขอรับการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญจากโปรแกรม ITAP สวทช. ในการเริ่มพัฒนาธุรกิจการเกษตรในอนาคตด้วยการพัฒนาระบบฟาร์มเกษตรในอาคาร (Plant Factory) แบบอินทรีย์ ด้วยการนำเทคโนโลยีและระบบควบคุมสภาวะการเพาะปลูกที่ทันสมัย เช่น แสง อุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ น้ำ และสารอาหารพืชแบบอัจฉริยะ เพื่อให้บริษัทสามารถปลูกพืชผักผลไม้เมืองหนาวในเมืองที่มีคุณภาพได้ตลอดทั้งปี ได้นำเทคโนโลยีระบบฟาร์มเกษตรในอาคาร มาใช้กับการปลูกผักและผลไม้ออร์แกนิคในห้องพักอพาร์ตเมนต์ ทำให้ได้ต้นแบบห้องที่ปลูกผักและผลไม้ออร์แกนิคชนิดต่าง ๆ เช่น ผักเคล สตรอว์เบอร์รี และสมุนไพรเมืองหนาว เป็นต้น พร้อมเป็นสถานที่ดูงานของบริษัทต่างๆ ที่สนใจจะทำระบบฟาร์มเกษตรในอาคารได้ศึกษาต้นแบบ เพราะผักและผลไม้ออร์แกนิคที่ปลูกเป็นพืชที่มีมูลค่าสูงในตลาด ราคาแพง และการลงทุนของเทคโนโลยีนี้เกษตรกรหรือผู้สนใจสามารถลงทุนได้
ดร.นันทิยา วิริยบัณฑร ผู้อำนวยการโปรแกรม ITAP สวทช. กล่าวว่า สวทช. หน่วยงานวิจัยและพัฒนา รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมไทย มีเป้าหมายในการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG “เพิ่มคุณภาพชีวิต เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” ต่อยอดจุดแข็งของประเทศในด้านความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม ประกอบด้วย Bioeconomy (ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ) สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพยากร Circular Economy (ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน) และ Green Economy (ระบบเศรษฐกิจสีเขียว) ที่มุ่งเน้นแก้ปัญหามลพิษเพื่อลดผลกระทบต่อโลก ด้วยการใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน
สำหรับบริษัท ลอฟท์ บิวเดอร์ จำกัด ได้ขอรับการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญจากโปรแกรม ITAP สวทช. ในการเริ่มพัฒนาธุรกิจการเกษตรในอนาคตด้วยการพัฒนาระบบฟาร์มเกษตรในอาคาร (Plant Factory) แบบอินทรีย์ ด้วยการนำเทคโนโลยีฟาร์มเกษตรอัจฉริยะมาปรับใช้ในการปลูกพืชระบบปิดในอาคาร ด้วยระบบควบคุมสภาวะการเพาะปลูกที่ทันสมัย เช่น แสง อุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ น้ำ และสารอาหารพืชแบบอัจฉริยะ เพื่อให้บริษัทสามารถปลูกพืชผักผลไม้เมืองหนาวในเมืองที่มีคุณภาพได้ตลอดทั้งปี ถือเป็นนวัตกรรมการปลูกผักผลไม้อินทรีย์ที่ตอบโจทย์สังคมเมืองและเป็นต้นแบบการพัฒนาเกษตรยุคใหม่ได้เป็นอย่างดี โปรแกรม ITAP สวทช. ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและถ่ายทอดงานวิจัยที่ตอบโจทย์การพัฒนาเกษตรกรรมสู่ความยั่งยืน นอกจากนี้ยังสนับสนุนผู้ประกอบการด้านโรงเรือนอัจฉริยะในหลากหลายรูปแบบเพื่อหนุนผู้ประกอบการและเกษตรกรพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันและยกระดับมาตรฐานการผลิตสินค้าการเกษตร รวมถึงนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนประเทศตามแผนโมเดลเศรษฐกิจ BCG
ด้าน รองศาสตราจารย์วันชัย แหลมหลักสกุล ผู้เชี่ยวชาญ และหัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมระบบไซเบอร์-กายภาพทางการผลิต มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ผู้เชี่ยวชาญในโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากโปรแกรม ITAP สวทช. กล่าวว่า ได้นำความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมในระบบฟาร์มเกษตรในอาคาร มาร่วมพัฒนาธุรกิจเกษตรในอนาคตของบริษัท ลอฟท์ บิวเดอร์ จำกัด ด้วยการพัฒนาระบบฟาร์มเกษตรในอาคาร โดยทำโรงงานปลูกพืชระบบปิด Plant Factory ที่ควบคุมสภาพแวดล้อมได้ ทั้งการให้น้ำ แสง อุณหภูมิและความชื้นที่เหมาะสม นอกจากจะช่วยให้พืชเจริญเติบโตได้ดีแล้ว ยังสามารถปลูกพืชนอกฤดูกาลได้
“การวิจัยนี้ได้พัฒนาระบบฟาร์มเกษตรในอาคารที่ควบคุมสภาวะการเพาะปลูก ได้แก่ แสง อุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ ลม คาร์บอนไดออกไซด์ น้ำและสารอาหารพืช ด้วยระบบอัตโนมัติประกอบด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีดิจิทัล โดยตั้งค่าการทำงานผ่านแอปพลิเคชัน ซึ่งสามารถปรับตั้ง แก้ไข ควบคุมการทำงานผ่านสมาร์ตโฟนหรือแท็บเล็ตจากนอกสถานที่ได้ ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และในขณะเดียวกันก็ปลดปล่อยของเสียสู่สภาพแวดล้อมน้อยที่สุด โดยเทคโนโลยีระบบฟาร์มเกษตรของบริษัทฯ สามารถควบคุมสภาพแวดล้อมด้วยระบบอัตโนมัติ เช่น อุณหภูมิ แสงเทียม (LED) เพื่อการสังเคราะห์แสงของพืช ซึ่งกระบวนการสังเคราะห์แสงนี้จะผ่านแสงจากหลอดไฟ LED ที่มีการควบคุมความเข้มของแสง คลื่นความถี่และระยะเวลาของแสงในแต่ละช่วงการปลูก เพื่อให้มีความคล้ายคลึงกับการสังเคราะห์แสงจากดวงอาทิตย์ทั้งนี้การใช้แสง LED จะช่วยลดระยะเวลาการปลูกลงได้ครึ่งหนึ่งของระยะเวลาการเติบโต อีกทั้งยังมีการควบคุมลมและความชื้นในอากาศ หากความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศต่ำกว่ากำหนด ระบบจะเชื่อมต่อกับระบบพ่นละอองน้ำแบบพิเศษเพื่อปรับความชื้นสัมพัทธ์ให้อยู่ในช่วงที่กำหนด ซึ่งโดยภาพรวมระบบจะควบคุมพารามิเตอร์ เพื่อให้เหมาะสมกับพืชแต่ละชนิด”
ด้าน นายพีรพงษ์ ตันตยาคม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลอฟท์ บิวเดอร์ จำกัด ในฐานะผู้ประกอบการ กล่าวว่า เนื่องจากบริษัทดำเนินธุรกิจก่อสร้างเป็นหลัก และมีแนวคิดที่ต้องการปลูกพืชผักและผลไม้เมืองหนาวของต่างประเทศแบบออร์แกนิคไว้กินเอง แต่ด้วยพื้นที่ซึ่งเป็นพื้นดินที่มีจำกัดเนื่องจากอยู่ในกรุงเทพฯ อีกทั้งปัญหาด้านแมลงศัตรูพืช สภาพดินฟ้าอากาศ และฤดูกาล แต่มีห้องว่างในอพาร์ตเมนต์จึงได้นำแนวคิดนี้ไปขอรับการสนับสนุนจากโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) สวทช.โดยมีรองศาสตราจารย์วันชัย แหลมหลักสกุล จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือเป็นผู้เชี่ยวชาญและได้ดำเนินโครงการจากการทดลองปลูกผักสลัดได้สำเร็จ นอกจากนี้ผู้เชี่ยวชาญได้แนะนำให้ทดลองปลูกสตรอว์เบอร์รีสายพันธุ์ต่างประเทศ ผักเมืองหนาว เช่น ผักเคล เซเลอรี่ สวิสชาร์ด พาสเลย์ และสมุนไพรต่างประเทศ รวมถึงดอกไม้กินได้ เป็นต้น
“ผลที่ได้รับจากการนำระบบฟาร์มเกษตรในอาคารมาใช้คือ นวัตกรรมการปลูกผักผลไม้อินทรีย์ในอาคารในพื้นที่จำกัดที่กรุงเทพฯ และยังสามารถปลูกให้ผลผลิตตลอดทั้งปี ไม่มีฤดูกาล มีคุณภาพทางกายภาพ ทางเคมีของผลผลิต สะอาด ปลอดภัย ปราศจากสารเคมีและยาปราบศัตรูพืช ซึ่งแตกต่างจากการปลูกโดยทั่วไปที่จะออกผลผลิตตามฤดูกาลและต้องใช้น้ำและสารเคมีและยาปราบศัตรูพืชเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังลดต้นทุนด้านการขนส่งเนื่องจากปลูกใกล้แหล่งจัดจำหน่ายให้กับผู้บริโภค ซึ่งบริษัทฯ ได้จัดตั้งเป็นศูนย์สาธิตระบบฟาร์มเกษตรในอาคาร เมื่อดำเนินการโครงการแล้วเสร็จ เพื่อสาธิตระบบฟาร์มเกษตรในอาคารให้กับลูกค้าของบริษัทฯ และผู้สนใจในการนำระบบฟาร์มเกษตรในอาคารไปใช้ในธุรกิจ ร้านอาหาร และบ้านอยู่อาศัย
จากในสถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดโรคระบาดโควิด-19 ผู้บริโภคต้องทำงานที่บ้าน (Work From Home) มากขึ้น บริษัทฯ ได้จัดจำหน่ายพืชผักแบบออแกนิคที่ปลูกได้จากฟาร์มเกษตรในอาคารได้แก่ ผักเคล และสมุนไพรต่างประเทศ เช่น โรสแมรี่ ไทม์ ออริกาโน โหระพาอิตาเลี่ยน ซึ่งทำการตลาดภายใต้แบรนด์ "Kale Factory" ผ่านหลายช่องทางที่ทำให้มียอดขายเพิ่มขึ้น ทั้งผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น Facebook, LINE และผ่านแพลตฟอร์มบริการส่งด่วน เช่น LINE MAN, Robinhood และ AOW”
นายพีรพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ดีเทคโนโลยีการปลูกแห่งอนาคตนี้ ถือเป็นทางเลือกหนึ่งของการปลูกพืชที่ต้องการความปลอดภัยสูง จึงควรเป็นพืชที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง เช่น พืชผักผลไม้เมืองหนาว สมุนไพร หรือยารักษาโรค โดยใช้เทคโนโลยีการปลูกพืชในอาคารที่มีการควบคุมสภาวะการเพาะปลูก ทำให้สามารถทำการเกษตรได้ทุกเวลา ไม่มีฤดูกาล มีคุณภาพทางกายภาพ-ทางเคมีของผลสะอาดและปลอดภัยตามที่ต้องการ
ผู้ประกอบการที่สนใจเทคโนโลยีระบบฟาร์มเกษตรในอาคาร สามารถขอรับบริการได้ที่ โปรแกรม ITAP สวทช. โทร 0 2- 564 -7000 ต่อ 1301 หรืออีเมล panita@nstda.or.th