xs
xsm
sm
md
lg

แนะ ‘มหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง’ ยกระดับอาชีวะ สกสว.เตรียมแผนผลิตกำลังคนแบบไร้รอยต่อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สกสว.ระดมสมองพัฒนาระบบการอุดมศึกษาให้เชื่อมโยงรูปแบบการเรียนรู้แบบไร้รอยต่อ เพื่อสร้างบัณฑิตที่มีทักษะใหม่ ปรับตัวเข้ากับตลาดแรงงานที่ปรวนแปร ผู้ทรงคุณวุฒิแนะ อุดมศึกษาควรร่วมกับ ศธ. ให้ความสำคัญกับความฉลาดรู้วิทย์-คณิตในนักเรียน และเป็นพี่เลี้ยงพัฒนาทักษะแรงงานอาชีวะ


เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดการประชุมระดมความเห็นผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อจัดทำแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปี พ.ศ. 2566-2570 เรื่อง “ระบบการอุดมศึกษาแบบเชื่อมโยงรูปแบบการเรียนรู้ทั้งลักษณะ Degree, Non-degree และการเรียนรู้ตลอดชีวิตตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน และสามารถประกอบอาชีพอิสระ” โดยมีนักวิชาการ ผู้แทนจากหน่วยงานระดับนโยบาย และหน่วยบริหารและจัดการทุนเข้าร่วม

ที่ประชุมเห็นพ้องว่าเป้าหมายและผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญของระบบการอุดมศึกษาแบบเชื่อมโยง คือ การ ยกระดับและบูรณาการสถาบันศึกษาและสถาบันวิจัยที่เชื่อมโยงกับทุกภาคส่วน เพื่อการสร้างคนที่มีทักษะสูง สามารถปรับตัวเข้ากับตลาดแรงงานและมีการเรียนรู้ตลอดชีวิต เนื่องจากโลกอนาคตจะต้องผลิตคนที่มีพัฒนากำลังคนให้มีความสามารถในการเรียนรู้ มีทักษะสำหรับศตวรรษที่ 21 สามารถคิดและพัฒนาการทำงานแบบใหม่ มีเรื่องใหม่ ๆ ที่แม้ไม่ได้เรียนมาแต่สามารถนำปรับใช้ในการทำงานได้ เพื่อให้เป็นการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง เช่น การสร้างคนให้มีความรู้เรื่องปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ วิศวกรรมกระบวนการชีวภาพ ความรู้ด้านคณิตศาสตร์เชิงลึกและสถิติ เนื่องจากตลาดแรงงานในอนาคตต้องการแรงงานอัจฉริยะ (Smart Worker) มากขึ้น

ประเด็นสำคัญคือ จะต้อง “บูรณาการ” กับหน่วยงานต่าง ๆ ภายใต้การดำเนินโครงการต่าง ๆ  เพื่อเสริมให้การเรียนรู้ตลอดชีวิตไร้รอยต่ออย่างแท้จริง โดยให้ระบบอุดมศึกษาเชื่อมโยงกับกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อจัดการเรียนการสอนให้นักเรียนได้รับการศึกษาให้เกิดความฉลาดรู้ทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี อย่างแท้จริง ซึ่งเป็นฐานที่สำคัญสำหรับการศึกษาต่อด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระดับอุดมศึกษา รวมถึง ควรสร้างความร่วมมือกับวิทยาลัยอาชีวศึกษาซึ่งเป็นแหล่งผลิตฝีมือแรงงานสำคัญของประเทศ 

โดยการส่งเสริมให้มี “ระบบพี่เลี้ยง” เพื่อเชื่อมรอยต่อระหว่างสถาบันการศึกษากับภาคอุตสาหกรรม ให้ผลิตบุคลากรมีทักษะที่พร้อมทำงาน มีความรู้ทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ตลอดจนการส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมที่มีกระบวนการวิจัยและพัฒนาที่เข้มแข็งเข้ามามีส่วนร่วมการผลิตกำลังคนตั้งแต่ต้น เพื่อลดรอยต่อด้านการผลิตกำลังคนและปฏิบัติงานในภาคอุตสาหกรรมได้จริง ขณะที่หน่วยงานภาครัฐและสถาบันวิจัยควรจะมีมาตรการดึงดูดให้หน่วยงานเข้ามาร่วมพัฒนากำลังคนตั้งแต่ต้น ภายใต้ความร่วมมือกับกรม กอง ที่เกี่ยวข้องในการผลิตนักวิจัย เช่น กรมการแพทย์ กรมวิชาการเกษตร ให้เชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัย และจัดทำหลักสูตรร่วมกับต่างประเทศ เพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ในการสร้างกำลังคนทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ


ทั้งนี้การเรียนรู้ตลอดชีวิตไม่ได้ครอบคลุมเฉพาะวัยแรงงานเท่านั้น แต่อาจจะต้องมีกลุ่มคนที่เกษียณแล้วดึงกลับมาในตลาดแรงงานด้วย เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรปัจจุบันมีอัตราเด็กเกิดใหม่น้อยลงขณะที่สังคมสูงวัยขยายตัวมากขึ้น ขณะเดียวกันจะต้องลดความเหลื่อมล้ำและสร้างคุณภาพการศึกษา หลักสูตรในปัจจุบันอาจจะมีปริมาณมากพอแต่ยังไม่มีคุณภาพเท่าที่ควร หรือไม่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน รวมทั้งขนาดของสถาบันอุดมศึกษาก็มีผลกับการพัฒนาของสถาบันและการสร้างกำลังคน สถาบันอุดมศึกษาจึงควรส่งเสริมการศึกษาที่มีคุณภาพให้สอดคล้องประเด็นสำคัญ เช่น เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว รวมถึงการพัฒนา STEM ให้กับระบบการศึกษา ตลอดจนดึงดูดกำลังคนจากต่างประเทศให้เข้ามาร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศไทยพร้อมกับยกระดับแรงงานของคนไทยไปพร้อมกัน เช่น อุตสาหกรรมอาหารที่ยังขาดกำลังคนอยู่มาก

สำหรับแผนงานวิจัยที่สำคัญ ประกอบด้วย โครงการสร้างเครือข่ายเพื่อพัฒนากำลังคนที่มีทักษะเฉพาะ โครงการพัฒนาทักษะให้แรงงานในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยการสร้างเครือข่ายร่วมกันระหว่างอุตสาหกรรมในประเทศและต่างประเทศ และโครงการมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง โดยมหาวิทยาลัยที่มีความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อาทิ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าหลายแห่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ต่างก็มีทรัพยากรด้านการพัฒนากำลังคนที่สามารถเข้ามามีบทบาทเป็นพี่เลี้ยงให้กับวิทยาลัยอาชีวศึกษา เพื่อพัฒนาบุคลากรระดับปฏิบัติการให้มีความพร้อมที่ออกจะไปทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมได้ ซึ่งจะตอบโจทย์ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวมถึงความต้องการของผู้ประกอบการอย่างแท้จริง


กำลังโหลดความคิดเห็น