xs
xsm
sm
md
lg

(ชมคลิป) ‘เชฟเมย์’ รองแชมป์ Top Chef Thailand ต่อยอด “น้ำพริกส็อก” ที่กำลังจะถูกลืมด้วยนวัตกรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



น้ำพริกส็อก เป็นน้ำพริกพื้นเมืองของภาคเหนือ เป็นน้ำพริกอีกชนิดหนึ่งที่ใช้บ่เขือส้มทำเท่านั้นจึงจะอร่อย คำว่าส็อก หรือ ซอก เป็นภาษากำเมือง เป็นกิริยา ของการใช้สากครกบี้มะเขือเทศให้แตกคลุกเคล้ากับเครื่องน้ำพริกอื่นๆ ให้เข้ากัน

ขั้นตอนการทำน้ำพริกส็อก เริ่มจากนำมะเขือเทศพื้นบ้าน เสียบไม้ปิ้งกับเตาไฟปานกลางถึงอ่อน ให้สุกผิวแตกให้น้ำในมะเขือเทศไหลออกมาสักพัก หลังจากนั้น นำน้ำพริกแห้ง กระเทียม คั่วให้เหลืองหอม และนำกะปิย่างไฟให้พอเหลือง หลังจากนั้นลงมือตำ พริก กระเทียมตำให้แหลก ใส่กระปิตำให้เข้ากัน จากนั้นนำมะเขือเทศมาส็อก คือบดๆ บี้ๆ คลุกๆ ให้เข้ากับเครื่องปรุงอื่นๆ เป็นอันเสร็จ

“เชฟเมย์”  พัทธนันท์ ธงทอง
ต่อยอดน้ำพริกส็อกกำลังจะถูกลืม ด้วยเชฟฝีมือระดับโลก

ทั้งนี้ เนื่องด้วยน้ำพริกส็อกเป็นน้ำพริกพื้นถิ่น ของภาคเหนือ ซึ่งคนในภาคอื่นๆ หลายคนอาจจะไม่เคยได้กินหรือ เคยได้ยินชื่อด้วยซ้ำ แต่วันนี้ “เชฟเมย์” “พัทธนันท์ ธงทอง” เชฟชื่อดังดีกรีระดับ รองแชมป์จากรายการ Top Chef Thailand Season 1 และเจ้าของเหรียญเงินในการแข่งขันเชฟระดับโลกปี 2014 ได้นำน้ำพริกส็อก ของภาคเหนือ มาทำเสิร์ฟให้กับคนไทยในทุกภาค ได้รู้จัก เพื่อสืบสานภูมิปัญญาและวัฒนธรรมด้านอาหารเหนือ ให้ยังคงอยู่คู่กับคนเหนือ และคนไทยตลอดไป

“เชฟเมย์” พัทธนันท์ เล่าว่า จุดเริ่มต้น ที่นำน้ำพริกส็อกมาต่อยอดนวัตกรรมการผลิต และจัดจำหน่ายในครั้งนี้ มาจากตนเองเป็นคนเหนือ อยากจะสืบสานวัฒนธรรมด้านอาหารของภาคเหนือ ให้ไปได้ไกลเหมือน โกทูจัง นัตโตะ หรือ มิตโซะ ของญี่ปุ่น โดยนำน้ำพริกส็อกผ่านนวัตกรรมต่อยอด สร้างรูปแบบการกินน้ำพริกแบบใหม่ ออกมาในรูปแบบของซอส หรือ เป็นเบสของอาหารต่างๆ เพิ่มขึ้น


จากน้ำพริกจิ้มข้าวเหนียว สู่เบสซอสปรุงอาหารนานาชาติ

"นั่น หมายความว่า น้ำพริกของเราจะ ไม่ใช่แค่น้ำพริกที่ใช้จิ้มข้าวเหนียว หรือ หมูทอด ไก่ทอดแล้ว แต่สามารถนำไปเป็นเบสซอส ในการปรุงอาหาร เช่น นำน้ำพริกส็อกไปทำแกงกิมจิ หรือ นำไปทำเป็นซอสสปาเก็ตตี้ เป็นต้น และการนำน้ำพริกส็อกมาต่อยอด เป็นเบสซอสในการปรุงอาหาร ครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเพื่อให้น้ำพริกส็อกเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้ง่ายขึ้น และถ้าเป็นไปได้ต้องการให้น้ำพริกส็อกได้ต่อยอดไปไกลให้คนทั่วโลกได้รู้จักอาหารพื้นเมืองของภาคเหนือของไทย เพราะไม่ได้แค่สร้างชื่อน้ำพริกภาคเหนือของไทยเท่านั้น แต่ยังได้สืบสานวัฒนธรรมและภูมิปัญญาการทำอาหารแบบดั้งเดิมที่กำลังเลือนหายได้ยังคงอยู่ตลอดไป" 


“เชฟเมย์” เล่าถึงน้ำพริกส็อก ว่า เป็นน้ำพริกที่มีส่วนผสมของน้ำพริกตาแดง กับมะเขือเทศย่างไฟ โดยมีอีกชื่อหนึ่งที่คนภาคเหนือ เรียกว่า น้ำพริกส้มจี่ คำว่าส็อก เป็นคำ ล้านนา แปลว่า การนำสากไปบดบนอาหารเบาให้มีเสียงเกิดส็อก คนเมืองเขาก็เลยเรียกว่า น้ำพริกส็อก โดยเมย์ ก็นำน้ำพริกตัวนี้มาผลิตให้อยู่ในรูปแบบของการพกพาที่สะดวกสบายขึ้น และเก็บไว้ได้นาน โดยน้ำพริกส็อกของเมย์สามารถเก็บไว้ในตู้เย็นอยู่ได้นาน ตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 1 ปี โดยที่รสชาติ และสีก็ยังคงเหมือนกันทุกครั้งที่นำออกมารับประทาน

โดยน้ำพริกส็อก ของเชฟเมย์ จัดจำหน่ายภายใต้ชื่อแบรนด์ “น้ำพริกเชฟเมย์” เชฟเมย์ บอกว่า รู้สึกภูมิใจที่วันนี้ ได้นำน้ำพริกพื้นเมืองจริงๆ มาต่อยอดด้วยนวัตกรรมการผลิต โดยกำจัดเพลนพอยท์ ของน้ำพริกออกไป และเพื่อให้ต่อยอดไปในอาหารได้หลากหลายประเภทขึ้น


น้ำพริกส็อก แชมป์ภาคเหนือ ประกวด "นิลมังกรแคมเปญ"

ทั้งนี้ กระบวนการทำน้ำพริกส็อก โดยใช้นวัตกรรมของ เชฟเมย์ ครั้งนี้ เริ่มขึ้น มาจากที่เธอได้เข้าร่วมในโครงการสุดยอดธุรกิจนวัตกรรมประเทศไทยประจำปี 2564 รอบภูมิภาค (Thailand INNO BIZ Champion 2021 Regional Round) ภายใต้ “นิลมังกรแคมเปญ” จัดโดย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายจำนวน 18 หน่วยงาน ได้แก่ ศูนย์แบรนด์เคยู คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค 14 มหาวิทยาลัย หอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย

โดยจากโครงการดังกล่าว มีผู้ประกอบการจากทั่วประเทศในทุกภาค เข้าร่วม และได้มีการจัดการประกวด“สุดยอดธุรกิจนวัตกรรมประเทศไทยประจำปี 2564 รอบภูมิภาค (Thailand INNO BIZ Champion 2021 Regional Round) ภายใต้ “นิลมังกรแคมเปญ” และ น้ำพริกส็อก ของเชฟเมย์ ยังได้อันดับหนึ่ง เป็นตัวแทนของภาคเหนือ


กระบวนการทำน้ำพริกส็อก รูปแบบของนวัตกรรม

เชฟเมย์ กล่าวถึง ขั้นตอนการนำนวัตกรรมมาใช้กับน้ำพริกส็อก ว่า เริ่มตั้งแต่การผลิต โดยใช้การย่างมะเขือเทศ ด้วยระบบอินฟาเรดซึ่งเป็นระบบความร้อนสูงที่ส่งตรงไปยังวัตถุดิบ ทำให้วัตถุดิบมะเขือเทศของเราไม่ไหม้ ที่สำคัญรสชาติของมะเขือเทศจะยังคงอยู่ เนื่องจากการใช้ระบบอินฟาเรดจะทำให้ไม่สูญเสียน้ำ ทำให้การผลิตของเราได้เนื้อ และน้ำหนักที่ยังคงมีรสชาติของมะเขือเทศ

นอกจากนี้ ในกระบวนการผลิต ใช้การปั่นด้วยระบบสุญญากาศทำให้สีของน้ำพริกไม่เปลี่ยน และรสชาติของอาหารไม่เปลี่ยนเมื่อโดนความร้อนจากใบมีด รวมถึงขั้นตอนการผลิตแบบพาสเจอร์ไร้ท์ ซึ่งใช้ขั้นการผลิตแบบ HACCP ทำให้ไม่เกิดภาวะความเสี่ยงต่อการทำให้อาหารเสีย ซึ่งใช้การน็อคด้วยความเย็น โดยเมื่อนำอาหารออกจากความร้อน นำมาน็อคด้วยความเย็นทันทีแบบอัตโนมัติ ช่วยยืดอายุทำให้อาหารไม่เสียง่ายแม้อยู่ในอุณหภูมิปกติ

รับรางวัลชนะเลิศการประกวด นิลมังกรแคมเปญ ในระดับภาคตัวแทนภาคเหนือ
แผนการตลาดบุกทั้งในประเทศ และต่างประเทศ

เชฟเมย์ กล่าวถึงการวางแผนการตลาดของ "น้ำพริกเชฟเมย์"  ว่า จะใช้การขยายตลาดทั้งช่องทางออฟไลน์ และออนไลน์ ในส่วนของออฟไลน์ มีแผนที่จะบุกตลาดร้านสะดวกซื้อ และซุปเปอร์มาร์เก็ต เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงได้ง่ายขึ้น  ซึ่งการเข้าร่วม "นิลมังกรแคมเปญ" ครั้งนี้ มีหน่วยงานมาช่วยให้คำปรึกษาด้านการตลาด มั่นใจว่า ด้วยคุณภาพ และรสชาติทำให้เราประสบความสำเร็จได้ ตามเป้าที่ตั้งเป้าไว้ คือการเติบโต 10 เท่า ในขณะที่ NIA ตั้งเป้าไว้แค่ 3 เท่า จากการร่วมกิจกรรมดังกล่าว ที่ผ่านมาได้มีการแนะนำน้ำพริกของเราผ่านทางหน้าร้านของเชฟเมย์เอง ผลตอบรับออกมาค่อนข้างดี หลายคนเคยทดลองซื้อไปกินก็จะกลับมาซื้อเอง

“รางวัลที่ได้ถือเป็นความภูมิใจและเป็นเสมือนเครื่องการันตีว่าธุรกิจนี้ได้พัฒนามาถูกทางแล้ว และกำลังจะก้าวสูงขึ้นต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งสิ่งที่จะยากขึ้นก็คือ การค้นหานวัตกรรมที่จะนำมาสอดแทรกและทำให้ผลิตภัณฑ์มีจุดเด่นเหนือกว่าคู่แข่ง รางวัลที่ได้นี้จึงเป็นทั้งกำลังใจและแรงผลักดันไปสู่เป้าหมาย ซึ่งก็คือการทำให้อาหารไทยเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก”



เตรียมต่อยอดน้ำพริกหนุ่ม และ น้ำพริกถั่วเน่า

ทั้งนี้ ในอนาคต นอกจากน้ำพริกส็อก ยังมีแผนที่จะนำนวัตกรรมมาใช้ในการผลิตน้ำพริกหนุ่ม และ น้ำพริกถั่วเน่า เพราะโปรดักส์ไลน์ 2 ตัว เป็นสัญลักษณ์ของอาหารเหนือ และถ้าสามารถยืดอายุ และทำออกมาให้มีรสชาติทีดี ในบรรจุภัณฑ์ที่ออกแบบมาพิเศษ เพื่อให้ง่ายต่อการใช้งาน และพกพาสะดวก ช่วยให้การเติบโตของน้ำพริก ภาคเหนือจะมีโอกาสเติบโต และโกอินเตอร์ ภายใต้แบรนด์ของเชฟเมย์ การันตีความอร่อย ด้วยเชฟชื่อดัง ซึ่งไม่ได้แค่เชฟเมย์ จะได้มีรายได้เท่านั้น แต่สิ่งที่ได้ตามมา คือ เกษตรกรผู้ปลูกมะเขือเทศ ซึ่งเป็นมะเขือเทศที่ปลูกส่วนใหญ่หาได้ในภาคเหนือ หรือ กลุ่มวิสาหกิจที่ทำถั่วเน่า จะได้มีรายได้ จากการส่งถั่วเน่ามาเป็นวัตถุดิบให้เราทำน้ำพริกในครั้งนี้




* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า"SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *



กำลังโหลดความคิดเห็น