xs
xsm
sm
md
lg

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดการประชุมวิชาการ สวทช.ประจำปี 2564 (NAC2021) แบบออนไลน์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จออก ณ วังสระปทุม ทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการ สวทช. ประจำปี 2564 (NSTDA Annual Conference : NAC2021) ภายใต้แนวคิด “30 ปี สวทช. ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ซึ่งปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 16 ระหว่างวันที่ 25-30 มีนาคม 2564 ในรูปแบบออนไลน์ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ถ่ายทอดสดจากวังสระปทุมไปยังห้องประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี โดยมีคณะผู้บริหารและพนักงานของ สวทช. ร่วมรับเสด็จฯ ส่วนนักวิชาการ นักวิจัย นักศึกษา และประชาชนทั่วไป สามารถรับชมได้ผ่านทางเว็บไซต์ https://www.nstda.or.th/nac และเฟซบุ๊ก : NSTDA - สวทช.

ในโอกาสนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำรัสเปิด การประชุมวิชาการ สวทช.ประจำปี 2564 ครั้งที่ 16 ความว่า 

“ขอแสดงความยินดีในโอกาสที่ สวทช.ดำเนินงานมาครบ 30 ปี มีบทบาททางด้านการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศให้ทันสมัย สวทช.ช่วยสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งให้แก่วงการวิจัยของประเทศ สร้างความเป็นเลิศด้านทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจนเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ทำให้ประเทศมีกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ งานของ สวทช.สร้างคุณูปการอย่างดียิ่งให้แก่สังคมไทยมาตลอด 3 ทศวรรษ ขอให้ สวทช.ยึดมั่นในพันธกิจที่ได้รับมอบหมาย มุ่งมั่นพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ เพื่อให้เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนประเทศชาติให้เจริญอย่างยั่งยืน และเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ปวงชนชาวไทยอย่างทั่วถึง ข้าพเจ้าขอเปิดการประชุมวิชาการ สวทช. ณ บัดนี้ ขอให้การประชุมรับผลสำเร็จสมดังที่มุ่งหมายไว้ทุกประการ ทั้งขอให้ท่านทั้งหลายมีความสุขสวัสดีทั่วกันตลอดไป”


จากนั้น ทรงแสดงปาฐกถาพิเศษเนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปี แห่งความสัมพันธ์ไทย-เซิร์น ตามพระราชดำริฯ ทรงเล่าถึงประสบการณ์ การเสด็จพระราชดำเนินเยือนเซิร์น ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ครั้งแรกเมื่อปี 2543 ครั้งที่ 2 ปี 2546, ครั้งที่ 3 ปี 2552, ครั้งที่ 4 ปี 2553, ครั้งที่ 5 ปี 2558 และครั้งที่ 6 ปี 2562 ทรงพระราชอุตสาหะติดต่อและขอโอกาสให้นักวิทยาศาสตร์ไทยได้มาทำวิจัย ทำให้เกิดความร่วมมือด้านวิชาการและวิจัยร่วมกันระหว่างไทยกับเซิร์น ทรงจัดการให้มีมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีหน้าที่ประสานงานโครงการต่างๆ ที่สำคัญ ได้แก่ โครงการคัดเลือกนักศึกษาและครูสอนฟิสิกส์เพื่อเข้าร่วมโปรแกรมภาคฤดูร้อนเซิร์น, โครงการส่งเสริมการจัดกิจกรรมวิชาการที่เกี่ยวข้องกับเซิร์น และโครงการส่งเสริมนักศึกษาระดับมหาบัณฑิต ดุษฎีบัณฑิต และนักวิจัยไปทำงานวิจัยที่เซิร์น เพื่อพัฒนาให้เกิดการทำวิจัยร่วมกับเซิร์น นอกจากนี้ยังมีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่างระหว่างเซิร์นกับสถาบันการศึกษาของไทยอีกหลายโครงการ


“ประเทศไทยก็ได้ทำงานนี้ โอกาสนี้มา 20 ปีแล้ว ก็ขอให้เราร่วมมือกันต่อไปเพื่อประโยชน์ทั้งของเราและประชาคมโลกโดยในส่วนร่วม ซึ่งมีการส่งนักวิจัยไปจากเนคเทค สวทช. สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) หรืออาจารย์มหาวิทยาลัย เช่น จากมหาวิทยาลัยสุรนารี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นต้น เพื่อไปร่วมงานวิจัย การทำวิจัยก็มีทั้งนักศึกษาระดับปริญญาโท และปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยต่างประเทศเข้าร่วมด้วย ดังนั้น เราก็ได้ทั้งผลงานวิจัยและผลิตกำลังคนด้วย นักวิจัยของไทยก็ได้มีส่วนร่วมทั้ง 4 สถานีของเซิร์น ทั้ง CMS Alice ATLAS และ LHC รวมทั้งการประชุมร่วมกับประเทศต่างๆ ที่ร่วมมือกับเซิร์น”

“ตอนที่ข้าพเจ้าไปเซิร์น มีประสบการณ์อย่างหนึ่ง คือ เดินสวนกับเด็กกลุ่มเล็กๆ เด็กประถมหรืออนุบาลไม่ทราบ ก็มีผู้ใหญ่คงเป็นครู สงสัยว่าทำไมเขาเอาเด็กเล็กๆ มาศึกษาที่เซิร์น เราก็เอาบ้างสิ ไม่รู้จะไปที่ไหนก็ไปที่แสงสยามซินโครตรอน เอานักเรียนชั้นประถมไป คนที่ซินโครตรอนก็รู้สึกแปลกๆ เพราะว่าเคยสอนแต่นักศึกษามหาวิทยาลัย แต่เด็กประถมไม่เคยสอนก็อยากเคยซะ เพราะเด็กประถมก็สนใจมากและทำได้ดี มีเด็กบางคนที่เรียนรู้ได้ก้าวหน้าไปแล้ว ตอนหลังก็ได้แข่งขันทางวิชาการแล้วเด็กประถมเราชุดนี้ก็ไปชนะเด็กมัธยมในระดับนานาชาติด้วย แต่ตอนนี้จัดการแข่งขันไม่ได้เพราะว่ามีโควิด”


โอกาสนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทอดพระเนตรวีดิทัศน์ผู้บริหารระดับสูงของเซิร์นกล่าวแสดงความยินดีในโอกาสครบรอบ 20 ปี ความสัมพันธ์ไทย-เซิร์น, วีดิทัศน์นิทรรศการผลงานวิจัย วทน. ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และนิทรรศการผลงานนวัตกรรม สวทช. ที่นำไปใช้ในสถานการณ์ COVID-19

สวทช.กำหนดจัดงานประชุมวิชาการประจำปี ครั้งที่ 16 นี้ ระหว่างวันที่ 25-30 มีนาคม 2564 ภายใต้หัวข้อ “ 30 ปี สวทช.ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” เพื่อส่งเสริมแผนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy หรือเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว) ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติที่จะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยมีรายได้สูงขึ้น โดยใช้ประโยชน์จากฐานความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรมของประเทศไทย


ในปีนี้ สวทช.ได้ปรับการจัดงานออนไลน์ทุกกิจกรรมให้สอดรับกับชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ผู้เข้าร่วมงานสามารถสื่อสารปฏิสัมพันธ์กับวิทยากรได้โดยไม่ต้องเดินทางไปที่งาน ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย และเข้ารับชมย้อนหลังได้ กิจกรรมภายในงาน เช่น การเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการวิจัยและทดสอบของ สวทช. และบริษัทผู้เช่าในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย 8 เส้นทาง กิจกรรมวิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชน นิทรรศการโซนต่างๆ 74 หัวข้อ และการสัมมนาวิชาการมากกว่า 34 หัวข้อ ที่เกี่ยวเนื่องกับ BCG เช่น ด้านนวัตกรรมอาหาร ด้านสุขภาพและการแพทย์ เน้นเรื่องวัคซีนโควิด-19 ด้านพลังงาน และการพัฒนาประเทศด้วยแพลตฟอร์มข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น