xs
xsm
sm
md
lg

NIA ผนึกพันธมิตรรับสตาร์ทอัพลุยเทคโนโลยีอวกาศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เปิดตัวโครงการพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้นที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกด้านเศรษฐกิจอวกาศ ภายใต้ชื่อ Space Economy : Lifting Off 2021 ผนึกกำลังภาคีความร่วมมืออวกาศไทย (Thai Space Consortium) เพื่อสร้างการเติบโตให้แก่อุตสาหกรรมอวกาศและผลักดันให้เกิดการนำประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศไปพัฒนาประเทศ โดยเปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพ นักวิจัย และผู้ประกอบการที่มีเทคโนโลยีเข้าร่วมโครงการ เพื่อร่วมรังสรรค์กับองค์กรพันธมิตรในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมอวกาศ นำไปสู่โอกาสทางธุรกิจและการเติบโตในอุตสาหกรรมอวกาศ รวมถึงการนำเทคโนโลยีอวกาศไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA
กล่าวว่า “NIA เล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้นที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Tech Startup) ซึ่งเป็นการพัฒนารูปแบบธุรกิจจากการใช้เทคโนโลยีเชิงลึกที่มีความซับซ้อน
มีพื้นฐานจากการวิจัยเชิงลึกที่ต้องอาศัยกระบวนการทางอุตสาหกรรมขั้นสูง เพื่อการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี และมุ่งเน้นการขยายผลทางธุรกิจและการตลาด ตลอดจนห่วงโซ่อุปสงค์และอุปทานของอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ”

จากความสำคัญดังกล่าวจึงได้ร่วมโครงการภาคีความร่วมมืออวกาศไทย (Thai Space Consortium) ริเริ่มและดำเนินโครงการ Space Economy : Lifting Off 2021 ขึ้นเพื่อพัฒนาศักยภาพและผลิตภัณฑ์ของสตาร์ทอัพ นักวิจัย และผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีอวกาศ ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถต่อยอดทางธุรกิจและเติบโตในอุตสาหกรรมอวกาศได้ โดยได้เชิญหน่วยงานพันธมิตรที่มีบทบาทสำคัญและมีความพร้อมในการพัฒนาและส่งเสริมผู้ประกอบการทางด้านเทคโนโลยีอวกาศให้เติบโตเข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ (Thailand Tech Startup Association) และ Thai Venture Capital Association (TVCA)
โครงการ Space Economy : Lifting Off 2021 นับเป็นครั้งแรกของการจัดโครงการบ่มเพาะผู้ประกอบการด้านอวกาศในประเทศไทย โดยได้จัดทำเป็นรูปแบบของ “Co-creation” คือ เน้นให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้ร่วมทำงานจริงกับหน่วยงานพันธมิตรและนำไปสู่การต่อยอดธุรกิจ ทุกทีมจะได้ลงมือทำงานกับผู้มีประสบการณ์และผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมอวกาศ รวมถึงได้รับการสนับสนุนในด้านต่างๆ โดยจะคัดเลือกสตาร์ทอัพจำนวน 10 ราย ซึ่งผู้สนใจไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอวกาศ แต่ต้องมีแนวคิดที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรม มีทีมงานและเทคโนโลยีพื้นฐานที่พร้อมจะพัฒนาต่อยอดสู่เทคโนโลยีด้านอวกาศได้ โดยสตาร์ทอัพที่เข้าร่วมโครงการจะมีโอกาสได้นำเสนอผลงานกับนักลงทุนที่มีความสนใจลงทุนในเทคโนโลยีเชิงลึกและบริษัทที่มีความสนใจในอุตสาหกรรมอวกาศหรือมีความต้องการนำเทคโนโลยีอวกาศไปต่อยอดในอุตสาหกรรมอื่น

ดร.พันธุ์อาจกล่าวว่า “อุตสาหกรรมอวกาศอาจจะดูเป็นเรื่องใหม่ในประเทศไทย แต่ความจริงแล้วอุตสาหกรรมนี้มีมูลค่าสูงถึงกว่า 50,000 ล้านบาท และมีความต้องการสูง ซึ่งเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับอวกาศไม่ได้มีแค่เฉพาะเรื่องของการส่งดาวเทียม หรือการส่งยานอวกาศเพียงเท่านั้น แต่ครอบคลุมในวงกว้างตั้งแต่ Upstream คือเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยยานอวกาศ Downstream การใช้ประโยชน์จากข้อมูลต่างๆ ที่ได้จากอวกาศ และเทคโนโลยีอื่นๆ เช่น การทำการวิจัยเรื่องต่างๆ ในอวกาศ การประหยัดพลังงานและเชื้อเพลิง วัสดุขั้นสูง (Advanced material) ฯลฯ นอกจากนั้น ยังสามารถต่อยอดนำเทคโนโลยีอวกาศไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นได้อีกด้วย”
กำลังโหลดความคิดเห็น