xs
xsm
sm
md
lg

น่าเศร้า! ไฟป่าโหมไหม้ทั้งวันทั้งคืน ผืนป่าเหนือเขื่อนภูมิพลวอดแล้วกว่า 50,000 ไร่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตาก - ประมาณการจากภาพถ่ายดาวเทียม ผืนป่าเหนือเขื่อนภูมิพล วอดแล้วกว่า 50,000 ไร่ หลังไฟป่ารอยต่อ 3 จังหวัดทั้งตาก-อมก๋อย เชียงใหม่-อช.แม่ปิง ลำพูน ลามไหม้ตั้งแต่ต้นเดือนมกราฯ จนถึงวันนี้ยังเอาไม่อยู่


วันนี้ (6 มี.ค. 64) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ไฟป่าที่ลุกไหม้ผืนป่าเหนืออ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล มาตั้งแต่เดือนมกราคม ก่อนลามขยายวงกว้างจนทั่วผืนป่าครอบคลุมพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น จ.ตาก, เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย จ.เชียงใหม่ และอุทยานแห่งชาติแม่ปิง จ.ลำพูน ยังคงทวีความรุนแรงต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริเวณผืนป่ารอบเขื่อนภูมิพล ยังคงถูกไฟป่าโหมไหม้ต่อเนื่อง 2 วัน 2 คืนแล้ว สามารถมองเห็นเปลวเพลิงที่โหมไหม้อยู่บนภูเขาล้อมรอบเขื่อนอย่างน่ากลัว หมอกควันพิษจากไฟป่าลอยฟุ้งกระจายตลบอบอวน เนื่องจากพื้นที่เกิดเหตุอยู่ในหุบเขาเป็นแอ่งกระทะ

ขณะที่นายอรรณพ โหรวิชิต นายช่างระดับ 11 หัวหน้าชุดเสือดำดับไฟป่าเขื่อนภูมิพล ต้องนำทีมเสือดำดับไฟป่าเขื่อนภูมิพล 16 คน และชาวบ้านจิตอาสาเดินเท้าเข้าสกัดไฟป่าบริเวณพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำปิง ตลอดคืนจนถึงขณะนี้ก็ยังเอาไม่อยู่

ด้านนายก้องกิตติพัศ พิชัยณรงค์ หัวหน้าฝ่ายควบคุมไฟป่า หัวหน้าหน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้สามเงา หัวหน้าชุดเหยี่ยวไฟตากก็จะประสานขอกำลังเหยี่ยวไฟจากภาคอีสาน จำนวน 30 นาย เข้ามาทบทบกับทีมเหยี่ยวไฟตาก เพื่อเข้าสนับสนุนการดับไฟป่าที่เกิดขึ้นในผืนป่าเขื่อนภูมิพลในวันนี้


นางกานดาศรี ลิมปาคม รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า เปิดเผยว่า จากข้อมูลภาพจากดาวเทียมที่สรุปและวิเคราะห์เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2564 พบร่องรอยความเสียหายจากไฟป่าเหนืออ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลเป็นบริเวณกว้าง โดยประมาณการณ์จากภาพถ่ายดาวเทียมคาดว่ามีผืนป่าเสียหายประมาณ 52,200 ไร่

โดยหลายพื้นที่ยังคงมีเปลวไฟลุกไหม้อยู่ และมีแนวโน้มที่จะขยายลงไปทางตอนล่างของจุดตรวจสันเขื่อน สอดคล้องกับการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงการเกิดไฟป่าด้วยแบบจำลองระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ ของวันที่ 1-7 มีนาคม 2564 ที่แสดงให้เห็นถึงพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่าสูงหลายพื้นที่โดยเฉพาะบริเวณรอบเขื่อนภูมิพล ได้อย่างชัดเจน

ล่าสุดสำนักงานพัฒนาอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) GISTDA โดยดาวเทียม Suomi NPP ระบบ VIIRS ตรวจพบจุดความร้อนที่เกิดขึ้นในพื้นที่ จ.ตาก จำนวน 111 จุด (เมื่อ 5 มี.ค.พบ 79 จุด) อยู่ในเขต อ.สามเงา จ.ตาก จำนวน 69 จุด อ.แม่สอด 18 จุด อ.เมืองตาก 8 จุด อ.แม่ระมาด 6 จุด อ.อุ้มผาง 5 จุด อ.ท่าสองยาง 4 จุด อ.พบพระ 1 จุด อ.บ้านตาก 1 จุด ซึ่งไฟป่าที่เกิดขึ้นนั้นอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และป่าสงวนแห่งชาติ 105 จุดอยู่ในพื้นที่เกษตร, ชุมชนและอื่นๆ 6 จุด






กำลังโหลดความคิดเห็น