xs
xsm
sm
md
lg

รู้หรือไม่ ช่วงโควิดจังหวัดไหนติด 10 อันดับที่มีคนยากจนเพิ่มมากที่สุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ดร.ไกรยศ ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) กล่าวถึงผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อจำนวนนักเรียนยากจนพิเศษที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของ กสศ.ในปีการศึกษา 2/2563 เพิ่มขึ้นกว่า 18% เมื่อเทียบกับปีการศึกษาที่ 1/2563 โดยมีนักเรียนยากจนพิเศษที่คัดกรองใหม่เข้ามาจำนวน 195,558 คน

 สำหรับจังหวัดที่พบว่ามีนักเรียนยากจนพิเศษ 10 อันดับ ดังนี้ จังหวัดอุบลราชธานี 6.0% ศรีสะเกษ 5.3% นราธิวาส 4.5% บุรีรัมย์ 4.2% สกลนคร 4.1% ร้อยเอ็ด 4.0% สุรินทร์ 3.5% กาฬสินธุ์ 3.4% ขอนแก่น 3.3% ปัตตานี 3.2% ซึ่งถ้าพิจารณาเด็กยากจนพิเศษในครั้งนี้ ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดมาจากแรงงานภาคอีสานเกือบ 80% ที่เหลือมาจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่ารายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนของเด็กยากจนพิเศษในปีการศึกษา 2/2563 อยู่ที่เดือนละ 1,021 บาท หรือประมาณวันละ 34 บาท ลดลงจากปีการศึกษา 1/2563 อยู่ที่เดือนละ 1,077 บาท แหล่งที่มาของรายได้มาจากเงินเดือน และค่าจ้าง สวัสดิการจากรัฐ และการเกษตร

นางสาวธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์
นางสาวธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมและทุนการศึกษา กล่าวว่า จากการสำรวจผลกระทบจากโควิดทำให้มีพ่อแม่เด็กยากจนพิเศษรายได้ลดลง 56.7% ถูกเลิกจ้าง 9.8% และพักงานชั่วคราว 7.5% โดยการช่วยเหลือของ กสศ.มุ่งเป้าไปที่การช่วยเหลือเด็กอย่างเดียวไม่ได้ ต้องเข้าไปช่วยเหลือสร้างงาน สร้างอาชีพให้แก่กลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครองด้วย เพื่อจะได้ไม่ดึงเด็กออกนอกระบบการศึกษา เพราะเชื่อมั่นว่าการศึกษาช่วยแก้ปัญหาความยากจนได้ในอนาคต อีก 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะก้าวข้ามกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลางได้

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีโครงการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยอยู่หลายโครงการ และเราก็เข้าไปร่วมกับโครงการเหล่านั้น โดยเรามีฐานข้อมูลจากที่ได้จากการสำรวจเด็กยากจนพิเศษในแต่ละปี ที่ผ่านมา กสศ.ได้เข้าร่วมโครงการกองทุนพัฒนาอาชีพ และนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน โดยมีตัวอย่างกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่มีกลุ่มผู้ปกครองของนักเรียนที่ได้ทุนเสมอภาค เช่น กลุ่มเกษตรกรอินทรีย์ ต.หนองสนิท จ.สุรินทร์ ที่ทาง อบต.ลงไปเก็บข้อมูล ดูต้นทุนในพื้นที่และยกระดับอาชีพ พบว่าการเกษตรที่ใช้สารเคมีเริ่มไม่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค ชวนเขามาทำเกษตรอินทรีย์ ผ่านไป 6 เดือนเขาสามารถขายในท็อปส์ซูเปอร์มาร์เก็ต ช่วยเพิ่มรายได้ 5,000 บาทต่อเดือน

ด้าน นางอานันต์ศรี แก้วเลิศตระกูล ผู้รับผิดชอบโครงการวิสาหกิจชุมชนสินค้าแม่แดดน้อย จ.เชียงใหม่ ระบุว่า ปี 2563 มีกลุ่มเป้าหมาย 150 คน โดยในจำนวนนี้เชื่อมโยงกับกลุ่มนักเรียนทุนเสมอภาค 10 คน ซึ่งปัญหาในพื้นที่ที่ผ่านมาคือพบการฆ่าตัวตายของพ่อบ้านหลายรายต่อเนื่อง ส่งผลให้แม่บ้านกลายเป็นโรคซึมเศร้า ส่วนเด็กๆ กลายเป็นเด็กก้าวร้าว เกเร ไม่เรียนหนังสือ ไม่มีความสุขในการเรียน

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีโครงการนี้เกิดขึ้น แม่บ้านที่เคยเก็บตัวอยู่บ้าน ไม่มีงานไม่มีรายได้ ไม่มีใครพูดคุย ก็ได้เข้ามาฝึกทักษะอาชีพ มีงานมีรายได้ที่กลับมาเป็นค่าใช้จ่ายจุนเจือครอบครัว และมีเงินให้ลูกๆ ไปโรงเรียน แต่สิ่งที่มากกว่ารายได้คือเรื่องของการดึงแม่บ้านให้เข้ามาพบปะพูดคุย ได้ระบายความรู้สึก เกิดการให้คำปรึกษา ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ทำให้สภาพจิตใจของแม่บ้านดีขึ้น จนจำนวนคนที่มีภาวะซึมเศร้าและอัตราการฆ่าตัวตายลดลง สุดท้ายทั้ง “รายได้” และ “สภาพจิตใจ” ที่ดีขึ้น ทำให้เด็กๆ ได้กลับมาเรียนสม่ำเสมอ และเรียนอย่างมีความสุข

นางอานันต์ศรีกล่าวว่า โครงการฝึกทักษะอาชีพจะยึดโยงชุมชน ทั้งเรื่องการทอผ้าปกาเกอะญอ ทอผ้ากี่เอวที่สามารถนำงานกลับไปทำที่บ้านได้สำหรับคนที่มีภาระต้องดูแลลูก และผ้าทอกี่ใหญ่ที่ต้องมาฝึกอบรมกันทั้งทฤษฎีและปฏิบัติประมาณ 2 สัปดาห์ และใช้เวลาเป็นเดือนกว่าจะทอได้แต่ละผืน ทั้งหมดเป็นการเชื่อมโยงวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ชุมชน จนเกิดเป็นแบรนด์ “เดปอถู่” หรือป่าสายสะดือที่เชื่อมโยงคนในชุมชนเข้าด้วยกัน


ตูแลคอลีเย๊าะ กาแบ วิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรบ้านราบอ จังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ที่ผ่านมาโครงการทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน เน้นการดูแลกลุ่มเป้าหมายหลักคือแม่บ้านที่ว่างงานและขาดรายได้ ดังนั้นในช่วงปี 2564 โครงการฯ จึงมีการวางแผนดูแลครอบครัวที่มีเด็กๆ ในกลุ่มทุนเสมอภาคของ กสศ.ควบคู่ไปด้วย โดยดูแลปัญหาของแต่ละครอบครัวเป็นรายกรณี

สำหรับขั้นตอนการทำงานกับกลุ่มเป้าหมายของวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรบ้านราบอที่เชื่อมโยงผลลัพธ์ถึงนักเรียนทุนเสมอภาค จะมีขั้นตอนตั้งแต่ 1. ค้นหากลุ่มเป้าหมายในโครงการที่มีบุตรหลานมีความเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษาเนื่องจากปัญหาความยากจน 2. เก็บข้อมูลทั้งในรูปแบบครัวเรือน และรายบุคคลแยกปัญหาของผู้ปกครองและเด็กออกจากกัน 3. ให้กลุ่มผู้ปกครองรับการอบรมเพื่อเข้าร่วมโครงการฯ โดยเฉพาะการศึกษาความต้องการเครื่องแกงของผู้บริโภคเนื่องจากโครงการฯ เน้นผู้บริโภคหลักเป็นคนในชุมชน เรียนรู้สูตรเครื่องแกงในท้องถิ่น ได้ทดลองทำเครื่องแกง ศึกษาช่องทางการตลาด รวมถึงสนับสนุนให้ทุกบ้านปลูกข่า ตะไคร้ เพื่อเป็นต้นทุนในการผลิตเครื่องแกง

และ 4. ทีมวิสาหกิจตั้งตัวแทนเข้ามาเป็นที่ปรึกษาเรื่องการศึกษาของนักเรียนทุนเสมอภาค เน้นย้ำให้ผู้ปกครองตระหนักถึงความสำคัญของการเรียน ทั้งยังทำหน้าที่ประสานระหว่างเด็กกับโรงเรียนแทนผู้ปกครองในกรณีจำเป็น 5. ผลจากการมีอาชีพและรายได้ ไปจนถึงการมีที่ปรึกษาด้านการเรียน ทำให้ผู้ปกครองมีเวลาให้บุตรหลานมากขึ้น เด็กๆ มีความพร้อมในการเรียนมากขึ้น ความเสี่ยงจากการหลุดจากระบบการศึกษาจึงลดลง


กำลังโหลดความคิดเห็น