xs
xsm
sm
md
lg

“เนคเทค” ขับเคลื่อนสมาร์ทฟาร์ม ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทยด้วยเทคโนโลยี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ความหวังใหม่เกษตรกรกับการเป็นสมาร์ทฟาร์ม โดยเนคเทค ที่มุ่งเน้นงานวิจัยและพัฒนาเครื่องมือในการสร้างฟาร์มที่ได้มาตรฐานและคำนึงถึงผู้ใช้งานให้ได้รับประโยชน์อย่างสูงสุด พร้อมทั้งเน้นในเรื่องเทคโนโลยีเซนเซอร์ร่วมกับ IoT และ AI เข้ามาช่วยในกระบวนการต่างๆ



ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช. กล่าวถึงผลงานด้าน Smart Farm ว่า เนคเทค สวทช. มุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาเครื่องมือ เพื่อใช้เดินหน้าขับเคลื่อน Smart Farm สู่สังคมไทย สร้างระบบนิเวศด้านเทคโนโลยีเพื่อการเกษตร สนับสนุนการเกษตรสมัยใหม่ นำเทคโนโลยีเซนเซอร์ร่วมกับ IoT และ AI เข้ามาช่วยในกระบวนการเพาะปลูก


ช่วยให้เกษตรกรสามารถควบคุมสภาวะแวดล้อมในการปลูกตั้งแต่ต้น ส่งผลต่อการควบคุมคุณภาพและประเมินปริมาณผลผลิต อาทิ ระบบอัจฉริยะเพื่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจ ( AQUA GROW) ระบบแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) ระบบแนะนำสำรับอาหารกลางวันสำหรับโรงเรียนแบบอัตโนมัติ (Thai School Lunch)




ภายในแนวคิด Farm to School ระบบเกษตรแม่นยำฟาร์มอัจฉริยะแบบพอเพียง (HandySense) และระบบจัดการแปลงเพาะปลูกขนาดใหญ่ (WiMaRC) ซึ่งทั้งหมดเน้นให้เกิดประโยชน์กับคนไทยในทุกระดับ มีผลสำเร็จที่เกิด เช่น Agri-Map มีผู้เข้ามาสืบค้นข้อมูลกว่า 43 ล้านครั้ง สามารถทำโมเดลทำนายผลผลิตและค่าความหวานของอ้อยโดยได้ค่าความถูกต้องถึงร้อยละ 90 Thai School Lunch มีผู้ใช้งานทั่วประเทศถึง 58,046 บัญชี ครอบคลุมโรงเรียนที่ต้องจัดหาและปรุงอาหารกลางวันให้กับเด็กนักเรียนได้ทั่วประเทศ


“ปัจจุบันการทำเกษตรกรรมแบบปลอดภัยนั้น ถือเป็นการปลูกพืชที่ใช้กระบวนการทางธรรมชาติในการเพาะปลูกทำให้เกิดความปลอดภัยไม่มีสารพิษตกค้าง ผลผลิตที่ได้จากการเพาะปลูกพืชที่ตรงตามมาตรฐาน ส่งผลให้มีราคาสูง ดังนั้นการควบคุมคุณภาพและปริมาณการผลิตได้อย่างแม่นยำจึงเป็นสิ่งจำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อการทำเกษตรกรรม ดังนั้นจึงมีการนำเทคโนโลยีเซ็นเซอร์เข้ามาช่วยในกระบวนการเพาะปลูก เพราะช่วยให้เกษตรกรสามารถควบคุมสภาวะแวดล้อมในการปลูกตั้งแต่ต้นส่งผลให้ควบคุมคุณภาพและประเมินปริมาณผลผลิตได้ ด้วยระบบเกษตรแม่นยำฟาร์มอัจฉริยะแบบพอเพียง (HandySense) ที่สามารถติดตั้งระบบได้ง่ายและเรียกดูข้อมูลได้ทุกที่ผ่านอินเตอร์เน็ต เกษตรกรผู้ใช้งานสามารถเลือกความเหมาะสมต่อการเพาะปลูกตามชนิดของพืช ทั้งยังสามารถแสดงข้อมูลย้อนหลัง ในรูปแบบกราฟและสามารถเรียกดูข้อมูลย้อนหลังได้นานถึง 1 ปี”


โดยในอนาคตจะพัฒนาให้มี AI มาช่วยในการบริหารจัดการส่งผลผลิตด้านการเกษตรที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหารป้อนเข้าสู่โรงเรียน เป็นต้น ด้านเทคโนโลยีแห่งอนาคต ทีมนักวิจัยเนคเทค-สวทช. มุ่งวิจัยใช้เทคโนโลยีเทระเฮิรตซ์มาช่วยการตรวจสอบและควบคุมคุณภาพอาหารอีกด้วย

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

* * *คลิก Likeเพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ"รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น