“ข้าวเหนียว” ถือเป็นอีกหนึ่งพืชเศรษฐกิจของประเทศไทย ด้วยการเป็นอาหารหลักและสามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้หลากหลาย จึงทำให้ข้าวเหนียวเป็นหนึ่งในผลผลิตทางการเกษตรที่ตลาดมีความต้องการอย่างมาก แต่ด้วยปัจจุบันสภาพลมฟ้าอากาศที่แปรปรวน ทำให้ผลผลิตข้าวเหนียวในแต่ละปีไม่คงที่ อีกทั้งราคาในปัจจุบันก็ขึ้นลงตามปัจจัยต่างๆ ทำให้เกษตรกรที่ปลูกข้าวเหนียวเป็นหลักต้องขาดรายได้ และมีต้นทุนสูงในการบำรุง ด้วยเหตุนี้ทาง ไบโอเทค สวทช. จึงได้มีการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ข้าวเหนียวที่มีความอดทนต่อสภาพอากาศในชื่อ “หอมนาคา” โดยเป็นข้าวเหนียวที่ได้รับสมญานามว่า “ข้าวเหนียวสะเทือนน้ำสะเทือนบก” ที่สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปีและให้ผลผลิตสูง เป็นความหวังใหม่แก่ชาวนาในยุคที่สภาพอากาศแปรปรวน
นายศรีสวัสดิ์ ขันทอง ผู้ช่วยนักวิจัย ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้เล่าถึงงานวิจัย “ข้าวเหนียวหอมนาคา” ว่า ด้วยสภาวะโลกร้อนที่เป็นสาเหตุทำให้สภาพลมฟ้าอากาศเกิดการแปรปรวน จึงทำให้บางปีเกิดสภาพแห้งแล้ง หรือบางปีเกิดฝนตกหนักน้ำท่วม ทำให้ชาวนาที่ปลูกข้าวต้องประสบกับปัญหาขาดทุน เพราะไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตามที่ต้องการ เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวน ทาง ไบโอเทค สวทช. จึงได้อยากมีส่วนช่วยเหลือชาวนาในเรื่องนี้ และได้มีการวิจัยพัฒนาพันธุ์ข้าวที่มีความพิเศษในการทนต่อสภาพแวดล้อมที่แปรปรวน ทนโรคและให้ผลผลิตสูง โดยสายพันธุ์ข้าวที่ได้พัฒนาขึ้นนี้มีชื่อว่า “หอมนาคา” ซึ่งเป็นคำของภาษาเหนือที่แปลว่า “หอม” คือข้าวที่มีกลิ่นหอม “นา” คือปลูกในนา และ “คา” คือสามารถปลูกบนโคกหรือที่ดอนได้ อีกทั้งชื่อยังมีคำพ้องกับภาษาอีสานคือ “นาคา” ที่แปลว่างู ทำให้เหนียวพันธุ์นี้มีทั้งคุณสมบัติที่ดีและชื่อที่ดี
ข้าวเหนียวหอมนาคามีลักษณะเด่นคือ ลำต้นเตี้ยแข็งแรง ไม่หักล้มง่าย ทำให้เก็บเกี่ยวได้ง่ายขึ้น ช่วยลดค่าแรงคนในการเก็บเกี่ยว และยังสามารถทนต่อโรคข้าวชนิดต่างๆ ได้อย่างดี เช่น โรคไหม้และขอบใบแห้ง ซึ่งเป็นโรคข้าวสำคัญที่เกิดขึ้นได้บ่อยของประเทศไทย หากข้าวทนต่อสองโรคนี้ได้แล้ว ก็จะสามารถให้ผลผลิตได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และในการนำมารับประทานนั้น ก็มีความนุ่มหอมและนุ่มนานไม่ต่างจากข้าวเหนียวสายพันธุ์ดีอื่นๆ สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี ซึ่งต่างจากข้าวเหนียวชนิดอื่นๆ ที่ปลูกได้แค่ปีละครั้ง อีกทั้งยังมีคุณลักษณะเด่นคือ ทนทานต่อสภาพดินฟ้าอากาศที่แปรปรวนทั้งภัยแล้งและน้ำท่วมฉับพลัน คือสามารถทนแล้งได้นาน และสามารถจมอยู่ในน้ำได้ 1 – 2 สัปดาห์ ทำให้ไม่ต้องกังวลกับเรื่องสภาพอากาศ หากปลูกข้าวเหนียวพันธุ์นี้
ปัจจุบันทางไบโอเทค ได้มีการนำข้าวเหนียวพันธุ์หอมนาคาไปให้ชาวนาได้ทนลองปลูกยังพื้นที่ทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่หลักในการปลูกข้างเหนียวของประเทศไทย และได้รับคำตอบรับเป็นอย่างดี เนื่องจากข้าวเหนียวหอมนาคาสามารถปลูกได้ทั้งนาปีและนาปรัง มีระยะเวลาในการปลูกประมาณ 130 – 140 วัน และให้ผลผลิตสูง โดยผลจากการสำรวจพบว่า ในพื้นที่ภาคเหนือมีผลผลิต 800 – 900 กิโลกรัมต่อไร่ และภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สูงถึง 700 – 800 กิโลกรัมต่อไร่ จึงทำให้สามารถขายข้าวได้อย่างเต็มที่คุ้มกับการลงทุน
ทั้งนี้ การที่ข้าวเหนียวหอมนาคาสามารถปลูกได้ตลอดปีและให้ผลผลิตที่สูง จึงทำให้ชาวนาสามารถนำผลผลิตข้าวเหนียวมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อสร้างรายได้ได้อีก อาทิ กลุ่มพัฒนาชุมชนคนอินทรีย์แม่ทะ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง ที่ได้มีการนำข้าวเหนียวมาทำเป็น “ข้าวหลามหอมนาคา” ด้วยคุณสมบัติของเมล็ดข้าวที่เหนียวนุ่มหอมไม่เป็นรองพันธุ์อื่นๆ อีกทั้งชื่อ “หอมนาคา” ที่ดูไพเราะก็ยังสามารถสร้างเอกลักษณ์ให้กับผลิตภัณฑ์ข้าวหลามได้อีก ทำให้ข้าวหลามได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากลูกค้าที่ได้ซื้อไปลองลิ้มชิมรส และชาวนาบางกลุ่มก็ยังได้มีการแปรรูปเป็น “ข้าวสารบรรจุถุง” ซึ่งปัจจุบันขายอยู่ที่ราคา 35 บาทต่อกิโลกรัม
“ข้าวเหนียวหอมนาคา” จึงถือได้ว่าเป็นความหวังใหม่ของเหล่าชาวนา ด้วยคุณสมบัติเด่นต่างๆ ทั้ง ทนโรค ทนน้ำท่วม ทนภัยแล้ง ให้ผลผลิตดีปลูกได้ทั้งปี ทำให้ขายและแปรรูปผลผลิตข้าวเหนียวได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ อีกทั้งลำต้นข้าวที่แข็งแรง ไม่หักล้มง่าย ขนาดต้นสูงปานกลาง ทำให้เก็บเกี่ยวได้ง่าย จึงสอดรับกับการทำนาสมัยใหม่ ที่มีแนวโน้มในการใช้เครื่องจักรเข้ามาช่วยในการเก็บเกี่ยวในอนาคตอีกด้วย
* *คลิกLikeเพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า"SMEsผู้จัดการ"รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด * * *
SMEs manager