Envi Mask หน้ากากนวัตกรรมป้องกันโควิด-19 และฝุ่น PM.2.5 ผลงานของ ดร.ว่าน วิริยา ผู้ช่วยหัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พัฒนาและผลิตหน้ากากนวัตกรรมนาโนป้องกันโควิด-19 และฝุ่น PM2.5 สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนทั่วไป โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
ทั้งนี้ ก่อนจะพัฒนาหน้ากากให้มีคุณสมบัติดังกล่าว นักวิจัยได้พัฒนาหน้ากากสำหรับป้องกันมลภาวะทางอากาศอยู่ก่อนแล้ว โดยได้รู้จักกับเพื่อนชาวไต้หวัน ที่ทำงานด้านการป้องกันมลภาวะทางอากาศในไต้หวันและเพื่อนชาวเกาหลีใต้ที่ผลิตแผ่นกรองนาโน (nano filter) ให้แก่บริษัทเอกชนรายใหญ่ระดับโลก
เมื่อประเทศไทยเกิดปัญหาขาดแคลนหน้ากากสำหรับป้องกันฝุ่น PM2.5 ดร.ว่าน จึงนำแผ่นกรองนาโนจากไต้หวันและเกาหลีใต้มาผลิตเป็นไส้กรองสำหรับหน้ากากผ้า และยังเป็นวิทยากรให้แก่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และโรงพยาบาลต่าง ๆ ในเรื่องการผลิตหน้ากากป้องกันฝุ่นขนาดเล็ก และได้ให้ชุมชนใช้แผ่นกรองนาโนมาเย็บเป็นหน้ากาก
จนกระทั่งเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) และหน้ากากอนามัยขาดตลาด จึงได้ทำการผลิตหน้ากากที่ใช้แผ่นกรองนาโนสำหรับป้องกันฝุ่นและป้องกันโควิด-19 ดังกล่าวขึ้นมาจำหน่าย
สำหรับ หน้ากากนวัตกรรมนาโนป้องกันโควิด-19 และฝุ่น PM2.5 เป็นหน้ากากแบบ non-woven ซึ่ง ดร.ว่าน ได้อธิบายว่า มีหน้ากากแบบ woven ที่เกิดจากการทอแบบมีเส้นหลักและเส้นขวาง และแบบ non-woven ที่เกิดจากฉีดเส้นใยเหมือนขนาดสายไหมแล้วบีบอัดเป็นแผ่น ซึ่งสามารถกรองฝุ่นและเชื้อโรคด้วยไฟฟ้าสถิต จึงไม่สามารถซักล้างได้ โดยหน้ากากนวัตกรรมนาโนแบบ non-wovenนี้ พัฒนาขึ้นมาด้วยวิธีการฉีดเป็นเส้นนาโนเล็กๆ ยิ่งเล็ก ยิ่งกรองฝุ่นขนาดเล็กได้มาก โดยกรองฝุ่นและเชื้อโรคด้วยการปะทะให้ติดตรงเส้นใย จึงเป็นหน้ากากที่ล้างทำความสะอาดได้ โดยทำการผลิตหน้ากากอนามัยดังกล่าวให้กับวงการแพทย์ได้นำไปใช้ทดแทนหน้ากาก N95 ที่ขาดตลาด
ดร.ว่าน กล่าวว่า หน้ากากอนามัยดังกล่าว ได้ทำการผลิตให้กับวงการแพทย์ได้นำไปใช้ทดแทนหน้ากาก N95 ที่ขาดตลาด โดยหน้ากากที่นำมาจำหน่าย และมอบให้วงการแพทย์ในครั้งนี้ ได้สร้างงานสร้างอาชีพให้กับชาวบ้านในชุมชน โดยใช้แรงงานในชุมชนทำการเย็บให้ แทนการไปจ้างโรงงานผลิต โดยหน้ากากที่ชาวบ้านผลิตเป็นหน้ากากผ้าที่มีช่องให้สามารถใส่แผ่นกรองได้ นักวิจัยจะผลิตไส้กรองนาโนในรูปแบบ 3D filter ที่สามารถสอดเข้าไปในหน้ากาก โดยไม่เกิดช่องว่าง และแนวทางในการพัฒนาต่อไป คือการปรับปรุงระบบเย็บ
อย่างไรก็ตาม ในอนาคตจะเปลี่ยนจากการเย็บด้วยฝีเข็ม เป็นการเย็บด้วยแรงสั่นสะเทือน โดยใช้เครื่องจักรสั่นสะเทือนที่ทำให้เกิดความร้อน ซึ่งดีกว่าการเย็บด้วยเข็ม เพราะเป็นการเย็บแบบหนีบ ไม่ทำให้เกิดรูตรงรอยเย็บ
ทั้งนี้ในส่วนของแผ่นกรองนาโน ทาง ดร.ว่าน ได้รับความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ พัฒนาแผ่นกรองนาโนขึ้นใช้เอง ซึ่งมีคุณสมบัติในการกรองฝุ่นระดับเดียวกับหน้ากาก N95 โดยแผ่นกรองนาโนจากไต้หวันสามารถกรองอนุภาคขนาด 0.075 ไมครอน มีประสิทธิภาพป้องกันได้ 99% ส่วนแผ่นกรองที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือพัฒนาขึ้นสามารถกรองอนุภาคขนาด 0.5 ไมครอน มีประสิทธิภาพป้องกันได้ 96.5% สามารถป้องกันได้ทั้งโควิด-19 และ PM2.5
สนใจ ติดต่อ Envi Mask
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *
SMEs manager