มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) ศูนย์วิจัยการจัดการความรู้การสื่อสารและการพัฒนา (CCDKM) มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) และ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดกิจกรรมเวทีสร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วมให้เยาวชน (การสร้างแรงบันดาลใจ) ภายใต้โครงการพัฒนาสมรรถนะของเยาวชนในสถานพินิจตามมาตรฐานอาชีพด้าน e-Commerce เมื่อวันที่ 11 – 13 พฤศจิกายน 2563
ที่ผ่านมานั้น เพื่อสร้างความเข้าใจภาพรวมการดำเนินโครงการพัฒนาสมรรถนะของเยาวชนในสถานพินิจตามมาตรฐานอาชีพด้าน e-Commerce ให้กับ เยาวชน และครูที่เข้าร่วมโครงการ สร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนในการเห็นคุณค่าของตนเอง และเห็นประโยชน์ของการเข้าร่วมโครงการ และ ติดตั้งองค์ความรู้เรื่องการออกแบบกระบวนการเพื่อสร้างทักษะแรงงานในศตวรรษที่ 21 ให้กับ เยาวชน และครู ที่เข้าร่วมกิจกรรม
ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการ สวทช./รองเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี กล่าวว่า การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เพื่อพัฒนาเยาวชนให้มีความรู้เกี่ยวกับการทำธุรกิจออนไลน์ สามารถประยุกต์ใช้ไอซีทีเพื่อช่วยสร้างรายได้ โดยจัดอบรมหลักสูตรระยะสั้นด้านธุรกิจออนไลน์ให้แก่เยาวชน เปิดโอกาสให้เยาวชนได้ใช้ความรู้จากการอบรมในการขยายตลาดสินค้า/ผลิตภัณฑ์ที่ปกติจะเน้นการขายที่ร้านค้า ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน แต่ละแห่งไปยังตลาดออนไลน์ โดยงานที่เยาวชนสามารถช่วยได้เป็นงานที่เยาวชนสามารถดำเนินการในรูปแบบออฟไลน์ที่ไม่ขัดต่อกฎหมายและกฎระเบียบของศูนย์ฝึกฯ เช่น การออกแบบหน้าร้าน การเขียนเรื่องเล่าผลิตภัณฑ์ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ การถ่ายภาพสินค้า ฯลฯ นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้เยาวชนได้ทดสอบสมรรถนะตามมาตรฐานอาชีพหลักสูตรด้านธุรกิจออนไลน์ผ่านสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) และได้รับใบประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ
ในปี 2563 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้เห็นถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินงานโครงการดังกล่าว จึงได้สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานตลอดหนึ่งปี โดยกิจกรรมแรกที่จัดขึ้นคือ กิจกรรมเวทีสร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วมให้เยาวชน (การสร้างแรงบันดาลใจ) มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการการดำเนินงานโครงการ และสร้างความเชื่อมั่นในตนเอง การเห็นคุณค่าและศักยภาพที่มีในตนเองของเยาวชน ตลอดจนสร้างช่องทางประกอบอาชีพและการสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้แก่เยาวชนเมื่อพ้นโทษ
ทั้งนี้ กิจกรมดังกล่าวได้รับความสนใจจากครูและเยาวชน ที่ร่วมสมัครมาทั้งสิ้น 96 คน จากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนจำนวน 8 แห่ง ได้แก่ ศูนย์ฝึกฯ บ้านกรุณา จ.สมุทรปราการ ศูนย์ฝึกฯ บ้านปรานี จ.นครปฐม ศูนย์ฝึกฯ เขต ๑ จ.ระยอง ศูนย์ฝึกฯ เขต ๒ จ.ราชบุรี ศูนย์ฝึกฯ เขต ๖ จ.นครสวรรค์ ศูนย์ฝึกฯ เขต ๙ จ.สงขลา และ ศูนย์ฝึกฯ บ้านอุเบกขาและศูนย์ฝึกฯ บ้านบึง
* * *คลิก Likeเพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ"รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุดและร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *
SMEs manager