ฟาร์มโตะ FARM TO สตาร์ทอัปด้านการเกษตร ที่เชื่อมโยงเกษตรกรกับผู้บริโภคให้ได้มาเจอกัน ผ่านแพลตฟอร์มทางออนไลน์ ด้วยมิติใหม่ด้านการตลาดของการเกษตรในยุค 4.0 ด้วยการร่วมปลูก และร่วมเป็นเจ้าของ สร้างประสบการณ์การซื้อพืชผลการเกษตร ตั้งแต่วันแรกตกลงซื้อ จนสามารถเก็บผลผลิตได้
ที่มาของฟาร์มโตะ สตาร์ทอัปด้านการเกษตร
นายโอฬาร ธีระสถิย์ชัย หนึ่งใน Co-founder ฟาร์มโตะ เล่าถึงที่มาของ ฟาร์มโตะ คือมาร์เก็ตเพลสด้านการเกษตร เกิดจากการรวมตัวของ Co-founder 5 คน ซึ่งเป็นเกษตรกร และผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีไอที ส่วนที่มาของของการมาทำฟาร์มโตะในครั้งนี้ เกิดขึ้นมาจาก เรามองเห็นปัญหาของการขายสินค้าการเกษตร เพราะเมื่อผลผลิตออกมาแล้วเราไม่รู้ว่าจะไปขายที่ไหน และถ้าเราเลือกขายที่ตลาดก็จะได้ราคาตลาด ทั้งที่สินค้าของเราเป็นสินค้าเกรดพรีเมี่ยม ด้วยเหตุนี้ หนึ่งในหุ้นส่วนของเรา ก็เลยตัดสินใจมาทำตัวแอปพลิเคชั่น ฟาร์มโตะนี้ขึ้นมา
หลังจากเปิดแพลตฟอร์มของฟาร์มโตะช่วงนั้น ได้เข้าร่วมโครงการขอทุนสนับสนุน จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ NIA โดยได้งบลงทุนจำนวน 1 ล้านบาท มาใช้เพื่อทำแพลตฟอร์มฟาร์มโตะ ผ่านมาจนถึงปัจจุบันนี้ ผ่านมากว่า 2 ปี ซึ่งเราสามารถสร้างช่องทางใหม่ให้กับสินค้าเกษตร และสินค้าชุมชนผ่าน ตัวแอปพลิเคชั่น และสามารถเชื่อมระหว่าง ผู้ผลิต สินค้าชุมชนการเกษตร และและผู้บริโภค ที่เข้ามาซื้อชายแลกเปลี่ยนสินค้ากันผ่านแพลตฟอร์มของเรา
มิติใหม่ด้านการตลาด ของเกษตรกรยุค 4.0
สำหรับแพลตฟอร์มฟาร์มโตะ จะแตกต่างจากมาร์เก็ตเพลส รายอื่นๆ เพราะแพลตฟอร์มของเราเกษตรกร หรือ ผู้ขายจะสร้างสตอรี่เรื่องราว บอกไปยังผู้ซื้อ โดยถ้าเข้าไปในแอปพลิเคชั่นของฟาร์มโตะ จะมีเกษตรกรนำเสนอสินค้าเกษตรของเขาผ่านการสร้างสตอรี่ บอกไปยังผู้ซื้อ ส่วนหนึ่งต้องการจะแสดงให้เห็นว่า เราตั้งใจผลิต แต่ที่ผ่านมาพอมาถึงปลายทาง ผู้บริโภค ไม่ได้รับรู้ เลยว่า เราปลูกด้วยความตั้งใจแบบไหน ใส่ปุ๋ยอย่างไร เราลดน้ำแบบไหน แต่พอเราเปิดให้เกษตรกรใส่เรื่องราวต่างๆ ของฟาร์ม ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค หรือ ผู้ซื้อ เพราะเขาจะได้เห็นขั้นตอนการผลิต ว่า ใส่ปุ๋ยแบบไหน และผลิตออกมาอย่างไร ปลอดภัยต่อผู้บริโภคไหม
ทั้งนี้ จากการที่เปิดผู้ซื้อได้ร่วมเป็นเจ้าของ โดยผู้บริโภคก็สามารถเข้าไปดู และเลือกซื้อ หรือ จองผลผลิตได้ตั้งแต่วันแรกที่เกษตรกรปลูก และเขาก็จะได้ดูว่า วันนี้ผลผลิตที่เขาซื้อไว้ มีการดูแลอย่างไร เพราะเกษตรกรจะถ่ายคลิปและเล่าเรื่องราวต่างๆ ส่งเข้ามาในแพลตฟอร์ม และลูกค้าก็สามารถมาจอยกับทางฟาร์มได้ โดยผู้ซื้อสามารถเข้ามาเยี่ยมชมผลผลิตของตัวเองได้ที่ฟาร์ม ตลอดเวลา ซึ่งช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กับเกษตรกรได้อีกทางหนึ่งด้วย
นายอาทิตย์ จันทร์นนทชัย หนึ่งใน Co-founder ผู้ดูแลฟาร์มโตะ บอกว่า “ฟาร์มโตะเชื่อว่าการรับรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเพาะปลูกให้แก่กันจะทำให้คุณค่าผลผลิตที่ได้รับเพิ่มสูงขึ้น เพราะไม่ใช่แค่รสชาติที่อร่อยสดใหม่ แต่มันคือมิตรภาพที่ส่งผ่านจากหัวใจของเกษตรกรถึงมือผู้บริโภค เมื่อเราร่วมเป็นเจ้าของผลผลิตไปพร้อมเกษตรกร เราก็จะได้เฝ้าดูผลผลิตเติบโตไปพร้อมคนปลูกตัวจริง เพราะเกษตรกรจะส่งภาพผลผลิตจากฟาร์มมาให้ดูอย่างสม่ำเสมอ พร้อมกับมีป้ายชื่อผู้จองปักไว้ หลังจากนั้น เมื่อผลผลิตค่อยๆ เจริญเติบโตงอกงาม ในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งหลายคนอาจไม่เคยได้เห็นต้นข้าวเติบโตจนเป็นสีทอง หรือสตรอเบอรี่ตั้งแต่ลูกจิ๋วจนสุกเป็นสีแดงสดพร้อมกิน ก็จะได้เห็นไปพร้อมกับเกษตรกรผู้ปลูกผ่านระบบออนไลน์ชนิดเรียลไทม์ จึงช่วยให้ผลผลิตมีคุณค่าและน่าไว้วางใจเพิ่มขึ้นสำหรับผู้บริโภคด้วย”
“การเปิดให้ลูกค้าจองและร่วมเป็นเจ้าของ ที่ผ่านมา จะมีเกษตรกรที่เข้าร่วมไม่มาก เช่น สวนแคนตาลูป ฯลฯ ผมมองว่า การซื้อแคนตาลูปสักลูก คุณไปซื้อที่ไหนก็ได้ ไปซื้อที่ตลาด หรือไปห้างสรรพสินค้าและเข้าซุปเปอร์มาร์เก็ตก็ซื้อได้ แต่สิ่งที่คุณจะไม่สามารถหาซื้อได้ คือ ประสบการณ์เรื่องราว เราไม่ได้ขายสินค้า แต่เรามาขายประสบบการณ์ที่ไม่สามารถหาซื้อได้ทั่วไป ซึ่งตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ ที่ต้องการจะได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติ และส่งเสริมการท่องเที่ยวด้านการเกษตร”
นำผลิตภัณฑ์คุณภาพชุมชน มาแจ้งเกิดตลาดออนไลน์
นายโอฬาร กล่าวว่า นอกจากการให้เกษตรกรได้สร้างเรื่องเล่าแล้ว ทางฟาร์มโตะ เรายังทำงานร่วมกับชุมชน โดยลงพื้นที่ไปยังชุมชนที่มีสินค้าที่มีคุณภาพ แม้ว่าจะอยู่ในพื้นที่ห่างไกลเราก็ได้เข้าไปเพื่อที่จะไปเสาะแสวงหาสินค้าเกษตรคุณภาพดีมานำเสนอผู้ซื้อ และหน้าที่ของเรา คือ การทำให้คนเหล่านั้นได้มาเจอกัน เช่น พื้นที่ชุมชนแม่ฮ่องสอน เป็นชุมชน ติดท็อป 5 ของโลก ว่ามีอากาศที่ดีที่สุด และมีสินค้าชุมชนดีดี หลายอย่าง เช่น น้ำผึ้งป่า เป็นน้ำผึ้งป่าที่มาจากธรรมชาติ แต่เป็นน้ำผึ้งกลิ่นวนิลาที่มาจากธรรมชาติ เพราะชาวบ้านทำเป็นโพรงให้ผึ้งมาอยู่และใส่วนิลาเข้าไปให้ผึ้งได้กิน น้ำผึ้งที่ได้ก็เลยเป็นน้ำผึ้งวานิลา ที่มาจากธรรมชาติ แห่งแรกของประเทศไทย และด้วยประเทศไทยมีป่าเบญจพรรณอยู่เป็นจำนวนมาก น้ำผึ้งที่ได้ จากป่าเบญจพรรณ จึงมาจากเกสรของดอกไม้ชนิดต่างๆ น้ำผึ้งที่ได้จึงมีหลายกลิ่น หลายรสชาติไม่เหมือนกัน
ทั้งนี้ จากเดิมชาวบ้านจะขายผลผลิตที่หาได้จากธรรมชาติ อยู่ในท้องถิ่น เขาไม่สามารถส่งไปขายในกรุงเทพฯได้ และพอเราเข้าไป เราสามารถนำสินค้าดีเหล่านั้น ออกมาให้คนเมืองได้ซื้อหา และชาวบ้านหรือชุมชนก็สามารถขายสินค้าได้ เรียกว่าเราไปเอาของที่อยู่ในเหลือบออกมาให้คนทั่วไปได้รู้จัก ไม่ใช่แค่น้ำผึ้ง ในชุมชนแม่ฮ่องสอนจะมีสินค้าอีกมากมายทั้งสินค้าอุปโภค และบริโภค ที่เกิดมาจากธรรมชาติ ที่เตรียมจะนำเสนอต่อบริโภคในเมือง
จุดขายของฟาร์มโตะ สินค้าทุกตัวเน้นคุณภาพ
สำหรับฟาร์มโตะของเราเน้นขายสินค้ามาตรฐานด้านคุณภาพเป็นหลัก เช่น สับปะรดก็ต้องหวานฉ่ำอร่อย เพราะสับปะรด หรือ ผลไม้ ผัก ของบริโภคทุกอย่าง ที่ซื้อผ่านแพลตฟอร์มของฟาร์มโตะ จะต้องได้มาตรฐานรสชาติมาเป็นอันดับหนึ่ง หลังจากนั้น ก็จะต้องเข้าไปดูเรื่องการผลิต ว่า ได้มาตรฐาน GAP หรือ เกษตรอินทรีย์ หรือไม่ ถ้าสามารถที่จะสร้างองค์ความรู้ เพื่อยกระดับให้เขาผลิตแบบมาตรฐาน GAP
อย่างไรก็ตาม ด้วยเราคัดเลือกสินค้าคุณภาพให้ผู้ซื้อ ที่มาซื้อผ่านแพลตฟอร์มของเรา ซึ่งทำให้ราคาอาจจะสูงกว่าท้องตลาด แต่สิ่งที่จะได้คือ เกษตรกร เพราะเกษตรกรที่ขายผ่านแพลตฟอร์มของเราจะได้ราคาสูงกว่าท้องตลาดมากกว่า 30% ปัจจุบัน แพลตฟอร์มของเรามีเกษตรกรที่เข้าร่วมกว่า 2,000 ราย มีการซื้อขายประมาณ 500 ทรานเซ็กชั่น ต่อเดือน
หลักเกณฑ์ คัดเลือกเกษตรกรที่จะเข้าร่วมขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มของเราจะเปิดกว้างให้ทุกคนเข้ามาขายได้ แต่การคัดเลือกว่าจะทำคอนเท็กฟาร์มมิ่งกับเกษตรกร รายไหน เราก็จะมาดูผลิตภัณฑ์ของเขาว่า มีเรื่องเล่าที่ดี ลงในแอปพลิเคชั่นของเราต่อเนื่องขนาดไหน หลังจากนั้น เราก็จะสัมภาษณ์ เพื่อให้ทราบกระบวนผลิตของเขาว่าผลิตอย่างไร และสินค้าเป็นอย่างไร หลังจากนั้น เราดูว่าของดีจริงไหม ไม่ใช่ทำครั้งเดียว ต้องมีระยะเวลา ครั้งนี้ อร่อย ครั้งหน้าไม่อร่อยใช้ไม่ได้ เน้นสินค้าต้องได้คุณภาพ เพราะฉะนั้นทุกครั้งรสชาติต้องเหมือนเดิม และโดยเรายังได้ทำงานร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร ในการยกระดับมาตรฐานเกษตรกร ที่ทำงานร่วมกับเราได้มาตรฐาน GAP
ในส่วนของลูกค้าของฟาร์มโตะ ที่ผ่านมาจะเป็นลูกค้าประจำ และค่อนข้างจะเป็นกลุ่มลูกค้าในตลาดเฉพาะกลุ่ม ส่วนใหญ่จะอยู่ในกรุงเทพฯ ส่วน อุปสรรคของแพลตฟอร์มของเรา คือ การเข้าถึง เพราะการที่จะให้คนเข้าถึงเราต้องใช้งงบในการทำมาร์เก็ตติ้งก้อนใหญ่ แต่เราเป็นสตาร์ทอัป ทุนจำกัด ไม่สามารถทำพีอาร์ให้คนเข้าถึงได้จำนวนมาก แต่เราก็ไม่หยุดการทำงาน สิ่งที่ทำได้ คือ การเข้าไปในชุมชนเข้าไปพัฒนาและเปลี่ยนแปลงชุมชนให้เกิดการเรียนรู้ เพื่อผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ หรือ การนำสินค้าคุณภาพที่ชุมชนมีออกมาให้คนทั่วไปได้เข้าถึง เพื่อจะได้มีรายได้เพิ่มขึ้น
เกษตรกรไทยไม่ได้ขาดความรู้ แต่ขาดเทคโนโลยี
ปัจจุบัน สังคมเกษตรกรของไทย กลายเป็นสังคมคนชราไปเรียบร้อยแล้ว แม้จะมีกลุ่มยังก์สมาร์ทฟาร์มเมอร์ เห็นเขาเยอะขึ้นแต่ก็ยังเป็นส่วนน้อย เมื่อเทียบกับกลุ่มเกษตรกรที่ยังคงยึดการผลิตแบบดั้งเดิมที่มีอยู่มากถึง 9 ล้านครัวเรือน เกษตรกรจริงอยู่ตามชนบท ทำวิธีดั้งเดิม การส่งเสริมภาครัฐ ตามศูนย์เรียนรู้ ให้เกษตรกรไปอบรม ได้เรียนรู้เพิ่มมากขึ้น แต่ได้แค่รู้ แต่ยังขาดเครื่องไม้ เครื่องมือ หรือ เครื่องจักร สุดท้ายอบรมไปก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร เพราะไม่มีเครื่องจักร
ส่วนช่องทางดิจิทัล ที่เกษตรกรเรียนรู้ และด้วยสังคมผู้สูงอายุ ช่องทางส่วนใหญ่ที่เกษตรกรเข้าถึงได้ง่ายที่สุด คือ ยูทูป เพราะช่องยูทูป มีเนื้อหาต่อเนื่อง และเกี่ยวข้อง กับสิ่งที่เกษตรกรเหล่านั้นเขาดูและเข้าถึงได้ อย่าลืมว่า เกษตรกรสูงอายุ พิมพ์ไม่ได้ แต่เขาดูผ่านช่องทางยูทูป เทคนิคต่างๆ สินค้าเกษตรหลายตัวไปทำคอนเท็น อยู่ในยูทูป เกษตรกรรุ่นใหม่ใช้แอปฯ เป็นสามารถหาข้องมูลได้ มีเครือข่าย และสร้างเน็ตเวิร์ก และประสบความสำเร็จได้
สนใจ ติดต่อ FB:FARMTO
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า"SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *
SMEs manager