xs
xsm
sm
md
lg

ITAP สวทช. หนุนผปก.สร้างรถเคลื่อนที่อัตโนมัติ ให้ผู้ป่วยในโรงพยาบาลชลบุรี

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) โดย โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้การสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญ แก่ผู้ประกอบการบริษัท ทริปเปิ้ล เอ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ ซัพพลาย จำกัด ผลิตรถเคลื่อนที่อัตโนมัติประเภทนำทางด้วยเส้น สำหรับช่วยขนส่งของอัตโนมัติซึ่งใช้งานจริงที่โรงพยาบาลชลบุรี จังหวัดชลบุรี เพิ่มความปลอดภัยจากการแพร่กระจายเชื้อโรค พร้อมช่วยลดภาระงานบุคลากรในโรงพยาบาล

นางสาวชนากานต์ สันตยานนท์ ที่ปรึกษาอาวุโส โปรแกรม ITAP สวทช.
นางสาวชนากานต์ สันตยานนท์ ที่ปรึกษาอาวุโส โปรแกรม ITAP สวทช. กล่าวว่า โปรแกรม ITAP สวทช. เป็นหน่วยงานบริการสนับสนุน ภายใต้การกำกับดูแลของศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) ของ สวทช. ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนภาคธุรกิจอย่าง SME ทั้งด้านเงินทุนสนับสนุนและการให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ เป็นการเชื่อมโยงภาคอุตสาหกรรมสู่การพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้วยกลไกการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เหมาะสม โดยโปรแกรม ITAP สวทช. มีประสบการณ์ในการยกระดับเทคโนโลยีแก่ภาคเอกชนมากกว่า 4,000 โครงการ มีผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับภาคเอกชนกว่า 1,300 คน และมีพันธมิตรเชื่อมโยงกับหน่วยงานสนับสนุนอื่น ๆ เช่น ทางด้านการเงิน การตลาด เป็นต้น 

โดยในส่วนของผู้ประกอบการ บริษัท ทริปเปิ้ล เอ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ ซัพพลาย จำกัด ได้รับการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญจากโปรแกรม ITAP โดย อาจารย์อนุกูล สุคโต ผู้เชี่ยวชาญจากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในการช่วยให้คำปรึกษาทางด้านเทคนิค ซึ่งได้เริ่มต้นโครงการจากโจทย์ที่ต้องการเพิ่มช่องทางธุรกิจระบบรถเคลื่อนที่อัตโนมัติ ที่พบว่าการลงทุนที่จัดจำหน่ายโดยบริษัทข้ามชาติ ยังมีราคาค่อนข้างสูง ทางบริษัทจึงเกิดแนวคิดที่จะผลิตและจำหน่ายรถเคลื่อนที่อัตโนมัติ ภายใต้แบรนด์ของบริษัท ซึ่งได้เริ่มโครงการตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2562 และเสร็จสิ้นวันที่ 15 สิงหาคม 2563 โดยมีการนำไปใช้งานจริงแล้วที่โรงพยาบาลชลบุรี

นายอนุกูล สุคโต ผู้เชี่ยวชาญจากโปรแกรม ITAP และอาจารย์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า สิ่งที่ให้การสนับสนุนทางบริษัทฯ เป็นเรื่องของการให้คำปรึกษา รวมถึงให้ข้อมูลทางด้านเทคนิคเกี่ยวกับอุปกรณ์ที่จะนำมาใช้ในการผลิตรถเคลื่อนที่อัตโนมัติ พร้อมกับแนะนำช่องทาง รวมถึงแหล่งในการจัดหา จัดซื้ออุปกรณ์ เพื่อประหยัดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการมากยิ่งขึ้น จนเกิดเป็นรถเคลื่อนที่อัตโนมัติประเภทนำทางด้วยเส้นได้สำเร็จตามที่ผู้ประกอบการตั้งใจไว้ ซึ่งในอนาคตโครงการนี้ยังสามารถนำมาต่อยอดพัฒนาเพิ่มเติมทางด้านระบบขับเคลื่อนให้มีการตอบสนองที่รวดเร็วและแรงบิดที่สูงขึ้นพร้อมการทำระบบ OEE (Overall Equipment Effectiveness) เพื่อนำมาใช้ในอุตสาหกรรมด้านขนถ่ายวัสดุอย่างเต็มรูปแบบได้

นายพงษ์เจริญ รัชตะธรรมสุข กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทริปเปิ้ล เอ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ ซัพพลาย จำกัด


นายพงษ์เจริญ รัชตะธรรมสุข กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทริปเปิ้ล เอ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ ซัพพลาย จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ เริ่มดำเนินธุรกิจมาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2549 ธุรกิจหลักคือ ให้คำปรึกษา ออกแบบ สร้างเครื่องจักรและติดตั้งระบบอัตโนมัติแบบครบวงจร ซึ่งบริษัทต้องการมองหาช่องทางธุรกิจประเภทอื่นเพิ่ม โดยพิจารณาจากทรัพยากรที่บริษัทมีอยู่แล้ว พบว่าในตลาดมีความต้องการในเรื่องของระบบอัตโนมัติ จึงมีความต้องการที่จะผลิต รถขนส่งของอัตโนมัติ (AGV: Automated Guide Vehicle) และตัดสินใจขอรับการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญ จากโปรแกรม ITAP สวทช. ในการทำวิจัยตลาดเรื่องความเป็นไปได้ของการผลิตรถเคลื่อนที่อัตโนมัติหรือ AGV เพื่อจำหน่าย ทำให้ทราบและเห็นช่องทางในการที่พัฒนาสินค้าให้ตรงต่อความต้องการของลูกค้า ทำให้ทางบริษัทฯ เห็นความสำคัญในการเร่งพัฒนารถเคลื่อนที่แบบอัตโนมัติ ประเภทนำทางด้วยเส้น ที่มีข้อดีคือราคาถูกกว่าระบบนำทางประเภทอื่นและสามารถหยุดจอดตามจุดที่กำหนดได้ค่อนข้างแม่นยำ จึงเป็นที่มาของการขอรับการสนับสนุนจากโปรแกรม ITAP สวทช. อีกเป็นโครงการที่ 2 เพื่อผลิตรถเคลื่อนที่อัตโนมัติหรือ AGV จนสำเร็จเป็นผลงานที่ใช้ได้จริงตามที่ต้องการ

แพทย์หญิงจิรวรรณ อารยะพงษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชลบุรี
แพทย์หญิงจิรวรรณ อารยะพงษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชลบุรี กล่าวว่า จากการนำผลงานดังกล่าวมาใช้งานจริงที่โรงพยาบาลชลบุรี พบว่าสามารถช่วยลดภาระงานของเจ้าหน้าที่ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในส่วนของการนำอาหารหรือสิ่งของต่าง ๆ ส่งให้ผู้ป่วย เนื่องจากต้องนำส่งหลายรอบต่อวัน ทำให้โรงพยาบาลสามารถปรับลดจำนวนเจ้าหน้าที่เพื่อไปช่วยเหลือในส่วนงานอื่น ๆ ที่สำคัญได้มากขึ้น เพราะสามารถใช้เจ้าหน้าที่เพียง 1 คน ในการควบคุมรถได้ตั้งแต่เริ่มจนกระทั่งสิ้นสุด เป็นการลดระยะเวลาในการทำงาน ทำให้งานเสร็จได้เร็วขึ้น ลดปริมาณการใช้ชุด PPE และอุปกรณ์ต่าง ๆ ทำให้การจัดการใช้อุปกรณ์ PPE เพียงพอใช้งานมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรค และลดการสัมผัสใกล้ชิดระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานกับผู้ป่วย และสิ่งแวดล้อม ทำให้ปลอดภัยต่อบุคลากรและผู้ป่วยที่อาจได้รับเชื้อโรคจากสิ่งแวดล้อมภายนอกอีกด้วย


* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *
SMEs manager



กำลังโหลดความคิดเห็น