แรงงานคืนถิ่นวิถีใหม่ เตรียมตัวเป็นเกษตรกร New Normal หลังกระทรวงแรงงานมอบหมายประกันสังคม ร่วม บจธ. วางแนวทาง ช่วยผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้มีที่ดินทำกินและเงินกู้ส่งเสริมอาชีพตัวเลขแรงงานในระบบประกันสังคมและแรงงานนอกระบบที่ถูกเลิกจ้างประมาณ 1.3 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังเกิดขึ้นในหลายประเทศ และจากการที่กระทรวงแรงงานเปิดรับสมัครงาน 1 ล้านตำแหน่ง ปรากฏว่ามีผู้มาสมัครงานเพียง 2 แสนกว่าคนเท่านั้น เนื่องจากแรงงานส่วนใหญ่กลับภูมิลำเนา
สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) หรือ บจธ. ได้ร่วมหารือกับผู้บริหารสำนักงานประกันสังคมถึงแนวทางในการให้ความช่วยเหลือผู้ประกันตนและผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคมที่ประสบปัญหาดังกล่าว และตั้งใจคืนถิ่นไปเพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรม เพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ที่ผ่านมา พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน ประธานกรรมการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) หรือ บจธ. เปิดเผยว่า จากการที่ พล.อ ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ผู้กำกับดูแลงานของ บจธ. ได้กำชับให้ บจธ. ร่วมหารือกับนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และผู้บริหารเพื่อหาแนวทางให้ความช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19
ในเบื้องต้น บจธ. ได้ร่วมกับสำนักงานประกันสังคมกำหนดแนวทางให้ความช่วยเหลือแรงงาน 3 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มที่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง แต่ขาดแคลนเงินทุนในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม บจธ. จะให้การสนับสนุนด้านสินเชื่อเพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรม วงเงินไม่เกิน 300,000.-บาท/ราย อัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 3 ต่อปี ระยะเวลาปลอดเงินต้นและดอกเบี้ย 1 ปี 2) กลุ่มที่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง แต่มีปัญหาจะสูญเสียสิทธิในที่ดิน หรือสูญเสียสิทธิในที่ดินไปแล้ว จากการจำนอง การขายฝาก หรือการถูกบังคับคดี แยกเป็น 2 กรณี คือ กรณี 1 ที่ดินยังไม่หลุดมือ ช่วยเหลือโดยการให้สินเชื่อเพื่อคงสิทธิในที่ดิน วงเงินรายละไม่เกิน 1,000,000.-บาท กรณี 2 ที่ดินหลุดมือแล้ว ช่วยเหลือโดยการจัดซื้อที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของ บจธ. แล้วให้ผู้ขอรับความช่วยเหลือเช่าซื้อ วงเงินรายละไม่เกิน 1,000,000.-บาท การชำระสินเชื่อ/เช่าซื้อ ภายในระยะเวลา 30 ปี อัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 3 ต่อปี ระยะเวลาปลอดเงินต้นและดอกเบี้ย 1 ปี
3) กลุ่มที่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง หรือมีแต่ไม่เพียงพอ บจธ. จะเข้าให้ความช่วยเหลือโดยการประสานกับกรมธนารักษ์ นำที่ราชพัสดุที่มีความเหมาะสมสำหรับการทำเกษตรกรรมในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ มาดำเนินการพัฒนาปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานและจัดสรรให้กับผู้ขอรับความช่วยเหลือเข้าทำประโยชน์โดยการเช่าช่วงจาก บจธ. (อัตราค่าเช่าตามที่ บจธ. กำหนด) รายละไม่เกิน 3 ไร่ เมื่อเข้าทำกินในที่ดินดังกล่าวไม่น้อยกว่า 3 ปี และมีความประสงค์ที่จะมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกินในที่ดินใกล้กับถิ่นพำนักของตนเอง ก็สามารถที่จะยื่นคำขอให้ บจธ. จัดซื้อที่ดินเพื่อนำมาให้เช่าซื้อต่อไปได้ ให้การสนับสนุนสินเชื่อเพื่อประกอบอาชีพรายละไม่เกิน 50,000.-บาท อัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 3 ต่อปี ระยะเวลาผ่อนชำระไม่เกิน 10 ปี ระยะเวลาปลอดเงินต้นและดอกเบี้ย 1 ปี
ทั้งนี้ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันคนที่ตกงานส่วนใหญ่กลับบ้านต่างจังหวัด ไม่มีอาชีพรองรับนอกจากกลับไปทำเกษตรกรรม การทำความร่วมมือในลักษณะนี้จะช่วยให้คนมีทางออกโดยกระทรวงแรงงานจะเป็นสะพานเชื่อมเรื่องการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ให้ โดยหลังจากที่จะมีการลงนามในบันทึกความร่วมมือแล้ว กระทรวงแรงงาน และผู้บริหาร บจธ. จะไปหารือกับสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติร่วมกันพิจารณาโครงการเงินกู้ โควิด–19 เพื่อมาใช้ในการดำเนินงาน ซึ่งมั่นใจว่าไม่น่าจะติดปัญหาอะไร เพราะเป็นการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด–19 โดยตรง
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *
SMEs manage