xs
xsm
sm
md
lg

มส.ผส.ผนึก วช.และคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ฯ เสวนาวิชาการ “ปฏิรูประบบบำนาญไทยเพื่อสังคมสูงวัยในอนาคต”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ศ.ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
มส.ผส. ผนึก วช. และคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีเสวนาวิชาการในหัวข้อ “ปฏิรูประบบบำนาญไทยเพื่อสังคมสูงวัยในอนาคต” พร้อมเปิดงานวิจัยทิศทางและนโยบายปฏิรูประบบบำนาญของประเทศไทย พบข้อมูลประชากรวัยทำงานที่มีหลักประกันส่วนเพิ่มเติมจากบำนาญหรือเบี้ยยังชีพยังครอบคลุมไม่มากเพียง 38.82 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ระบุสถานการณ์โควิด-19 ทำให้แรงงานจำนวนมากหลุดจากระบบประกันสังคม พร้อมเสนอรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผลักดัน platform ที่จะพัฒนาระบบบำเหน็จบำนาญในประเทศไทยอย่างเป็นองค์รวม

เมื่อวันที่ 6 ตุลาคมที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมแมนดาริน C โรงแรมแมนดาริน สามย่าน กรุงเทพมหานคร มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีเสวนาวิชาการในหัวข้อ “ปฏิรูประบบบำนาญไทยเพื่อสังคมสูงวัยในอนาคต” โดยมี นายแพทย์ สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย กล่าวเปิดงาน พร้อมด้วย พญ.ลัดดา ดำริการเลิศ ผู้อำนวยการแผนงานวิจัยท้าทายไทย ชี้แจงวัตถุประสงค์การประชุมและมีการนำเสนอผลการศึกษา “ทิศทางและนโยบายปฏิรูประบบบำนาญของประเทศไทย” ของ ศ.ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วย

ศ.ดร.วรเวศม์ระบุถึงผลการศึกษาว่า ประเทศไทยมีระบบบำเหน็จบำนาญหลากหลาย มีหลักปรัชญา แนวคิด และแหล่งที่มาของเงินที่แตกต่างกัน ครอบคลุมประชากรกลุ่มเป้าหมายต่างกันไป มีทั้งระบบผู้จะรับสิทธิประโยชน์ไม่ต้องมีส่วนร่วมจ่าย เพราะแหล่งเงินมาจาก “งบประมาณแผ่นดิน” คือเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ บำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น และบำเหน็จบำนาญข้าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งระบบที่ผู้รับสิทธิประโยชน์จะต้องมีส่วนร่วมจ่าย คือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนประกันสังคม กองทุนการออมแห่งชาติ กองทุนสงเคราะห์กระทรวงศึกษาธิการ และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ นอกจากนี้ยังมีระบบจะต้องมีส่วนร่วมจ่ายเป็นระบบเฉลี่ยทุกข์-เฉลี่ยสุข ร่วมจ่ายโดย เจ้าตัว นายจ้าง และรัฐบาล คือกองทุนประกันสังคม และกองทุนสงเคราะห์กระทรวงศึกษาธิการ ขณะที่ระบบอยู่บนหลักการของการออม และมีการสมทบร่วมโดยนายจ้างหรือรัฐบาล มีกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนการออมแห่งชาติ และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ




ศ.ดร.วรเวศม์ ระบุเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ หากแบ่งออกตามเป้าหมาย พบว่าเป้าหมายที่มุ่งเน้นการจัดสรร บำนาญให้แก่ประชาชน คือ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ บำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น บำเหน็จบำนาญข้าราชการกรุงเทพมหานคร กองทุนประกันสังคม และกองทุนการออมแห่งชาติ ซึ่งในส่วนเป้าหมายที่เน้นการจัดสรร “เงินก้อน” ให้แก่ประชาชน คือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนประกันสังคม กองทุนสงเคราะห์กระทรวงศึกษาธิการ และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

“ระบบบำเหน็จบำนาญของประเทศไทยมีลักษณะเป็น “ปิ่นโต” ซึ่งหมายความว่าประชาชนคนหนึ่งมีโอกาสจะได้รับประโยชน์จากระบบบำเหน็จบำนาญหลายระบบได้พร้อมกัน ตามลักษณะทางประชากร อาชีพ สถานะการทำงาน และสถานที่ทำงาน ซึ่งบางคนอาจมีปิ่นโตหลายชั้น ขณะที่บางคนอาจมีปิ่นโตเพียงชั้นเดียว ทำให้กลุ่มคนบางส่วนของสังคม เช่น แรงงานนอกระบบ มีเพียงเบี้ยยังชีพของผู้สูงอายุ ซึ่งไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ทำให้คนกลุ่มนี้ขาดความมั่นคงทางด้านรายได้ ขณะเดียวกัน ภายใต้ระบบบำเหน็จบำนาญที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน รัฐบาลต้องมีภาระค่าใช้จ่ายที่สูง จำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และมีอายุยืนขึ้น ก็จะส่งผลต่อสถานการณ์การคลังของรัฐบาลในอนาคตด้วย” ศ.ดร.วรเวศม์กล่าว

ศ.ดร.วรเวศม์ กล่าวว่า ระบบบำนาญของไทยในปัจจุบัน โดยหลักการผู้สูงอายุไทยทุกคนจะอยู่ในข่ายที่ได้รับบำนาญข้าราชการหรือเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นพื้นฐาน เมื่อพิจารณาจำนวนผู้ที่กำลังรับเงินบำนาญข้าราชการและเบี้ยยังชีพรวมกันต่อจำนวนประชากรผู้สูงอายุทั้งหมดมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 88 นั่นสะท้อนให้เห็นว่าระบบบำนาญของไทยในปัจจุบันสร้างความครอบคลุมสำหรับการคุ้มครองด้านรายได้ให้ผู้สูงอายุไทยได้กว้างขวางทีเดียว

ขณะเดียวกัน ประชากรวัยทำงานมีโอกาสในการสร้างหลักประกันเพิ่มเติมไปมากกว่านั้น ผ่านระบบบำนาญอื่นๆ เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ประกันสังคม กองทุนสงเคราะห์กระทรวงศึกษาธิการ โดยกองทุนการออมแห่งชาติจะช่วยเก็บตกประชากรวัยทำงาน ที่ไม่ใช่ลูกจ้างในสถานประกอบการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น แรงงานนอกระบบ ประชากรวัยทำงานที่ไม่อยู่ในกำลังแรงงาน ให้สร้างหลักประกันได้

“อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันไทยมีระบบเพื่อรองรับประชากรวัยทำงานทุกกลุ่มก็จริง แต่ประชากรวัยทำงานที่มีหลักประกันส่วนเพิ่มเติมจากบำนาญหรือเบี้ยยังชีพยังครอบคลุมไม่มากนัก เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับประชากรวัยกำลังแรงงาน อายุ 15-59 ปี มีจำนวน 42,845,915 คน ในปลายปี 2562 ประชากรวัยทำงานที่มีบำนาญส่วนเพิ่มที่กล่าวไปนั้นมีความครอบคลุมประมาณร้อยละ 38.82 เท่านั้น” ศ.ดร.วรเวศม์กล่าว


ศ.ดร.วรเวศม์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า จะเห็นได้ว่าระบบบำนาญของประเทศไทยอย่างที่เป็นอยู่มีระบบบำนาญหลายระบบครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ตามกลุ่มประชากร อาชีพ สถานภาพการทำงาน สถานที่ทำงาน และเป็นระบบบำนาญแบบหลายชั้นและมีระบบการบริหารจัดการที่แยกออกจากกัน การตัดสินใจเป็นเอกเทศกันและกัน และที่สำคัญที่สุดคือ ในช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้เห็นข้อจำกัดของระบบการมีส่วนร่วมจ่ายและความไม่เชื่อมโยงระหว่างระบบเราพบแรงงานหลายคนต้องหลุดจากระบบประกันสังคมเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจ การลดอัตราเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมส่งผลต่อกองทุนประกันสังคม ลูกจ้างและนายจ้างหยุดเลื่อนการจ่ายเงินสะสมเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มีนายจ้างลดอัตราการจ่ายเงินสมทบการยกเลิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัทในหลายแห่งด้วย

สิ่งสำคัญอันดับแรกของการเปลี่ยนแปลงระบบบำนาญของประเทศ คือการสร้าง platform ที่เป็นทางการ ที่จะมองเห็น และนำพาระบบบำเหน็จบำนาญของประเทศไปในทิศทางที่ควรจะเป็นอย่างเป็นองค์รวม และ platform นี้จะต้องทำหน้าที่เป็นผู้แนะนำชี้ทิศทางของระบบบำเหน็จบำนาญของประเทศที่มองผลประโยชน์ของ “ประชาชน” เป็นศูนย์กลาง ไม่ได้มองแค่ “แต่ละระบบ” และประสานผลประโยชน์ของผู้สูงอายุรุ่นนี้รุ่นหน้า รวมถึงสถานภาพการทำงานและอาชีพของประชาชนที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้สูงอายุด้วย ซึ่งในร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ..... ที่ได้ระบุในเรื่องต่างๆ เหล่านี้ไว้อย่างครอบคลุม

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *
SMEs manage



กำลังโหลดความคิดเห็น