ฮอปส์ พืชที่นำมาดอกมาใช้เป็นส่วนผสมในการทำเบียร์ โดยเฉพาะการทำเบียร์คราฟท์ จะขาดฮอปส์ไม่ได้เลย เพราะรสขมของเบียร์ มาจากดอกฮอปส์ที่เป็นส่วนผสมในการทำเบียร์ ซึ่งหลายคนถ้าไม่ได้อยู่ในวงการนักปรุง หรือ นักดื่มเบียร์คราฟท์ ส่วนใหญ่จะไม่รู้จักว่าฮอปส์ คืออะไร
ฟาร์มฮอปส์แห่งแรกของประเทศไทย
วันนี้ เราพามารู้จักกับ ฟาร์มฮอปส์แห่งแรกของประเทศไทย อยู่อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เป็นฟาร์มฮอปส์ปลูกแบบออร์แกนิกในโรงเรือนที่ใช้ระบบการควบคุมเทคโนโลยีอัจฉริยะที่เรียกว่าสมาร์ทฟาร์ม บนพื้นที่กว่า 4 ไร่ ชื่อว่า Devenom Farm ซึ่งฮอปส์ปลูกได้ในฟาร์มก็จะนำมาใช้ที่โรงเบียร์ ที่ชื่อว่า โรงเบียร์มิตรสัมพันธ์
สำหรับโรงเบียร์มิตรสัมพันธ์ หรือ มิตรคราฟท์เกิดมาจากการรวมตัวของ brewer 6 แบรนด์ ประกอบด้วย Chit Beer / Devenom / Wizard Beer / Red Stone / Lazy Fat Cat และ Mickleheim มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเวทีในการขับเคลื่อนและพัฒนาคุณภาพคราฟท์เบียร์ให้ได้มาตรฐานสากล เวทีที่ว่าประกอบด้วยโรงเบียร์มิตรสัมพันธ์ที่บริหารจัดการในรปแบบโรงเบียร์เปิด คือเปิดให้บรรดาเหล่า brewer ทุกคนสามารถเข้ามาต้มเบียร์แบรนด์ตัวเองได้ มีบาร์ชื่อว่า Mitr Bar เป็นที่ขายเบียร์ทำผลิตมาจากโรงเบียร์มิตรสัมพันธ์
จากอดีตนักพัฒนาซอฟต์แวร์ผันตัวทำเกษตร
นายณัฐชัย อึ๊งศรีวงศ์ เจ้าของDevenom Farm เล่าว่า เขาได้เริ่มปลูกฮอปส์ เมื่อปี 2015 ซึ่งก่อนหน้านั้นผมทำอาชีพเป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์มาก่อน และเพราะด้วยเทคโนโลยีด้านซอฟต์แวร์พัฒนากันรวดเร็ว เราเป็นรายเล็กก็จะสู้รายใหญ่ในตลาดไม่ได้ ทำให้เราเลิกไปตอนที่บริษัทยังดำเนินกิจการได้ดี น่าจะดีกว่า เพราะตอนนั้นยังมีเงินสักก้อนนำไปจ่ายค่าชดเชยให้พนักงานและที่เหลือนำมาทำกิจการอื่นๆ และด้วยส่วนตัวชอบดื่มเบียร์ ได้ไปชิมเบียร์มาหลายประเทศ และตอนที่ว่างอยู่ได้ไป เรียนการทำเบียร์ที่เกาะเกร็ด ทำให้เรารู้ว่า ส่วนประกอบสำคัญในการเบียร์ ไม่ว่าจะเป็นมอลล์จากข้าวบาเลย์ ฮอปส์ ยีสต์ ทุกอย่างต้องนำเข้าจากต่างประเทศแบบ 100% และจะดีกว่าไหมถ้าเราสามารถปลูกฮอปส์ที่ใช้ในการทำเบียร์ได้ในประเทศไทย
“ โดยส่วนตัวผมเป็นชอบปลูกผักทานเองอยู่แล้ว ก็เลยตัดสินใจว่าจะทำฟาร์มเกษตรและเลือกปลูกฮอปส์ บางส่วนร่วมกับพืชผักชนิดอื่นๆ โดยลองปลูกดูพืชเมืองหนาว ตอนแรกทดลองปลูกในห้องแอร์ก่อนว่ามันก็ออกดอกได้ไหม ซึ่งออกดอกได้ หลังจากนั้น ลองปลูกข้างนอก แต่ปลูกในโรงเรือนควบคุมอากาศ ควบคุมการให้น้ำ ควบคุมอาหาร สามารถออกดอกได้ ไม่ต้องหนาวก็ออกดอกได้ ถ้าอย่างนั้นปลูกในไทยได้ ต่อไปการทำคราฟท์เบียร์ ไม่ต้องนำเข้าวัตถุดิบลดการนำเข้า ผมก็เลยเริ่มทำฟาร์มนี้ขึ้นมา”
พัฒนาสายพันธุ์ฮอปส์ไทยทัดเทียมต่างประเทศ
นายณัฐชัย กล่าวถึงความยากง่ายในการปลูกฮอปส์ในประเทศไทย ว่า สำหรับฮอปส์ ในความเป็นจริงไม่ได้ดูแลยากอะไร เหมือนต้นไม้ทั่วไป แต่ไม่มีคนปลูกในประเทศเท่านั้นเอง ทำให้ต้องหาซื้อมาจากต่างประเทศ ซึ่งก็มีปลูกกันเยอะมากในประเทศแถบยุโรป และสหรัฐอเมริกา เพราะเป็นประเทศที่มีอากาศเย็น เจริญเติบโตได้ดี ซึ่งกว่าจะมาถึงวันนี้ ในวันที่เราสามารถที่จะพัฒนาสายพันธุ์ฮอปส์จากประเทศไทยได้เป็นผลสำเร็จ ผมได้ใช้เวลา เรียนรู้พอสมควร
“ทั้งนี้เพราะไม่ใช่แค่ปลูกออกดอกได้ คุณภาพที่ใช้ทำเบียร์ต้องได้ด้วย ต้องศึกษาเพิ่มเติมลองผิดลองถูก และนำความรู้ด้านไอที เทคโนโลยีที่เราถนัดมาใช้กับการทำการเกษตร เราใช้การควบคุม โดยการปลูกในโรงเรือน ควบคุมการให้น้ำ ควบคุมอุณหภูมิ ป้องกันแมลง ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง มีเคมีน้อยที่สุด มันก็ไม่ง่าย ตอนนี้เป็นช่วงที่ยังไม่ได้ผลผลิตเต็มที่อย่างที่เราต้องการ เป็นช่วงของการพัฒนาสายพันธุ์ เพื่อให้ได้ฮอปส์ สายพันธุ์ที่คุณภาพทัดเทียมกับต่างประเทศ ยังมีอุปสรรคหลายอย่างที่ต้องค่อยเรียนรู้และปรับปรุง และทุกปีเราก็ต้องนำดอกฮอปส์ของเราไปทดสอบคุณภาพที่อเมริกา”
“ช่วงนี้ต้องบอกว่า ยังไม่คุ้มทุน เพราะผลผลิตบางส่วนเท่านั้น คือ หนึ่งโรงเรือนที่นำมาใช้ทำเบียร์ที่โรงเบียร์ของเรา ส่วนที่เหลืออีก สามโรงเรือนใช้เพื่อการศึกษาวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์โดยเฉพาะ ซึ่งต้องยอมรับว่าผลผลิตที่ได้ตอนนี้ยังไม่คุ้มต้นทุน และเมื่อเทียบกับฮอปส์ที่นำเข้าต้นทุนของเรายังสูงกว่า”
สำหรับ ต้นพันธุ์ฮอปส์ที่นำเข้าจากต่างประเทศมีราคาสูงถึงต้นละ 600 บาท ซึ่งหนึ่งต้นสามารถเก็บดอกฮอปส์ได้ 1 กิโลกรัม และหนึ่งดอกสด 1กิโลกรัม ได้ดอกแห้งเพียง 200 กรัมเท่านั้น การปลูกในโรงเรือนทำให้เราสามารถทำให้ฮอปส์ออกดอกได้ภายใน 1 ปี ปกติการปลูกฮอปส์ในต่างประเทศ เขาต้องใช้เวลาถึง 3 ปี แต่หนึ่งต้นเก็บผลผลิตได้กว่า 2-3 กิโลกรัม ยิ่งต้นที่มีอายุเยอะๆ ต้นเลื้อยไปสูง ยิ่งให้ดอกเยอะ อายุของต้นฮอปส์จะอยู่ได้นาน 5-10 ปี พอตัดก็จะแตกใหม่ แบบนี้ไปเรื่อยๆ
ปัจจุบันราคานำเข้าฮอปส์ดอกแห้งกิโลกรัมละ 1,500 บาท ถึง 2,500 บาท ราคาขึ้นอยู่ปริมาณการสั่งซื้อ และคุณภาพของฮอปส์ ส่วนปริมาณของฮอปส์ใส่ในการปรุงเบียร์แตกต่างกัน แล้วแต่ว่า โรงเบียร์แต่ละแห่งที่ต้องการรสชาติเบียร์แบบไหน เช่น การทำเบียร์คราฟท์ก็ใช้ฮอปส์เยอะหน่อย คือ 40 ลิตรใช้ดอกฮอปส์ 200 กรัม แต่ถ้าเบียร์ที่ขายในท้องตลาดใส่เพียงเล็กน้อยแค่ 20 กรัม ต่อการทำเบียร์ 20 ลิตร เป็นต้น
ลงทุนไปแล้วกว่า 10 ล้านบาท
นายณัฐชัย เล่าว่า เขาได้ลงทุนไปกับฟาร์มเกษตร แห่งนี้กว่า 10 ล้านบาท ไม่รวมโรงเบียร์มิตรสัมพันธ์ ที่ลงทุนร่วมกับหุ้นส่วน กว่า 20 ล้านบาท ความคาดหวัง สำหรับการทำฟาร์มฮอปส์ในวันนี้ คิดเพียงแค่ว่า จะได้สายพันธุ์ฮอปส์ที่มีคุณภาพที่ทัดเทียมต่างประเทศให้ได้ก่อน หลังจากนั้น ในอนาคต ก็คงจะไปหาพื้นที่สักแปลงเพื่อปลูกอย่างจริงจัง เป็น 10 ไร่ หรือ 20 ไร่ เพราะทุกวันนี้ ถ้าถามถึงความต้องการฮอปส์ในประเทศไทย ไม่ได้สูงแต่เพิ่มขึ้นตลอดตามจำนวนโรงเบียร์ที่เพิ่มขึ้นเรื่อย เพราะเป็นเทรนด์ของตลาด
อย่างไรก็ตาม ตลาดกลุ่มเป้าหมายที่เรามองไว้ คือ กลุ่มตลาดประเทศเพื่อนบ้าน เพราะปัจจุบันประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่รอบเรา ไม่ว่าจะเป็นเวียดนามมีโรงเบียร์ ทำเบียร์คราฟท์ 20 โรง และกำลังจะเปิดอีกเป็นจำนวนมาก หรือในประเทศเมียนมาร์ กัมพูชาเองก็มีการเปิดโรงเบียร์คราฟท์ กันเป็นจำนวนมาก เพราะประเทศของเขาไม่ได้มีข้อกฎหมาย ผูกขาดการทำเบียร์เหมือนประเทศไทย
ทั้งนี้ คุณสมบัติของฮอปส์ ไม่ได้ใช้เป็นส่วนผสมในการทำเบียร์เท่านั้น แต่ฮอปส์ยังมีคุณสมบัติเป็นสารต้านแบคทีเรีย ทำให้เบียร์ไม่เสีย และยังสามารถนำมาสกัดน้ำมันหอมระเหย สกัดยารักษาสิวตามธรรมชาติได้ ต่างประเทศใส่ในอาหารสัตว์ให้สัตว์ กินเป็นยาต้านแบคทีเรีย แต่การนำฮอปส์ไปใช้ทำดังกล่าวยังมีปริมาณน้อยมาก ส่วนใหญ่จะใช้เพื่อการปรุงเบียร์เป็นหลัก
ติดต่อ FB: Devanom Farm & café
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *
SMEs manager