ในช่วงสถานการณ์ราคาผลผลิตการเกษตรตกต่ำ เกษตรกรก็จะต้องหาวิธีการแปรรูปเพื่อเพิ่มผลผลิต เช่นเดียวกับ เกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวในจังหวัดนครสวรรค์ รายนี้ มีพื้นที่การปลูกมะพร้าวกว่า 300 ไร่ ในช่วงที่ราคามะพร้าวสายพันธุ์ที่นำมาทำมะพร้าวกะทิ ราคาตก ทำให้เขาต้องหาวิธีการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า
ไอเดียนมอัดเม็ดคนจีนชอบ กลายมาเป็นมะพร้าวอัดเม็ด
ด้วยเหตุนี้ จึงได้ออกมาเป็นมะพร้าวอัดเม็ด ไอเดียของ “ นางสาวพิชญ์สินี จีราพันธุ์” “น้องเดียร์” ซึ่งเป็นทายาทเจ้าของสวนมะพร้าว ในวัย 25 ปี เธอได้ทุ่มเทคิดค้นหาวิธีการแปรรูปมะพร้าว ใช้เวลากว่า 6 เดือน จนได้ออกมาเป็นมะพร้าวอัดเม็ด และภายในระยะเวลาเพียงแค่ 5 เดือน ที่เธอทุ่มเทกับการบุกตลาดจีนและประสบความสำเร็จ เพราะเธอได้ออเดอร์แรกจากประเทศจีน และมีรายได้ถึง 1 ล้านบาท ต่อเดือน
ส่วนที่มาของการทำมะพร้าวอัดเม็ด เกิดขึ้นมาจาก เมื่อครั้งที่ เธอได้ไปฝึกงานที่เมืองคุนหมิง ประเทศจีน เห็นว่าคนจีนชื่นชอบ นมอัดเม็ดจากประเทศไทย กันมาก ก็เลยเกิดไอเดีย ลองนำมะพร้าวที่สวนของเธอมาแปรรูปทำออกมาเป็นมะพร้าวอัดเม็ด และส่งไปจำหน่ายที่ประเทศจีน ประกอบกับเป็นทางเลือกให้กับคนที่แพ้นม กินนมอัดเม็ดไม่ได้ หันมากินมะพร้าวอัดเม็ดของเธอแทน เป็นที่มาของมะพร้าวอัดเม็ด แบรนด์ Top tab
ชนะประกวดแผนธุรกิจ สสว. ภาครัฐพี่เลี้ยงตลอดเส้นทาง
นางสาวพิชญ์สินี เล่าว่า ตนเองได้เริ่มทำมะพร้าวอัดเม็ด Top tab มาได้ประมาณ 2 ปี ตอนนั้น ทำไปด้วยเรียนไปด้วย ซึ่งพ่อ กับแม่ไม่เห็นด้วย เพราะเกรงว่าจะเรียนไม่จบ ต้องการให้เรียนจบก่อน แต่เราขอใช้เวลาพิสูจน์ 3 เดือน ถ้าเราทำได้ และการเรียนไม่เสียก็จะขอทำต่อ และเราก็พิสูจน์ให้เห็นว่า เราทำได้ การเรียนไม่เสีย และสามารถทำธุรกิจตรงนี้ได้
ทั้งนี้ จุดเริ่มต้น ทำไมต้องตัดสินใจมาทำตรงนี้ มาจากเราต้องการช่วยครอบครัวซึ่งทำสวนมะพร้าวและเจอภาวะราคามะพร้าวที่ไม่แน่นอน และมีช่วงหนึ่งที่ราคามะพร้าวกะทิตกลงไปมาก และตอนนั้นได้มีโครงการรัฐบาล ของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สสว. ร่วมกับสถาบันอาหาร ทำโครงการเกี่ยวกับการแปรรูปเพิ่มมูลค่าสินค้าการเกษตร เราก็เลยตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ และนำบิสเน็ตแพลนของเราไปเข้าร่วมประกวด และได้รับรางวัลชนะเลิศมา และเงินทุนมาก้อนหนึ่งประมาณ 50,000 บาท และได้ไปร่วมออกบูทงานแสดงสินค้าที่ประเทศจีน ตั้งใจว่า ต้องการแค่นำสินค้าของเราให้คนจีนได้ชิม ไม่ได้ตั้งใจว่าจะนำไปขาย แต่ปรากฏว่าขายได้ มีคนมาขอซื้อ ยิ่งเป็นแรงผลักดันให้เรากลับมาเร่งพัฒนาต่อ
หลังจากนั้น กลับมาพัฒนาเรื่องแพคเก็จจิ้ง และศึกษาเรื่องกฎหมาย กฎระเบียบในการส่งออกสินค้าไปประเทศจีน และได้ทุนจาก กสอ.จำนวน 2 แสนบาท ทำเรื่องการยืดอายุสินค้า โดยมะพร้าวอัดเม็ดของเราอายุการเก็บรักษา 1 ปี และต่อมา ทางสสว. ได้นำผู้ประกอบการไปร่วมออกบูทที่ประเทศจีนอีกครั้ง และครั้งนี้ได้ไปที่เมืองกวางโจ ซึ่งมีนักธุรกิจรายหนึ่งสนใจ มะพร้าวอัดเม็ดของเรา และได้ทำสัญญาสั่งซื้อสินค้าจากเรา จำนวน 1 ตู้คอนเทรนเนอร์ เป็นเงิน 1 ล้าน 3 แสนบาท
นอกจากนี้ ยังได้คัดเลือกร่วมออกงานแสดงสินค้า Thaifex ที่ประเทศไทย ก็เป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ เช่นกัน เพราะมีเทรดเดอร์ให้ความสนใจมะพร้าวอัดเม็ดของเรากันเป็นจำนวนมาก ทำให้สามารถส่งออกมะพร้าวอัดเม็ดไปจำหน่ายได้ในหลายประเทศ เช่น ไต้หวัน ฮ่องกง จีน ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา บาห์เรน ฯลฯ ส่วนตลาดในประเทศ ตอนช่วงแรกต้องการเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีน วางขายแหล่งท่องเที่ยว เช่น เอเชียทีค วันนิมมาน ที่เชียงใหม่ ร้านเจ้าสัว ที่ขอนแก่น และที่ Show Dc และนำสินค้าแนะนำที่โมเดิร์นเทรด และได้วางจำหน่ายที่ บิ๊กซี ฯลฯ
สาวน้อยวัย 25 ปี แนวคิดผลักดันสินค้าเกษตรไทย โกอินเตอร์
พิชญ์สินี (เดียร์) เล่าว่า นอกจากแนวคิดที่ต้องการจะเพิ่มมูลค่าให้กับมะพร้าวกะทิในสวนของครอบครัวแล้ว เดียร์ยังมีความคิดที่จะเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตรอื่นๆ ของประเทศไทย จึงได้นำทุเรียนมาเป็นส่วนผสมในมะพร้าวอัดเม็ดของเราด้วย ทำให้ปัจจุบัน มีมะพร้าวอัดเม็ด รสทุเรียน ที่เราเลือกทุเรียนเพราะคนจีนชื่นชอบ และที่กำลังจะออกมาตามมาอีกตัว คือ มะพร้าวอัดเม็ด รสมะม่วงน้ำดอกไม้ และมีแผนที่จะนำผลไม้ไทยอีกหลายชนิดมาแปรรูปผสมลงไปในมะพร้าวอัดเม็ด นอกจากจะช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ไทยแล้ว ยังได้มะพร้าวอัดเม็ด ที่มีรสชาติต่างๆ ให้กับลูกค้าได้เลือกรับประทานด้วย
สำหรับขั้นตอนการทำมะพร้าวอัดเม็ด เริ่มจากการนำมะพร้าวกะทิ ทั้งลูกมาบีบอัด จนได้น้ำกะทิ หลังจากนั้นผ่านการสเปรย์ดรายอบแห้ง จนได้ออกมาเป็นผง ก่อนนำมาใช้ในกระบวนการผลิตอัดเม็ด ซึ่งส่วนผสมหลัก คือ มะพร้าว ถึง 70% ส่วนผสมอื่น เพียง 30% เช่น ถ้าเป็นรสทุเรียน ก็จะมีส่วนผสมของทุเรียน 10% เท่านั้น ในส่วนการผลิตในขณะนี้ ใช้เป็นลักษณะ OEM จ้างโรงงานผลิต ซึ่งขั้นตอนการทำไม่ได้ยากเกินไป เกษตรกรสามารถนำไปทำได้ เราเน้นไม่ได้หวานมาก ใช้กะทิทั้งลูกมาทำเป็นเม็ด ทำให้การส่งออกมะพร้าวง่ายขึ้น เพราะน้ำหนักน้อย ดีต่อการส่งออก
ปรับแผนหลังเจอพิษโควิด-19 ยอดขายหด
ในอนาคต “พิชญ์สินี” มีแผนที่จะหาผู้ร่วมลงทุน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับบริษัทผู้จัดจำหน่ายรายใหญ่ของประเทศ เข้ามาร่วมถือหุ้น เพื่อจะได้ให้เขาช่วยในการกระจายสินค้ามีประสิทธิภาพมากขึ้นทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ซึ่งสุดท้าย ทำให้เราสามารถพัฒนาโปรดักส์ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ได้อย่างสมบูรณ์ มากยิ่งขึ้น
ในส่วนของยอดขาย เริ่มดร็อปลงในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เพราะลูกค้ากลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวจีนที่มาประเทศไทย ไม่มี และการส่งออกสินค้าไปประเทศจีนในช่วงที่ปิดประเทศ ทำได้ยากมาก และประกอบกับในช่วงนี้ สถานการณ์โควิดที่ประเทศจีน เริ่มคลี่คลาย เจอกำลังซื้อของคนจีนลดลงไปมาก สินค้าอะไรที่ไม่จำเป็นลูกค้าก็จะไม่ซื้อ สินค้าที่ส่งไปประเทศจีน ช่วงนี้ จะเป็นสินค้าที่จำเป็น ส่วนขายในปัจจุบันของเราอยู่ที่เดือนละประมาณ 2 แสนบาท
ส่วนที่มาชื่อแบรนด์ Top tab มาจากทีมงานครีเอทีฟช่วยคิด ซึ่ง Top tab เป็นเหมือนเสียงเคี้ยวขนม อย่างประเทศไทย เสียงจ๊อบแจ๊บ แต่เมื่อนอกก็อาจจะออกเสียง Top tab ที่เราต้องตั้งชื่อให้ออกดูเป็นอินเตอร์เพราะ เราต้องการทำขนมของเราให้เป็นอินเตอร์เนชั่นแนลแบรนด์ และต่างชาติรู้จักชื่อเสียงของมะพร้าวไทย และเป็นผลไม้ขึ้นชื่อของประเทศไทยอยู่แล้ว และทุเรียนเป็นผลไม้ไทยที่คนจีนชอบมาก เมื่อนำ 2 อย่างมาไว้ด้วยกัน การที่เราเป็นขนมอินเตอร์แบรนด์ไม่น่าจะใช้เรื่องยาก
พิชญ์สินี เล่าว่า เธอได้เริ่มแรกทำธุรกิจนี้คนเดียว ตั้งแต่คิดว่าทำอะไร การวิเคราะห์ความเป็นไปได้ จนออกมาจำหน่ายทำเองคนเดียวทุกขั้นตอน ซึ่งมีพี่ชาย และแม่คอยช่วยเหลืออยู่บ้าง แต่หลักตัวเองก็เป็นคนทำทั้งหมด พอวันนี้ ประสบความสำเร็จระดับหนึ่งแล้ว ก็รู้สึกภูมิใจ การเป็นคนรุ่นใหม่ ไม่ใช่ว่าจะทำอะไรแบบนี้ ไม่ได้ ถ้าเรามีความมุ่งมั่นและตั้งใจ และโชคดี ที่วันนี้ มีตัวช่วย อย่างภาครัฐที่พร้อมให้การสนับสนุนทำให้เราไม่ต้องเดินคนเดียวตลอดเส้นทาง เพราะมีพี่เลี้ยงคอยประคองให้เราเดินไปถึงเส้นชัยได้
สนใจ ติดต่อ www.Dearsnacks.com FB: De-Ar Snacks
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *
SMEs manager