xs
xsm
sm
md
lg

สทน. - นิวเคีลยร์ ซิสเต็ม จับมือ วิจัยและพัฒนาระบบสังเคราะห์สารเภสัชรังสี

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์





สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. โดยรองศาสตราจารย์ ดร. ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ และ บริษัท บริษัท นิวเคลียร์ ซิสเต็ม จำกัด โดย นายธนัฐ จอมแก้ว กรรมการผู้จัดการบริษัท นิวเคลียร์ ซิสเต็ม จำกัด ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาระบบสังเคราะห์สารเภสัชรังสี และแนวทางการจัดสรรผลประโยชน์ หลังจากได้ผลงานวิจัยและพัฒนาสำเร็จแล้ว ณ ห้องประชุม 301 ชั้น 3 อาคาร 9 สทน. (บางเขน)


รองศาสตราจารย์ ดร. ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการ สทน. กล่าวว่า จากสถิติประเทศไทยพบผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากเป็นอันดับต้น ๆ รองจากมะเร็งตับ มะเร็งปอด และมะเร็งลำไส้ ตามลำดับ โดยพบว่าอัตราการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกวัน จากความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีทางด้านการแพทย์จึงมีการพัฒนาสารเภสัชรังสี 68Ga-PSMA (Gallium-68 Prostrate Specific Membrane Antigen) ซึ่งได้มีการนำมาใช้อย่างแพร่หลายในการตรวจวินิจฉัยมะเร็งต่อมลูกหมาก เพื่อที่จะกำหนดระยะโรคและการวางแผนการรักษา 

การประเมินผลการรักษาและการตรวจวินิจฉัยการกลับมาเป็นซ้ำของโรค ซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสการหายขาดจากโรคของผู้ป่วยได้เป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามการเตรียมสารเภสัชรังสี 68Ga-PSMA สามารถเตรียมได้ 2 วิธีการ คือ การผสมด้วยมือ (Manual Labeling) และการเตรียมโดยใช้เครื่องสังเคราะห์สารเภสัชรังสี (Radiopharmaceuticals Synthesis ซึ่งทั้งอุปกรณ์และสารเคมีที่มีการขายทั่วไปนั้นต้องนำเข้าจากต่างประเทศเท่านั้น และราคาค่อนข้างแพงมากประมาณ 3-5 ล้านบาท ปัจจุบันการผลิตสารเภสัชรังสี 68Ga-PSMA ดังกล่าวที่ผลิตโดยศูนย์ไอโซโทปรังสี (ศอ.) สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ เพื่อให้บริการแก่โรงพยาบาลนั้น ใช้วิธีการผสมด้วยมือโดยนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งการผลิตในแต่ละครั้งนั้นเจ้าหน้าที่จะได้รับรังสีในปริมาณมาก


ดังนั้น สทน. และ บริษัท นิวเคลียร์ ซิสเต็ม จำกัด จึงได้ตกลงร่วมมือกันวิจัยและพัฒนาเครื่องมือและอุปกรณ์ความปลอดภัยด้านรังสีเพื่อให้ได้นวัตกรรมสินค้า และบริการใหม่ คือ เป็นเครื่องติดฉลากไอโซโทปรังสี Ga-68 PSMA และ Ga-68 Dotatate สำหรับใช้ตรวจวินิจฉัยมะเร็ง โดยเป็นเครื่องแบบ Semi-manual labeling module ที่ใช้งานสะดวกและป้องกันมิให้ผู้ปฏิบัติงานได้รับรังสีโดยไม่จำเป็น สทน. มีหน้าที่หลักในการออกแบบ ประกอบ ทดลองใช้เครื่องต้นแบบ ให้สามารถใช้งานได้จริง พร้อมทั้งสามารถวางแผนการผลิตเครื่องเชิงพาณิชย์ได้อย่างถูกต้อง 

ส่วนบริษัท นิวเคลียร์ ซิสเต็ม จะมีหน้าที่หลักในการสนับสนุนงบประมาณ และจัดหาวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการวิจัยพัฒนา และเมื่อสามารถผลิตเครื่องติดฉลากไอโซโทปรังสีมือเป็นผลสำเร็จ สทน. จะเป็นผู้มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในความเป็นเจ้าของผลงาน และเป็นผู้จดสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรจากผลงานที่พัฒนาขึ้น และจะเป็นผู้บริหารจัดการผลประโยชน์ที่ได้จากสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรที่เกิดขึ้นจากการพัฒนานี้ นอกจากนี้ สทน. มีสิทธิที่จะคิดค้นและต่อยอดจากผลงานวิจัยและพัฒนาได้ เพื่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ หรือขยายชนิดของไอโซโทปรังสีได้ ในส่วนของ บริษัทนิวเคลียร์ ซิสเต็ม จะได้สิทธิในการเป็นผู้จัดจำหน่ายผลงานวิจัยและพัฒนาแต่เพียงผู้เดียว เป็นระยะเวลา 2 ปี และสามารถเจรจาต่อสัญญาได้ สำหรับแผนงานนี้กำหนดระเวลาความร่วมมือไว้ 2 ปี


รศ.ดร. ธวัชชัย กล่าวสรุปว่า ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการร่วมวิจัยและพัฒนาในครั้งนี้ คือ เพิ่มองค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีการแพทย์และสาธารณสุขของไทย โดยเฉพาะทางด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ได้เครื่องสังเคราะห์สารเภสัชรังสี 68Ga-PSMA ที่ สทน. ออกแบบด้วยตนเอง ลดการนำเข้าเครื่องสังเคราะห์ สารเคมี วัสดุอุปกรณ์ ซึ่งมีราคาสูง และเป็นการประหยัดช่วยประเทศชาติ ลดการได้รับรังสีของผู้ปฏิบัติงานและสามารถปฏิบัติงานได้อย่างปลอดภัย เป็นการพัฒนาศักยภาพ ความรู้ ความสามารถ ของนักวิจัยของ สทน. และสามารถนำเป็นเครื่องต้นแบบเพื่อผลิตในเชิงพาณิชย์ได้ในอนาคต


กำลังโหลดความคิดเห็น