รศ ดร. ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. เปิดเผยว่า ปัจจุบัน การรับรู้เรื่องอาหารปลอดภัยด้วยการฉายรังสีของคนไทยยังไม่กว้างขวาง ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ทราบถึงข้อมูลอาหารฉายรังสีว่าสามารถทำให้ผลิตภัณฑ์ปลอดเชื้อได้ ดังนั้น การฉายรังสีอาหารในผลิตภัณฑ์ที่คนไทยบริโภคจึงยังไม่เป็นที่แพร่หลายเท่าที่ควร จะเห็นได้ว่าในเมืองไทยมีผลิตภัณฑ์อาหารฉายรังสีอยู่เพียง 3 ประเภท ได้แก่ ผลิตภัณฑ์แหนมฉายรังสี ผลิตภัณฑ์ปูเค็มฉายรังสี และผลิตภัณฑ์สมุนไพรฉายรังสี ที่ถูกวางจำหน่ายในเชิงพาณิชย์
อย่างไรก็ตามจากการวิจัยของ สทน. ยังมีอาหารและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรมากกว่า 50 ชนิดที่สามารถนำไปฉายรังสีเพื่อให้อาหารปลอดภัยและสามารถยืดอายุการเก็บรักษาได้ เช่น อาหารทะเลแช่แข็ง ปลาร้า มะม่วง ทุเรียน กล้วยหอมทอง ฯลฯ
ทั้งนี้ เพื่อยกระดับการใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ด้วยวิธีการฉายรังสีให้เป็นที่รู้จัก เป็นที่ยอมรับและมีการใช้ประโยชน์แพร่หลายมากขึ้น สทน. จึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร ดำเนินการจัดประกวดโครงการนวัตกรรมอาหารฉายรังสี ภายใต้แนวคิด อาหารพื้นถิ่นไทย พัฒนาได้ด้วยเทคโนโลยีนิวเคลียร์ สำหรับนวัตกรรมอาหารฉายรังสีต้องเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่เกี่ยวข้องกับอาหารพื้นถิ่นไทย หรือเน้นวัตถุดิบพื้นถิ่นไทย ที่ผ่านกระบวนการฉายรังสี ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารประเภท อาหารคาว อาหารหวาน เครื่องดื่ม อาหารเสริม วัตถุดิบทางการเกษตร ซึ่งการเป็นนวัตกรรมฉายรังสีต้องมีลักษณะใดลักษณะหนึ่งต่อไปนี้ 1. ฉายรังสีในผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจ 2. ฉายรังสีในผลิตภัณฑ์เดิม แต่ปรับปรุงกระบวนการเพื่อให้ได้ผลที่ดีขึ้น 3. ฉายรังสีเพื่อวัตถุประสงค์ใหม่
โดยวัตถุประสงค์ปัจจุบันในการฉายรังสีอาหาร ได้แก่ 1. ยับยั้งการงอกระหว่างเก็บรักษา 2. ชะลอการสุก 3. ควบคุมการแพร่พันธุ์ของแมลง 4. ลดปริมาณปรสิต 5. ยืดอายุการเก็บรักษา 6. ลดปริมาณจุลินทรีย์ และจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค ) ผู้เข้าร่วมการประกวดแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ อุดมศึกษา ( ระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า) และประเภทบัณฑิตศึกษา (ระดับปริญญาโท ปริญญาเอก) โดยมีรางวัลเป็นเงินมูลค่ารวม 130,000 บาท พร้อมโล่รางวัล ผู้สนใจเข้าร่วมการประกวดสามารถเข้าไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ สทน. และกระบวนการฉายรังสี พร้อมดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ ที่ www.tint.or.th และwww.facebook.com/thai.nuclear ส่งใบสมัครและข้อเสนอผลงานมาที่ E-mail : tintfoodinnovation@gmail.com ภายในวันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคม 2563
รศ.ดร.ธวัชชัย กล่าวสรุปว่า สทน. คาดหวังว่า การยกระดับการรับรู้ของคนไทยเรื่องอาหารฉายรังสีจะทำให้เกิดความตระหนักและเห็นความสำคัญของการผลิตอาหารที่ถูกสุขลักษณะ ปราศจากเชื้อที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย และเกิดผลิตภัณฑ์อาหารปลอดภัยออกมาจำหน่ายในท้องตลาดมากขึ้นเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคในประเทศ และสร้างความเชื่อมั่นในการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารไปจำหน่ายในต่างประเทศ