xs
xsm
sm
md
lg

(คลิป) จากเด็กวัด สู่ สตาร์ทอัปเจ้าของระบบ AI CCTV ตั้งเป้า 3ปี แตะรายได้หมื่นล้าน ขึ้นแท่นยูนิคอร์น รายแรกปท.ไทย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายศุภสิทธิ์ วัจนดิลก กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอไอ เทคโนเวชั่น จำกัด


ธุรกิจสตาร์ทอัปสัญชาติไทย ในวันนี้ ก้าวไปอีกขั้น เพราะได้เห็นถึงความสามารถของคนไทย ที่สามารถพัฒนากิจการสตาร์ทอัปให้สามารถแข่งขันกับระดับนานาชาติได้ และนี้ คือ อีกหนึ่งความฝันของสตาร์ทอัปไทยที่พร้อมจะก้าวไปสู่ระดับยูนิคอร์






ซอฟต์แวร์สำหรับกล้องวงจรปิด พัฒนาโดยคนไทย

วันนี้ เรากำลังจะพูดถึงธุรกิจสตาร์ทอัป ผู้ให้บริการด้านซอฟต์แวร์สำหรับการใช้งานกับกล้องวงจรปิด CCTV ซึ่งเป็นสตาร์ทอัปไทยรายแรกที่สามารถพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อรองรับระบบกล้องวงจรปิด CCTV ได้ครบวงจรและเป็นผลสำเร็จ ช่วยให้ข้อมูลต่างๆ ที่ถูกบันทึกในกล้อง CCTV จะไม่ถูกต่างชาตินำไปใช้หาประโยชน์ และยังช่วยให้คนไทยและประเทศไทยปลอดภัย


โดยเจ้าของผลงานผู้คิดค้นซอฟต์แวร์ ดังกล่าว คือ นายศุภสิทธิ์ วัจนดิลก กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอไอ เทคโนเวชั่น จำกัด บริษัทผู้ให้บริการและพัฒนาด้านซอฟต์แวร์ สำหรับโมบายแอปพลิเคชั่น เขาเป็นโปรแกรมเมอร์ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของบริษัทชั้นนำต่างๆ มานานกว่า 10 ปี จนวันนี้ คิดว่า ที่ผ่านมา ทำให้หลายบริษัทประสบความสำเร็จมาแล้ว จากระบบซอฟต์แวร์ที่เขาได้พัฒนาให้ แต่เขายังไม่เคยมีผลิตภัณฑ์ที่เป็นของตัวเอง

จึงได้ลุกขึ้นมา พัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับใช้กับการกล้อง CCTV หรือ AI CCTV Recognitions and Analytics เพราะที่ผ่านมาทั้งกล้อง CCTV และระบบซอฟต์แวร์ ที่ใช้กับกล้อง จะต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งหลักนำเข้าจากประเทศจีน ญี่ปุ่น ทำให้ข้อมูลหลายอย่างที่ถูกบันทึกในกล้อง หรือ ระบบซอฟต์แวร์ที่มากับกล้อง จะไปปรากฎอยู่ที่เจ้าของซอฟต์แวร์ในต่างประเทศ และข้อมูลเหล่านี้ส่งผลเสียต่อประเทศในอนาคตได้ หรือเจ้าของซอฟต์แวร์สามารถนำข้อมูลไปใช้หาประโยชน์ทางการตลาดได้


ประโยชน์ซอฟต์แวร์ที่เป็น AI CCTV

นายศุภสิทธิ์ เล่าถึงซอฟต์แวร์ที่พัฒนาขึ้นมาในครั้งนี้ ว่า เป็นซอฟต์แวร์ ที่ช่วยจดจำสภาพแวดล้อมได้เกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการจดจำใบหน้า เครื่องแต่งกาย กระเป๋า ลักษณะรถยนต์ ทะเบียนรถ ฯลฯ ประโยชน์ที่ได้จากการพัฒนาซอฟต์แวร์ ดังกล่าวนี้ คือ ประโยชน์ทางการตลาดสำหรับร้านค้า ศูนย์การค้า เพราะเมื่อลูกค้านำไปติดตั้งกับกล้อง CCTV ของทางร้าน เช่น ถ้าติดตั้งอยู่ในร้านค้า หรือ ห้างสรรพสินค้า ช่วยให้สามารถเช็คได้ว่า ลูกค้าเราเป็นใคร และมีการเข้ามาซื้อซ้ำบ่อยแค่ไหน สินค้าอะไรที่ลูกค้าคนนั้นๆ ชื่นชอบ และเวลาเข้าออกของลูกค้าเป็นช่วงเวลาไหน ข้อมูลเหล่านี้ ช่วยในการวางแผนการตลาดในอนาคตได้


นอกจากประโยชน์ทางด้านการตลาด CCTV BY AI ยังตอบโจทย์ด้านความปลอดภัย ถ้าทุกร้านติดตั้งCCTVและระบบซอฟต์แวร์ของเรา ถ้าเกิดการโจรกรรม และทั้งจังหวัดติดระบบซอฟต์แวร์ที่เชื่อมโยงกัน จะรู้ทันทีว่า โจรเดินทางไปทางไหนภายในเวลาอันรวดเร็ว หรือ ถ้ากรณีลืมของไว้จะติดตามหาของได้ และระบบซอฟต์แวร์ ของเรายังช่วยในเรื่องการบริหารที่จอดรถได้ โดยไม่ต้องติดตั้งเซ็นเซอร์ทุกจุด เพียงแค่ติดตั้ง CCTV BY AI ไว้ในลานจอดรถ ในส่วนที่กล้องมองเห็น ระบบAI ของเราจะช่วยวิเคราะห์ แจ้งบอกได้ทันทีว่าตรงจุดไหน มีที่ว่าง ไม่ต้องใช้เซ็นเซอร์ในการตรวจจับ ใช้แค่กล้อง CCTV อย่างเดียว

และระบบ CCTV BY AI ยังนำไปใช้กับงานบริหารภายในองค์กร โดยเฉพาะฝ่ายบุคคล เพียงแค่ติดตั้ง CCTV และระบบซอฟต์แวร์ของเรา ซึ่งสามารถตรวจับและจดจำใบหน้ารูปร่างได้ว่าคนนี้เป็นใคร พอเดินผ่านกล้องก็จะรู้ว่ามาทำงานกี่โมง กลับกี่โมง โดยไม่จำเป็นจะต้องใช้การสแกนนิ้ว หรือ ตอกบัตรเพื่อเข้างาน อีกต่อไป


ตั้งเป้าภายใน 3 ปี ขายได้ทั่วประเทศและขึ้นเป็นยูนิคอร์นรายแรกปท.

นายศุภสิทธิ์ เล่าถึงแผนการตลาดว่า ในส่วนของกลุ่มลูกค้า ที่บริษัทวางเป้าไว้ เป็นกลุ่มภาคธุรกิจเอกชนประมาณ 70% และภาคราชการ องค์กรต่างๆ ประมาณ 30% โดยบริษัทได้ทำการเปิดตัวระบบซอฟต์แวร์ที่ใช้กับกล้อง CCTVครั้งแรก เมื่อปลายปี 2562 ซึ่งตั้งเป้าไว้ภายในสิ้นปีจะติดตั้งได้ที่ 20,000 ตัว และตั้งเป้าไว้ว่า ภายใน 3 ปี จะมีลูกค้าทั่วประเทศ ที่มีการติดตั้งระบบซอฟต์แวร์ และกล้อง CCTV ของเรา ทำให้วันนั้น เราได้ก้าวขึ้นเป็น ยูนิคอร์นรายแรกของประเทศไทยก็เป็นได้ จากรายได้ หลักหมื่นล้านบาท


สำหรับลูกค้ากลุ่มแรก เริ่มติดตั้งจังหวัดแรกที่กระบี่ ทางสมาคมหอการค้า จังหวัดกระบี่ สนใจ อยากให้ทุกร้าน หน่วยงาน องค์กรต่างๆ ทั้งจังหวัด ได้ติดตั้งระบบนี้ เนื่องจากกระบี่เป็นจังหวัดท่องเที่ยว ทางจังหวัดมองเรื่องของความปลอดภัยนักท่องเที่ยวเป็นหลัก โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ถ้ามีกล้องติดอยู่ทั่วไป สร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว ช่วยให้ทางจังหวัดสามารถรับมือโควิดได้ โดยทางนายกสมาคมฯ ต้องการให้ทุกร้านค้าได้ติดตั้ง เพราะที่กล่าวมาข้างต้นร้านค้าได้ประโยชน์อย่างมาก จากข้อมูลทางการตลาดที่นำไปพัฒนาต่อได้

และในช่วงสถานการณ์โควิด-19 CCTV BY AI ช่วยทำให้เราทราบว่า คนๆ นี้ ไปเที่ยวที่ไหนของจังหวัดกระบี่ กรณีที่ติดเชื้อโควิด จะได้ทราบว่าใครเป็นกลุ่มเสี่ยงที่เข้าข่ายบ้าง โดยไม่ต้องสแกนคิวอาร์โค้ด หรือ ลงชื่อ และระบบ AI ช่วยลดการสัมผัสได้ กรณีที่มีลูกค้ามาเข้าร้าน พนักงานก็ไม่ต้องคอยวัดอุณหภูมิ หรือ คอยเตือนเรื่องการสวมหน้ากาก เพราะระบบซอฟต์แวร์ จะมีตัวช่วยวัดอุณหภูมิภายในร่างกาย และคอยตรวจสอบว่า คนไหนสวมหน้ากาก ถ้าใครไม่สวมหน้ากากจะมีระบบเตือนเพื่อให้เขาได้สวมหน้ากากก่อนเข้าร้าน ซึ่งรองรับการใช้ชีวิตและการดำเนินธุรกิจ และนวัตกรรมเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยววิถีใหม่ (New Normal)


จากเด็กวัด เป็นผู้ประกอบการสตาร์ทอัป ที่มีรายได้หมื่นล้านได้

นายศุภกิจ เล่าถึงประวัติของตัวเองก่อนจะก้าวเข้ามาเป็นเจ้าของธุรกิจสตาร์ทอัปในวันนี้ ว่า เริ่มมาจากเรียนจบปริญญาตรี คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร ผมได้เริ่มงานตั้งแต่ฝึกงานที่บริษัท ปตท. ตำแหน่งโปรแกรมเมอร์ พัฒนาซอฟต์แวร์ต่างๆ ให้กับ ปตท. และการตัดสินใจลาออก ครั้งนั้น เกิดขึ้นมาจากมองเห็นว่า ถ้าเราออกมาน่าจะทำประโยชน์ให้กับประเทศได้มากกว่านี้ ออกมารับงานเขียนโปรแกรมซอฟต์แวร์ให้กับบริษัทต่างๆ หลายกิจการ จนเขาร่ำรวยจากระบบซอฟต์แวร์ที่เราพัฒนาขึ้นจนย้อนกลับมาคิดว่า ทำให้คนอื่นเขาร่ำรวยมาแล้ว ทำไมเราไม่มีโปรดักส์เป็นของตัวเราเอง จึงได้ร่วมกับเพื่อนในบริษัท พัฒนาโปรดักส์ตัวแรกของเรา คือ ระบบซอฟต์แวร์ สำหรับใช้กับกล้อง CCTV


“การเดินทางของผม กว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นสตาร์ทอัปในครั้งนี้ ไม่ได้สวยหรู เพราะผมต้องทำงานหาเงินเลี้ยงตัวเอง ส่งเสียตัวเองเรียนจบ ปริญญาตรี เพราะ พ่อ แม่แยกทางกัน และผมได้มาอยู่วัด และผมมาอยู่กับพ่อ แต่ฐานะทางบ้านไม่ได้ดีหนัก ผมก็เลยต้องหาเงินเรียนเอง แม้จะได้มาอยู่กับพ่อก็ตาม ตลอดระยะเวลาที่ผมเรียนหนังสือ ผมเป็นนักเรียนทุนมาตลอด และได้เงินกู้จากกองทุนของกยศ. เพราะด้วยความที่ผมตั้งใจเรียนมาก ทำให้การเรียนออกมาดี ก็ได้ทุนเรียนฟรีมาตลอด ดังนั้น การที่ผมเลือกจะลาออกจากบริษัทยักษ์ใหญ่ เพราะผมอยากจะตอบแทนประเทศไทย ที่ให้ผมได้เรียนฟรี และการที่เราได้ใช้ความรู้ที่เรามีมาพัฒนาซอฟต์แวร์ช่วยกิจการเอสเอ็มอี หรือ การพัฒนาซอฟต์แวร์ มาช่วยให้คนไทยและประเทศไทยปลอดภัย เป็นความภูมิใจมากกว่า”




สตาร์ทอัปในโครงการบ่มเพาะูธุรกิจ สวทช.


สำหรับ จุดเริ่มต้นในการก้าวสู่การเป็นนักธุรกิจหรือสตาร์ทอัปอย่างเต็มตัว เริ่มต้นจากการเข้าร่วมโครงการบ่มเพาะธุรกิจ (Incubation) ของศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี (BIC) ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เมื่อปี พ.ศ. 2555 ทำให้ได้รับความรู้ แนวทาง และแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจนวัตกรรมที่ตรงจุดและชัดเจนมากยิ่งขึ้น ตลอดจนเครือข่ายของการสนับสนุนจากกลไกภาครัฐ และเพื่อนร่วมวงการสตาร์ทอัปด้วยกัน หล่อหลอมให้มีความพร้อมสู่การเป็นนักธุรกิจ หรือสตาร์ทอัปอย่างเต็มตัว ก้าวแรกของธุรกิจที่มีพนักงานเพียง 1 - 2 คน จนมาปัจจุบันมีพนักงานที่เป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์คนรุ่นใหม่ในบริษัทแล้วมากกว่า 20 คน ต้องขอบคุณ สวทช.ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจที่คอยให้คำปรึกษา ทำให้เราก้าวเดินต่อไปอย่างมั่นคง


ติดต่อ โทร. 09-9782-9933




** * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า"SMEsผู้จัดการ"รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุดและร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *

SMEs manager


กำลังโหลดความคิดเห็น