xs
xsm
sm
md
lg

เปิดเทอม“ส่งเด็กกลุ่มเปราะบางกลับโรงเรียน” กสศ.จับมือ10 ภาคี สู้วิกฤตความเหลื่อมล้ำ ป้องกันเด็กหลุดจากการศึกษา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดเทอม“ส่งเด็กกลุ่มเปราะบางกลับโรงเรียน” กสศ.จับมือ10 ภาคี สู้วิกฤตความเหลื่อมล้ำ ป้องกันเด็กหลุดจากการศึกษา ชี้ครอบครัวยากจน ต้องแบกค่าใช้จ่ายช่วงเปิดเทอมมากกว่ารายได้ทั้งเดือน ลุยช่วยเหลือในพื้นที่กทม. อย่างน้อย1พันราย

เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2563 ที่ชุมชนโค้งรถไฟยมราช กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดโครงการ “กู้วิกฤตส่งเด็กกลุ่มเปราะบางกลับโรงเรียน” ชวนเด็กด้อยโอกาสร่วมฐานกิจกรรมเตรียมความพร้อมทั้งด้านการเรียนรู้ การป้องกันสุขภาพจากโรคโควิด-19 ในช่วงเปิดเทอม และสนับสนุนชุดอุปกรณ์การเรียนให้เด็กกลุ่มเปราะบางในชุมชนพื้นที่กรุงเทพฯที่เสี่ยงหลุดออกนอกระบบการศึกษา เช่น เด็กยากจนในชุมชนแออัด ริมทางรถไฟ ใต้ทางด่วน เด็กที่ทำงานบนท้องถนน และเด็กๆกลุ่มเสี่ยงที่อยู่ในการดูแลของมูลนิธิต่างๆ

ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ที่ปรึกษากองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า ช่วงก่อนเปิดเทอม กสศ.ร่วมมือกับ เครือข่ายองค์กรภาคเอกชนที่ทำงานกับกลุ่มเด็กบนท้องถนนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการสำรวจข้อมูลเด็กกลุ่มเปราะบางที่เสี่ยงหลุดออกนอกระบบการศึกษา เช่น เด็กยากจนในชุมชนแออัด ริมทางรถไฟ ใต้ทางด่วน เด็กที่ทำงานบนท้องถนน ไซต์คนงานก่อสร้าง แรงงานนอกระบบที่อพยพมาจากต่างจังหวัด ซึ่งกรุงเทพมหานคร เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีจำนวนเด็กและเยาวชนเปราะบางมากที่สุดของประเทศ เด็กกลุ่มนี้บางส่วนแม้จะยังอยู่ในระบบการศึกษาแต่ด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจ สังคมและครอบครัว เป็นตัวเร่งให้หลุดออกนอกระบบ ยิ่งในช่วงโควิด-19 หลายครอบครัวได้รับผลกระทบ ไม่มีรายได้ ตกงาน

“การสำรวจทำให้เราพบเด็กกลุ่มเสี่ยงและเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือ โดยเฉพาะภาระค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการศึกษาในช่วงเปิดเทอม เราพบว่าครัวเรือนฐานะยากจน ต้องมีค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาแต่ละปีสูงสุดช่วงเดือนเปิดเทอม ระดับประถมศึกษา1,796 บาท มัธยมต้น 3,001 บาท มัธยมศึกษาตอนปลาย3,738 บาท ในขณะที่มีรายได้เฉลี่ยประมาณ 2,020 บาทต่อเดือน เท่ากับว่าต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมเกือบทั้งหมด หรือมากกว่ารายได้ทั้งเดือนในกรณีที่บุตรหลานศึกษาอยู่ชั้นมัธยม” ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ กล่าว


ที่ปรึกษากสศ. กล่าวว่า ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา กสศ.โดยโครงการพัฒนาระบบการช่วยเหลือและส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับกลุ่มเด็กบนท้องถนน (Children in Street) ในเขตกรุงเทพมหานคร ได้ทำการสำรวจเชิงคุณภาพโดยใช้แบบบันทึกข้อมูลเด็กเป็นรายบุคคลเพื่อสำรวจความต้องการช่วยเหลือด้านการศึกษาจากผลกระทบโควิด-19 พบว่า เด็กเร่ร่อนที่ใช้ชีวิตบนท้องถนน หรือที่สาธารณะมีจำนวนน้อยกว่าอดีตมาก ที่พบเด่นชัดได้แก่ พื้นที่สถานีรถไฟหัวลำโพง มิติของเด็กเร่ร่อนเปลี่ยนไป ไม่เห็นตามถนน ตามตลาด หรือตามที่ต่างๆ แต่จะไปอยู่ในชุมชน รวมถึงแต่งกายดีไม่มอมแมม แต่มีความผูกพันกับถนนที่แน่นแฟ้น ในความสัมพันธ์เชิงเศรษฐกิจมากขึ้นคือการใช้ถนนทำมาหากิน

ศาตราจารย์ ดร.สมพงษ์ กล่าวว่า จากการสำรวจพบว่าเด็กกลุ่มนี้บางส่วนมักรวมตัวในร้านเกมส์ หรือเช่าห้องพักอยู่ร่วมกัน ส่วนสาเหตุที่เด็กออกมาเร่ร่อนจะเป็นเรื่องปัญหาความยากจน ครอบครัวแตกแยก ความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้เป็นตัวเร่งให้เด็กหลุดออกนอกระบบ บวกกับสภาพแวดล้อมที่มีความเสี่ยงในชุมชน อาทิ ยาเสพติด การถูกล่วงละเมิดทางเพศ อาชญากรรม ติดเพื่อน ติดเกมส์ อย่างไรก็ตาม เด็กกลุ่มนี้ยังต้องการความช่วยเหลือ เช่นทุนการศึกษาเพื่อเป็นค่าเดินทางไปโรงเรียน ค่าอาหาร ค่าหนังสืออุปกรณ์การเรียน ชุดนักเรียน รองเท้าและกระเป๋านักเรียน

“นี่คือเหตุผลสำคัญว่าทำไมกสศ.ต้องทำงานกับเด็กกลุ่มเปราะบาง เราพยายามรักษาเด็กกลุ่มนี้ให้อยู่ในระบบการศึกษาให้มากที่สุด รวมถึงสร้างทักษะส่งเสริมการประกอบอาชีพ สร้างทักษะการใช้ชีวิต เพื่อลดจำนวนเด็กที่ต้องทำอาชีพบนท้องถนนที่มีความเสี่ยงและเป็นอาชีพที่อันตราย เบื้องต้นในพื้นที่กทม.จะสามารถช่วยได้ไม่ต่ำกว่า1,000 คน” ที่ปรึกษา กสศ. กล่าว


นายอนรรฆ พิทักษ์ธานิน หัวหน้าโครงการพัฒนาระบบสนับสนุนดูแลเด็กนอกระบบการศึกษาและเด็กบนท้องถนนในกรุงเทพมหานคร และศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ กล่าวว่า สถานการณ์เด็กหลุดนอกระบบหรือเด็กใช้ชีวิตบนท้องถนน มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นจากผลเรื่องเศรษฐกิจที่เป็นปัจจัยพื้นฐาน แต่สิ่งที่เป็นตัวกระตุ้นสำคัญคือปัจจัยในครอบครัวที่มาจากความรุนแรง ความตึงเครียด จะเป็นแรงผลักทำให้เด็กต้องออกไปใช้ชีวิตบนถนนมากขึ้น และหลังจากโควิด-19 สถานการณ์จะรุนแรงเพิ่มมากขึ้น เห็นได้ชัดเจนจากการลงพื้นที่ในกทม.ช่วง1-2 เดือนที่ผ่านมา พบว่าครอบครัวของเด็กเหล่านี้มีรายได้ลดลง บางครอบครัวไม่มีรายได้ ส่วนใหญ่เช่าห้องราคาถูก นอนพักอาศัยใต้ทางด่วน ชุมชนแออัด เป็นลูกแรงงานต่างจังหวัดอยู่ตามไซส์ก่อสร้าง แรงงานนอกระบบ ทำงานรายได้ต่ำ ทั้งหมดยิ่งตอกย้ำว่าเด็กมีความเสี่ยงหลุดนอกระบบมากขึ้น ขณะเดียวกันยังมีเรื่องต้นทุนอื่นๆที่สูงเช่นกัน และสภาพเด็กเมื่ออยู่ในวัยแรงงานก็ต้องเลี้ยงตัวเองและครอบครัว ดังนั้นแนวทางการช่วยเหลือไม่ใช่การเรียนเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเพิ่มช่องทางอาชีพและการเรียนที่ยืดหยุ่น self esteem ทักษะชีวิต เพราะความสำคัญของการศึกษาต่ออนาคตจะสร้างความมั่นคงได้มากขึ้น

นายอนรรฆ กล่าวว่า หลังจากนี้จะทำงานร่วมกับชุมชม NGO ต่างๆ รวมแล้วมากกว่า 10 องค์กรในพื้นที่กทม. เพื่อช่วยเหลือเด็กกลุ่มเปราะบางมากกว่า 1,000 คน ภายใต้แนวทางการทำฐานชุมชนและภาคประชาสังคมให้เข้มแข็ง เพราะครอบครัวส่วนใหญ่มีปัญหา จึงต้องเข้าไปดูแล และต้องทำตัวเป็นบ้านให้เด็กๆ สำคัญกว่านั้นเด็กหลายคนมีผลการเรียนดี แต่ครอบครัวมีปัญหาอุปสรรคจึงไม่สามารถไปต่อได้ ดังนั้นไม่ใช่คนจนทุกคนจะต้อง Drop out

ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ที่ปรึกษากองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
ขณะที่ นางสาวทองพูล บัวศรี หรือ ครูจิ๋ว ผู้จัดการโครงการมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก กล่าวว่า ชุมชนโค้งรถไฟยมราชมีเด็กรวมทั้งสิ้น 200 กว่าคน แต่มีเด็กกลุ่มเปราะบาง ที่มีครอบครัว มีที่พัก แต่ด้อยโอกาส ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่หรือมีฐานะยากจน ที่อยู่ในการดูแลของครูจิ๋วจำนวน 67คน เด็กกลุ่มนี้ มีอาชีพเป็นเด็กเร่ร่อน ขอทานชั่วคราว ที่ต้องออกไปขอเงิน ขายพวงมาลัย ดอกจำปีตามถนนในวันหยุด เพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัว เมื่อเกิดโควิด-19 เด็กออกไปทำงานไม่ได้ รายได้ขาด ก็ทำให้เด็กที่พื้นฐานลำบากอยู่แล้วได้รับผลกระทบหลายด้าน ทั้งปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และปัญหาความเสี่ยงที่เด็กจะหลุดออกนอกระบบการศึกษาช่วงใกล้เปิดเทอม เพราะไม่มีเงินซื้ออุปกรณ์การเรียน ซื้อเสื้อผ้า บางครอบครัวก็ไม่อยากให้เด็กได้เรียน เพราะอยากให้ทำงานชดเชยช่วงที่ขาดรายได้

“เด็กกลุ่มเปราะบางทั้ง67คน ทุกคนเป็นเด็กที่ครอบครัวไม่พร้อม บางคนอยู่กับตายาย อยู่กับญาติ อยู่กับพ่อแม่ แต่ก็ยากจน พ่อแม่ทำอาชีพรับจ้างทั่วไป รายได้ไม่แน่นอน ไม่มีสวัสดิการ เงินที่หาได้พอแค่มีกินไปวันๆ ดังนั้นค่าเช่าบ้าน ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าใช้จ่ายเวลาไปโรงเรียน จึงกลายเป็นภาระที่เด็กต้องรับผิดชอบ หลังสถานการณ์โควิด ครูต้องพยายามช่วยทุกทาง เพื่อไม่ให้เด็กต้องหลุดออกนอกระบบการศึกษา ต้องสื่อสารกับผู้ปกครองให้เห็นความสำคัญของการศึกษา อุปกรณ์การเรียน อะไรที่ขาดจะช่วยหาให้เราไม่อยากให้เด็กต้องหยุดเรื่องการศึกษา จึงพยายามสร้างโอกาสให้เด็กได้ทำงานด้วยเรียนด้วย อยากให้ช่วยประคับประคองให้เด็กได้รับโอกาสเท่าๆ กัน อย่างน้อยให้เด็กกลุ่มเปราะบางมีโอกาสได้รับการศึกษาจนจบ ม.3 ตามพื้นฐาน นั้นคือสิ่งที่ครูปรารถนา” ครูจิ๋ว กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น