xs
xsm
sm
md
lg

ขนมเปี๊ยะ ส.บุญยะวรรณ หนีตาย แจ้งเกิดขนมเปี๊ยะไส้ฝอยทอง ยอดขายถล่มบนโลกออนไลน์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ขนมเปี๊ยะขนมมงคล ที่อยู่คู่คนไทยมาแต่โบราณ คนรุ่นใหม่จะซื้อขนมเปี๊ยะ เพื่อใช้ในงานมงคลเท่านั้น แต่การซื้อขนมเปี๊ยะเพื่อรับประทานทั่วไป ลดน้อยลงไปมาก ซึ่งโรงงานผลิตขนมเปี๊ยะที่จังหวัดสุพรรณบุรี ชื่อว่า “ขนมเปี๊ยะ ส.บุญยะวรรณ” ปรับตัว โดยการทำขนมเปี๊ยะแบบใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน

สำหรับขนมเปี๊ยะรูปแบบใหม่ของร้าน ส.บุญยะวรรณ นั้น คือ ทำขนมเปี๊ยะไส้ใหม่ เช่น ไส้ฝอยทอง ไส้ฝอยทองสตอเบอรี่ ฝอยทองใบเตย ไส้เผือก ไส้เผือกธัญพืช ไส้อินทผลัม ไส้งาดำ เป็นต้น ส่วนขนมเปี๊ยะดั้งเดิม ไส้ถั่ว ไส้ฟัก และจุดเด่นของ ร้านนี้ คือ การใส่ไข่แดงมากถึงชิ้นละ 6 ฟอง หรือ หลายคนเรียกว่า ขนมเปี๊ยะไข่ทะลัก


นายกิตติพร บุญยะวรรณ เจ้าของ โรงงานขนมเปี๊ยะ อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี เล่าว่า เดิมครอบครัวทำขนมเปี๊ยะขายอยู่ที่ตลาดดอนเจดีย์ มาตั้งแต่รุ่น พ่อ แม่ มากกว่า 40 ปี และช่วงหลังคนรุ่นใหม่ไม่นิยมการกิน ขนมเปี๊ยะ ส่งผลต่อยอดขายขนมเปี๊ยะลดลงอย่างมากจะขายได้เฉพาะงานมงคลเท่านั้น

“ต้องบอกว่ายอดขายก่อนปรับตัว โดยการทำไส้ใหม่เพิ่ม ตอนนั้นยอดขายตกไปเรื่อย ซึ่งช่วงนั้น ผมเองหันไปทำขนมห่อละ 5 บาทขาย ส่วนขนมเปี๊ยะครอบครัวพ่อกับแม่ยังคงทำอยู่ แต่ยอดขายไม่ได้เพิ่มขึ้น จะขายได้แค่ช่วงเทศกาล และงานมงคลเท่านั้น และเมื่อปีที่ผ่านมา ผมได้เข้ามาดูแลกิจการต่อจากพ่อ ใช้เวลาในการคิดสูตรไส้ขนมเปี๊ยะแบบต่างๆ ทดลองทำอยู่นาน 5-6 เดือน และเริ่มนำออกขายได้ 6-7 เดือน โดยเลือกใช้การขายผ่านช่องทางออนไลน์ จากเดิมขายหลักสิบชิ้น วันนี้ มีออเดอร์ ต่อวันหลักหลายร้อย ไปจนถึง หลักพันชิ้น”


นายกิตติพร บุญยะวรรณ เจ้าของ โรงงานขนมเปี๊ยะ อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี
“กิตติพร” บอกว่า เขาเลือกใช้ช่องทางแนะนำขนมเปี๊ยะไส้ใหม่ๆ ผ่านหน้าเพจเฟซบุ๊ก และใช้การโปรโมทหน้าเพจ มีคนติดตามและสั่งซื้อเข้ามามากขึ้น เรื่อย โดยวันหนึ่งมียอดสั่งซื้อเข้ามาตั้ง 300 ชิ้น ไปจนถึงหลายร้อยชิ้น ต่อวัน อย่างขนมเปี๊ยะไส้ฝอยทองอย่างเดียว ขายได้วันละ 200-300 กล่อง ในราคากล่องละ 320 บาท และไส้เผือก กับธัญพืช รวมถึงไส้ไข่ทะลัก ก็ได้รับความนิยมเช่นกัน ส่วนไส้ดั้งเดิมมีในกลุ่มคนรุ่นเก่า และงานมงคลต่างๆก็ยังคงสั่งไส้ดั้งเดิม ราคากล่องละ 250 บาท ส่วนไส้ฝอยทอง ไส้ใหม่กลุ่มลูกค้าเกือบทั้งหมดซื้อไปกิน และเป็นของฝาก แต่ส่วนใหญ่ยังจะเป็นกลุ่มผู้ใหญ่อยู่



“จุดเด่นของขนมเปี๊ยะ เราก็คือ ไส้แน่น คือ เราไม่หวงไส้ ทำให้ลูกค้าติดใจ และสั่งเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ตอนนี้ มีลูกค้าบางส่วน ที่รับขนมเปี๊ยะของเราไปขายต่อด้วย ถ้าถามว่า ปัจจุบัน มีคนทำขนมเปี๊ยะไส้มากขนาดนี้ ในตลาดหรือ ไม่ “กิตติพร” บอกว่า ไม่แน่ใจ แต่ก็ยังไม่เคยเห็นใครทำไส้ขนมเปี๊ยะมากขนาดนี้ ซึ่งตอนคิดว่าจะทำไส้ขนมต่างๆ ช่วงนั้น ไม่คิดว่าไส้บางไส้จะเข้ากันกับขนมเปี๊ยะ เช่น ฝอยทอง หรือ เผือก แต่พอทำขึ้นมาปรากฏว่า เข้ากันดีกับขนมเปี๊ยะ โดยไม่ได้ปรับอะไร ทุกอย่างทำเหมือนกับการทำขนมเปี๊ยะไส้ดั้งเดิม เปลี่ยนแค่ไส้”

ร้านขนมเปี๊ยะ ส.บุญยะวรรณ ที่ตลาดดอนเจดีย์ แห่งนี้ ถือว่า เป็นตัวอย่างของผู้ประกอบการ ที่ปรับตัวรองรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ซึ่งถ้าวันนี้ ไม่ปรับร้านขนมเปี๊ยะโบราณ ที่เกิดมากว่า 30 ปี ก็ต้องโดนดิสรัปชั่น โดยการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ เจ้าของร้านได้ปรับสูตร ของขนมโดยดูว่า คนรุ่นใหม่ต้องการะไร ปรับให้ตรงตามความต้องการของกลุ่มลูกค้า เช่น ปัจจุบันทำเบอเกอรี่ ฝอยทอง ขนมเค้กฝอยทองกันมาก เขาก็เลยนำฝอยทองมาใช้เป็นไส้ของขนมเปี๊ยะ หรือ คนรุ่นใหม่ชอบกิน เผือก มันม่วง ก็ทำไส้เผือก มันม่วง หรือ คนที่รักสุขภาพเลือกรับประทานธัญพืช ไส้ธัญพืช(ตอบโจทย์ผู้สูงอายุ) หรือ เด็ก ชอบกินช็อกโกแลต หรือ สตอเบอรี่ มีไส้ช็อกโกแลต หรือ สตอเบอรี่ เป็นต้น




อย่างไรก็ตาม การปรับตัวครั้งนี้ ถ้าไม่มีการตลาดออนไลน์ อย่างโซเชียลเน็ตเวิร์ก ก็อาจจะไม่ทำให้เราเติบโตได้รวดเร็ว หรือ เป็นที่รู้จักได้มากขนาดนี้ และโซเชียลยังช่วยทำให้เราเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศในเวลาอันรวดเร็ว แม้จะมีค่าใช้จ่ายบ้าง แต่คุ้มกับการลงทุน ซึ่งปัจจุบันยอดขายกว่า 90% มาจากการขายผ่านโซเชียล แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเราจะมีตัวช่วยในช่องทางการขาย แต่สิ่งสำคัญ อยู่ที่รสชาติด้วย ถ้ารสชาติขนมของเราไม่ดี โอกาสที่จะประสบความสำเร็จ ก็คงจะเป็นไปไม่ได้เช่นกัน






นายกิตติพร เล่าว่า สำหรับการผลิตขนมเปี๊ยะ ส.บุญยะวรรณ จะไม่มีวันนี้ ได้เลย ถ้าไม่ปรับตัว เพราะคนกินขนมเปี๊ยะลดลงเรื่อย หลังๆ แทบจะได้เฉพาะเทศกาล หรือ งานมงคลเท่านั้น ผมเองอยู่กับการทำขนมเปี๊ยะมาตลอด เพราะช่วยครอบครัวทำขนมเปี๊ยะขายมาตลอด และตอนที่คิดว่าปรับเปลี่ยนขนมเปี๊ยะ ครอบครัวมองว่า เราจะทำได้เหรอ แต่ไม่ใช่ว่าคิดจะทำก็ทำเลย เราทดลองสูตรอยู่ เกือบ ครึ่งปี ก่อนจะทำออกขายจริง ๆ และไม่ผิดหวังเพราะหลังจากเปิดตัวในโซเชียล ยอดขายเข้ามาแบบพึ่งพอใจตั้งแต่เดือนแรก และวันนี้ เกินกว่า เป้าที่วางไว้มาก สำหรับโรงผลิตขนมเล็กในต่างจังหวัด แต่คนรู้จัก และสั่งขนมและเป็นที่รู้จักไปในวงกว้าง อันนี้ เป็นความสำเร็จเกินเป้า ที่เราตั้งไว้ นอกเหนือจากยอดขายที่เกินเป้าจริงๆ









สำหรับประวัติ ขนมเปี๊ยะ มีอีกชื่อที่คนจีนมักเรียกกันว่า “ผั่วเปี้ย” เป็นขนมที่คนจีนนิยมนำมาใช้ในงานมงคลต่างๆมากมาย ไม่ว่าจะเป็นงานหมั้น งานแต่งงาน นอกจากนี้ยังถือว่าเป็นของขวัญงานมงคลต่างๆอีกหลากหลายงาน จนไปถึงใช้ในการเซ่นไหว้บรรพบุรุษ และมักใช้ประกอบในพิธีเนื่องในเทศกาลขนมไหว้พระจันทร์ของชาวจีน ซึ่งก็ใช้เป็นเครื่องเซ่นไหว้เทพเจ้า เชื่อกันว่าขนมเปี๊ยะมีความหมายที่ดีในเทศกาลนั้นๆ เพราะเป็นขนมแห่งความสิริมงคล สื่อถึงความปรารถนาดีระหว่างผู้รับกับผู้ให้ พร้อมยังเป็นขนมที่แสดงถึงความสามัคคีกัน เพราะเทศกาลไหว้พระจันทร์ชาวจีนส่วนใหญ่จะกลับมาบ้านเพื่ออยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันทั้งครอบครัว เพื่อชมพระจันทร์พร้อมทั้งรับประทานขนมเปี๊ยะที่อร่อยๆไปด้วย


นอกจากนี้ยังมีตำนานเล่าต่อๆกันเกี่ยวกับต้นกำเนิดที่ทำให้ขนมเปี๊ยะโด่งดังอีก ดังนี้

ตำนานแรก เล่าว่า สามีภรรยาคู่หนึ่งได้แต่งงานกันและฝ่ายหญิงได้ย้ายมาอยู่ที่บ้านของฝ่ายชาย ซึ่งครอบครัวนี้มีฐานะยากจนพอมาวันหนึ่งพ่อของฝ่ายสามีล้มป่วยอย่างหนักแต่ด้วยความจนทำให้ไม่มีเงินไปรักษาพยาบาล ด้วยความรักความกตัญญูที่ทั้งสองมีให้กัน ภรรยาของลูกชายจึงตอบแทนความรักด้วยการนำตัวไปขัดดอกเพื่อแลกกับเงินจำนวนมากเพื่อเอามารักษาอาการเจ็บป่วยของพ่อสามี

หลังจากที่พ่อของสามีอาการดีขึ้น ฝ่ายชายจึงหาวิธีไปไถ่ตัวภรรยากลับคืนมา ก็ได้ทำขนมเปี๊ยะซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่ตนเองมีฝีมือมากที่สุด เพื่อทำออกขายตามตลาด แรกๆคนก็ยังไม่ได้รู้จักขนมเปี๊ยะก็ยังไม่มีใครกล้าซื้อ ชายหนุ่มต้องใช้กลยุทธ์หลายวิธีในการเรียกคนมาชิมขนมเปี๊ยะ เมื่อมีหนึ่งคนมาชิมก็มีการซื้อกลับและบอกต่อปากต่อปาก จนทำให้เรียกชื่อขนมว่า “เหล่าผั่วเปี๊ยะ”




ตำนานที่สองเล่ากันว่า มีชายคนหนึ่งได้ออกไปทำงานไกลบ้านที่กวางโจวด้วยการจากบ้านไปนาน ทำให้วันหนึ่งเขาได้มีโอกาสกลับบ้าน จึงได้ส่งข่าวให้ภรรยาที่บ้านรู้ ภรรยารู้สึกดีใจจึงตั้งใจทำขนมเปี๊ยะต้อนรับสามี และเมื่อสามีได้ทานก็เกิดติดใจในรสชาดจึงได้ขอให้ภรรยาทำสำหรับนำไปฝากเจ้านายและเพื่อนๆ หลังจากที่เจ้านายและเพื่อนๆได้ทานก็เกิดติดอกติดใจ ทำให้เกิดการเล่าต่อกันมาจนได้ชื่อขนมในตอนนั้นว่า “เตี่ยจิวเหล่าผ่อเปี๊ยะ”

ดังนั้นเมื่อรวมทั้ง 2 ตำนานเข้าด้วยกัน ทำให้เห็นได้ว่าขนมเปี๊ยะจึงเปรียบเสมือนตัวแทนของความรัก ความกตัญญูที่มีต่อบรรพชน รวมไปถึงความเอื้ออาทรระหว่างสามีภรรยาที่มีต่อกัน ทำให้ขนมเปี๊ยะเป็นขนมที่คนจีนนิยมใช้ในงานมงคล ทั้งงานหมั้น งานแต่งงาน หรือเป็นของขวัญ รวมไปถึงการเซ่นไหว้บรรพบุรุษ

สนใจโทร. 087-562-4294




* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *

SMEs manager



กำลังโหลดความคิดเห็น