xs
xsm
sm
md
lg

“เห็ดแครง” สารอาหารสูง เพาะง่าย 2 สัปดาห์ เก็บขายได้ กิโลกรัมละ 250 บาท

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เห็ดแครง หรือเห็ดตีนตุ๊กแก เป็นเห็ดที่ขึ้นได้ทั่วไป ทุกภาคของประเทศไทย และงอกได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในฤดูฝนจะพบเห็ดแครงงอกตามวัสดุหลายชนิด เช่น ท่อนไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ ใบหญ้า หรือ แม้แต่กระดาษ โดยเฉพาะในภาคใต้ของประเทศไทย เพราะมีฝนตกมากกว่าในภาคอื่น




เห็ดแครงที่พบในภาคใต้ ส่วนใหญ่จะพบขึ้นอยู่บนท่อนไม้ยางพารา ที่ตัดโค่น เมื่อท่อนไม้ตาย และเมื่อฝนตกลงมาจะมีเห็ดแครงขึ้นอยู่ตามธรรมชาติจำนวนมาก อยู่ตามท่อนไม้ที่ตายแล้ว ซึ่งเป็นเห็ดที่นิยมนำมาบริโภคกันเป็นจำนวนมากในพื้นที่ภาคใต้ เพราะเป็นเห็ดที่มีสารอาหาร ที่จำเป็นต่อร่างกายมากกว่า เห็ดชนิดอื่นๆ เช่น โปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุ


นอกจากนี้ เห็ดแครง ยังมีสารสำคัญ ที่ช่วยยับยั้งการอักเสบ มีผลต่อภูมิคุ้มกัน สารที่แสดงฤทธิ์ทางชีวภาพ 2 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มโพลีแซคคาไรต์ หรือ กลัยแคน หรือ เส้นใยอาหาร และกลุ่มไอโซพรีนอยด์ ซึ่งสารโพลีแซคคาไรต์ในเห็ดแครง มีชื่อว่า ซิโซฟิลแคน ซึ่งได้รับการพัฒนาเป็นยาต้านมะเร็ง






สำหรับลักษณะของเห็ดแครง ดอกมีขนาดเล็กคล้ายพัด ผิวด้านบนเป็นสีขาว หรือ ขาวปนเทา ปลายงุ้มลงเป็นลอน แตกเป็นแฉกเล็กๆ คล้ายนิ้วเท้าตุ๊กแก เส้นผ่าศูนย์กลาง 1-3 เซนติเมตร ด้านใต้ใบครีบเรียงเป็นรัศมีออกไปจากฐาน ดอกสีครีม ก้านอยู่ด้านข้าง หรือ เกือบไม่มีก้าน สปอร์ทรงกระบอก


การนำไปทำอาหาร ในภาคใต้ นิยม นำไปทำอาหารท้องถิ่นของ เช่น แกงเผ็ด แกงคั่ว ลาบ เป็นต้น คุณค่าทางโภชนาการ โดยเห็ดแครง 100 กรัม จะมี ธาตุเหล็ก 280 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 646 มิลลิกรัม แคลเซียม 90 มิลลิกรัม ไขมัน 0.5 % และโปรตีน 17%






ทั้งนี้ เนื่องจากเห็ดแครง เป็นเห็ดสามารถ เจริญเติบโตได้ง่าย และพบเห็นได้ทั่วไป ทำให้ไม่ได้มีการพัฒนาในรูปแบบเชิงพาณิชย์ มากนัก จนกระทั่ง ได้มีผลงานวิจัยเกี่ยวกับ คุณค่าทางโภชนาการ สารอาหารสำคัญในเห็ดแครง ที่ป้องกันการเกิดมะเร็งได้ หลังจากข้อมูลได้เผยแพร่ออกไป มีหน่วยงานราชการ ร่วมกับสถาบันการศึกษา ได้มีการส่งเสริมการปลูก และรับประทาน เห็ดแครงในวงกว้าง


โดยหนึ่งในเกษตรกร ที่ประสบความสำเร็จ จากการเพาะเลี้ยงเห็ดแครง คือ ฟาร์มเห็ด ของ “นายปริยะ ศิริกุล” เล่าให้ฟังว่า ได้เริ่มเพาะเลี้ยงเห็ดแครง เมื่อประมาณ 7 ปี ที่ผ่านมา โดยตนเองและเพื่อนหุ้นส่วนอีก 2 ท่าน คือ “นายภานุวัตร กิ้มหิ้น” และ “นายธีร์กวิน ผลชนะ” ทั้งสามคน ได้ร่วมอบรมการเพาะเห็ดจาก อาจารย์ท่านหนึ่งในจังหวัดกระบี่






ทั้งนี้ อาจารย์ ได้เปิดอบรมการเพาะเลี้ยงเห็ดแครง เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้ ได้หันมาเพาะเลี้ยงเห็ดแครง เพื่อเป็นรายได้อีกทางหนึ่ง นอกเหนือ จากการทำยางพารา เพราะ การเพาะเห็ด สามารถทำควบคู่ไปกับปลูกยางพาราได้ เนื่องจากเกษตรกร สามารถเพาะเลี้ยงเห็ดแครงในสวนยางพารา ใต้ต้นยางได้ เกษตรกรมีรายได้เพิ่มจากการจำหน่ายเห็ดแครงอีกทางหนึ่ง เพิ่มจากการจำหน่ายน้ำยางพารา ปัจจุบัน เกษตรกรบางรายมีรายได้มากกว่า การปลูกยางพาราด้วย


ส่วน ข้อดีของเห็ดแครง คือ ใช้ระยะเวลาในการเพาะเลี้ยงสั้น เพียง 2-3 สัปดาห์ ก็สามารถเก็บผลผลิตได้ และเติบโตได้ง่าย ไม่จำเป็นต้องดูแล เอาใจใส่มาก แต่การเพาะเห็ดแครง เมื่อเปิดดอกแล้ว เก็บผลผลิตได้ครั้งนี้ และต้องทำก้อนเพาะเชื้อใหม่ ต้นทุนอาจจะสูงกว่าการทำเห็ดชนิดอื่นๆ แต่เมื่อเทียบระยะเวลา ต้นทุนอื่นๆ และราคาผลผลิต การทำเห็ดแครงจะได้ผลตอบแทนมากกว่า เพาะเลี้ยงเห็ดชนิดอื่นๆ บางชนิดมากถึง 5 เท่า ซึ่งราคาเห็ดแครงที่จำหน่ายในตอนนี้ ราคา กิโลกรัมละ 250 บาท






นายปริยะ กล่าวว่า ในส่วนของฟาร์มเพาะเห็ดของตนเอง และเพื่อน ทำอยู่บนพื้นที่ 2 ไร่ มีโรงเรือนเพาะเห็ด 12 โรงเรือน เดือนหนึ่ง มีผลผลิตออกมาจำหน่าย 1-2 ตัน เดิมผลผลิตที่ได้ ส่งขายสด ด้วยอายุการเก็บรักษาสั้น ทำให้ไม่สามารถขยายตลาดไปในจังหวัดอื่นๆ ได้ ตนเองและเพื่อน คิดหาวิธีแปรรูป เพื่อจะขยายตลาด และเพิ่มรายได้ โดยได้เข้าร่วมโครงการ Food Innopolis สวทช. คอยให้คำปรึกษา พร้อมทั้งให้คำแนะนำ จนสามารถแปรรูปผลผลิตเห็ดแครงได้เป็นผลสำเร็จ


โดยผลิตภัณฑ์แปรรูปเห็ดแครง ที่ได้ จะเป็นลักษณะ ของเมนูอาหารสำเร็จรูป ประกอบด้วย ลาบ แกงคั่ว ผัดไท และ เห็ดแครงลวก จุดเด่นของเห็ดแครง อยู่ที่เนื้อสัมผัส เหมือนกับการรับประทานเนื้อไก่ เหมาะกับกลุ่มลูกค้าที่กินอาหารแบบมัสวิรัตไม่รับประทานเนื้อสัตว์ หรือ ช่วงเทศกาลอาหารเจ เห็ดแครงจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง โดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศ ปัจจุบัน มีกลุ่มที่คนที่ไม่รับประทานเนื้อสัตว์ มากขึ้น สินค้าของเราน่าจะเป็นทางเลือก เพราะได้โปรตีนที่ใกล้เคียงกับการรับประทานเนื้อสัตว์






ในอนาคต มีแผนที่ทำผลิตภัณฑ์แปรรูปอื่น ๆจากเห็ดแครง เช่น แผ่นเบอเกอร์ ซาลาเปา ผงโรยข้าว เป็นต้น ตอนนี้ ได้มีการเจรจา กับคู่ค้า หลายแห่ง เพื่อนำโปรดักส์ไปวางจำหน่าย ล่าสุดได้ นำสินค้าไปเสนอกับทาง เซเว่น อีเลฟเว่น และทางบริษัทบุญรอด ส่วนตลาดต่างประเทศได้ ออกงานTHAIFEX ในช่วงต้นปี 2562 ได้ลูกค้าจากในแถบยุโรป สหรัฐอเมริกา แคนาดา อินเดีย โปรตรุเกส รัสเซีย ออสเตรเลีย สนใจ อยู่ระหว่าง การพูดคุย แต่ที่จบกันไปแล้ว คือที่ประเทศสิงคโปร์ โดยแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายที่นั่นได้แล้ว


นายปริยะ เล่าว่า ได้เริ่มทำผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเห็ดแครงได้ประมาณ 8 เดือน ภายใต้บริษัท อินโนโฟ จำกัด (บ้านเห็ดแครง) ส่วนโปรดักส์อยู่ภายใต้ชื่อแบรนด์ว่า มัดใจ ในส่วนการแปรรูป ได้ว่าจ้างผู้ผลิตที่รับจ้างผลิต ทำการผลิตให้ตามสูตรที่เรากำหนด โดยไม่ได้มีโรงงาน เป็นของตัวเอง




ในอนาคต ถ้า สามารถส่งออก และวางจำหน่ายได้ทั่วประเทศ ผลผลิตที่ได้ในฟาร์มไม่เพียงพอ ตอนนี้ ได้มีการเตรียมวางเครือข่ายเกษตรกร เริ่มจากพื้นที่ใกล้ เพื่อจะได้รับซื้อ และเข้าไปดูแลส่งเสริมการผลิตให้ได้ผลผลิตอย่างที่ต้องการได้ ซึ่งถ้าเป็นไปตามเป้า หมายถึง มีรายได้เข้าประเทศ และเกษตรกรในพื้นที่ปลูกยางพารา ได้มีรายได้มากขึ้น มีช่องทางจำหน่ายเห็ดแครงที่แน่นอน ซึ่งเป็นความสำเร็จแบบองค์รวม เกษตรกรได้ ผู้ผลิตได้ และผู้บริโภค ได้รับประทานเห็ดที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย


สนใจโทร. 08-6749-9919




* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *



กำลังโหลดความคิดเห็น