xs
xsm
sm
md
lg

สวทช.ชี้โครงการบ่มเพาะฯ สำเร็จเกินคาด สตาร์ทอัพ 16 รุ่น ไม่มีล้มหายตายจาก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นางศันสนีย์ ฮวบสมบูรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี สวทช.
ผอ.ศูนย์บ่มเพาะฯ สวทช. สานต่อ “โครงการ SUCCESS 2018 ครั้งที่ 16 คัดเลือกเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ ที่ติดปัญหา ต้องการเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจ จำนวน 40 ราย ชี้ที่ผ่านมายังไม่มีผู้เข้าร่วมโครงการล้มหายตายจาก ปีนี้ตั้งเป้าสร้างยอดขายกว่า 500 ล้านบาท จ้างงาน 600 อัตรา ยังได้จัดทุน Voucher ทุนละ 8 แสนบาท กว่า 80 รายให้สตาร์ทอัพที่มีความพร้อมเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

นางศันสนีย์ ฮวบสมบูรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี สวทช. เปิดเผยว่า ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี สวทช. ดำเนินโครงการบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี (SUCCESS) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 16 โดย SUCCESS 2018 เป็นโครงการสำหรับผู้บริหารกิจการ ผู้ประกอบกิจการซอฟต์แวร์และไอทีทุกประเภท เช่น ERP, Mobile, Enterprise, Digital content, IT Consultant, IT Services, E-learning, Game, Web ฯลฯ และผู้ประกอบการนาโนเทคโนโลยี ไบโอเทคโนโลยี และอื่นๆ ที่ต้องการเตรียมสร้างรากฐานให้องค์กรธุรกิจพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง และต้องการพันธมิตรเพื่อขยายโอกาสธุรกิจ ตลอดจนเรียนลัดจากผู้ที่เข้าร่วมโครงการ ที่ประสบความสำเร็จ

สำหรับโครงการ Success 2018 รับผู้ประกอบการทั้งเอสเอ็มอี และสตาร์ทอัพ จำนวน 40 ราย ซึ่งปีนี้ ได้รับงบฯ เพื่อใช้ในโครงการนี้ ประมาณ 2.3 ล้านบาท เมื่อจบโครงการคาดว่าผู้ประกอบการที่ผ่านการอบรม จะสามารถสร้างยอดขายได้มากกว่า 500 ล้านบาท เกิดการจ้างงานกว่า 600 อัตรา มีการลงทุนเพิ่มอีกกว่า 60 ล้านบาท และที่ผ่านมาผู้เข้าร่วมโครงการบ่มเพาะธุรกิจทั้งเอสเอ็มอี และสตาร์ทอัพ ยังไม่มีคนที่ล้มหายตายจาก ทุกคนยังอยู่ในธุรกิจทุกราย

ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมโครงการบ่มเพาะฯ ยังสามารถขอทุน ผ่านกิจการรมโครงการ Startup Voucher ให้ทุนสนับสนุนกิจกรรมการตลาดทุนละ 800,000 บาท ซึ่งผู้ที่จะขอทุนดังกล่าวได้ จะต้องผ่านการเป็นผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ มาไม่น้อยกว่า 3 ปี และมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท เพื่อจะให้ทุนอันนี้ไม่สูญเปล่า เลือกกิจการที่ทำงานจริง และเติบโตได้อย่างยั่งยืน ที่ผ่านมาได้มอบทุนไปแล้ว จำนวน 43 ทุน จากทุนตั้งเป้า 80 ทุนในปีนี้
นอกจากนี้ ในส่วนของการดำเนินโครงการบ่มเพาะฯ ทุกปีจะได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตร โดยในปีนี้มี บริษัท ซัมซุง ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ ประเทศไทย ให้การสนับสนุนเทคโนโลยี เพื่อการพัฒนาโซลูชั่นร่วมกัน และยังทำการเชื่อมต่อโอกาสทางธุรกิจ กับลูกค้าของซัมซุงทั่วเอเชีย รวมถึงมี Device Lab ไว้รองรับ การทดสอบแอปพลิเคชันต่างๆ โดยเน้นเทคโนโลยี Knox เป็นความปลอดภัยบนสมาร์ทโฟน

และยังได้รับการสนับสนุนจาก Microsoft BizSpark ที่นำชุดเครื่องมือในการพัฒนาซอฟต์แวร์ต่างๆ ให้นักพัฒนาได้ใช้อย่างเต็มเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และสุดท้ายยังได้รับการสนับสนุนจากธนาคารกรุงเทพฯ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการลงทุน นำ BuaLuangVentures มาให้กับผู้เข้าร่วมโครงการ โดยเตรียมเงินทุนให้แก่ผู้สนใจต้องการร่วมลงทุน เป็นการเปิดโอกาสร่วมลงทุน และการเติบโตทางธุรกิจของผู้เข้าร่วมโครงการด้วย

นอกจากนี้ ทางโปรแกรม ITAP ยังได้ให้การสนับสนุนทุนค่าจ้างที่ปรึกษาพัฒนากระบวนการผลิต และโครงการบัญชีนวัตกรรมไทย เพื่อเพิ่มโอกาสขายให้ภาครัฐด้วย และยังมีเงินทุนสำหรับกิจกรรมพิเศษ โดย ผู้บริหารบริษัทขนาดใหญ่มาเป็นผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษา พร้อมงบสนับสนุนกิจกรรมพิเศษ เช่น การเจรจาธุรกิจกับต่างประเทศ มากกว่า 600,000 บาท ให้ผู้ประกอบการคิดกิจกรรมที่ต้องการทำร่วมกันเป็นกลุ่ม

สำหรับตัวอย่างผู้ประกอบการ SUCCESS 2018 ที่ได้รับการจับตามองจากนักลงทุนหลายแหล่งทุน อาทิ Kids Up Smart School โดย บริษัท อาร์ติคูลัส จำกัด ซึ่ง Kids Up เป็นแอปพลิเคชันช่วยแก้ปัญหาจราจรในและหน้าโรงเรียน We Chef โดย บริษัท We Chef (Thailand) เป็นแพลตฟอร์ม Food Delivery service เปลี่ยนครัวที่บ้านให้เป็นงาน เปลี่ยนฝีมือทำอาหารให้เป็นเงิน เครื่องปั๊มนมไฟฟ้าสำหรับคุณแม่ โดย บริษัท ออดา จำกัด เครื่องมือแพทย์นวัตกรรมของคนไทย เป็นเครื่องปั๊มนมไฟฟ้า แบบแฮนด์ฟรีพร้อมระบบเชื่อมต่อ/และทองหล่อ แพลตฟอร์มเรียกช่างตัดผม และแต่งหน้าไปบริการที่บ้าน โดยบริษัท คีย์ ทองหล่อ จำกัด

นอกจากนี้ Smartcatalogue โดยบริษัท บุ๊กค์คาเซ่ จำกัด เป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยให้ SME สามารถสร้างแค็ตตาล็อกออนไลน์ได้ง่าย golfdigg โดยบริษัท กอล์ฟดิกก์ จำกัด เป็นแพลตฟอร์สำหรับอุตสาหกรรมกอล์ฟ ระบบการขาย package หรือ ticketing ที่จะโฟกัสสำหรับกลุ่มลูกค้านักกอล์ฟทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น