xs
xsm
sm
md
lg

ทิพวัฒน์ คอร์ป บุกเบิก ‘ไทยไบโอแมส’ นวัตกรรมพลังงานหนุนภาคเกษตรเข้มแข็ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


การทำกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise : SE) กำลังเป็นเทรนด์ของโลก แต่จะบริหารจัดการอย่างไรให้ธุรกิจทำกำไรได้ ขณะเดียวกันก็สร้างประโยชน์ให้สังคมด้วย นั่นคือความท้าทายสำหรับผู้ประกอบการยุคใหม่ และ วัฒนพงศ์ ทองสร้อย ผู้บริหารแห่ง บริษัท ทิพวัฒน์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ก็พยายามทำให้เห็นเป็นแบบอย่างผ่านโครงการ ไทยไบโอแมส ที่เขาตั้งเป้าจะปลุกปั้นให้เป็นกิจการเพื่อสังคมด้านพลังงานรายแรกของเมืองไทยให้จงได้

ย้อนกลับไปเมื่อ 7 ปีที่แล้ว วัฒนพงศ์กล้าที่จะทิ้งเงินเดือนเรือนแสน หันมาทุ่มทำโปรเจ็คส์ธุรกิจพลังงานทดแทนที่ยังไม่รู้อนาคตว่าจะเป็นเช่นไร แต่เขามองเห็นโอกาส เนื่องจากตลาดโลกมีดีมานด์ค่อนข้างสูง เฉพาะตลาดเชื้อเพลิงชีวมวลในประเทศก็มีมูลค่าถึง 50,000 ล้านบาทแล้ว
เขาเริ่มต้นจากการเป็นเทรดเดอร์ ซื้อมา-ขายไปในช่วง 1-2 ปีแรก ก่อนฉุกคิดได้ว่าการมีวัตถุดิบ มีโรงงานเป็นของตัวเอง น่าจะนำไปสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืนกว่า และสามารถอัพกำไรเพิ่มจาก 3% เป็น 10-20% ได้ นอกจากทุนรอนส่วนตัว เขายังเขียนแผนธุรกิจไปประกวดทั้งในและต่างประเทศ เพื่อหาทุนมาสานต่อสิ่งที่ฝันไว้ให้เป็นจริง

“ระหว่างนั้นเราก็ลงพื้นที่ไปพบเกษตรกร เพื่อส่งเสริมการปลูกไม้โตเร็ว เช่น ต้นกระถิน ที่ อ.หนองม่วง จ.ลพบุรี ที่เลือกจังหวัดนี้ เพราะเราเห็นว่าลพบุรีเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางทหาร เป็นจุดศูนย์กลางที่จะขนส่งวัตถุดิบเข้าสู่เมืองหลวงหรือเขตปริมณฑลได้ง่าย รวมทั้งรับวัตถุดิบจากภาคต่างๆ ได้ด้วย จนปี 2558 ถึงได้ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน และใบอนุญาตแปรรูปไม้ ซึ่งขอยากมาก จากนั้นจึงได้ซื้อที่ดินและสร้างโรงงาน ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกับที่ต้นไม้ที่ปลูกไว้ก็โตทันกันพอดี”
แสดงให้เห็นว่าแม้จะเป็นเอสเอ็มอีรายเล็ก แต่วัฒนพงศ์ก็มองขาดและวางแผนธุรกิจอย่างรอบคอบ รวมทั้งให้ความสำคัญกับนวัตกรรมและองค์ความรู้ อย่างบริษัทในเครือทิพวัฒน์ คอร์ป ก็ดำเนินกิจการด้านพลังงานครบทุกมิติ ตั้งแต่ด้านวิจัยและพัฒนา ด้านการผลิตเชื้อเพลิง ด้านการให้บริการชีวมวล จึงช่วยลดต้นทุนและสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันได้อย่างมาก ทั้งยังมีส่วนทำให้เขากู้เงินไปขยายโรงงานและซื้อเครื่องจักรได้ ทั้งที่มูลค่าหลักทรัพย์ไม่พอ โดยมี บสย. ช่วยค้ำในโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS6 (ปรับปรุงใหม่) และโครงการสินเชื่อ Start-up & Innovation ทำให้กิจการที่มีนวัตกรรมสามารถแจ้งเกิดได้สำเร็จ

ปัจจุบันโรงงานไบโอแมสเดินเครื่องจักรผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอย่างเต็มที่ โดยมีกำลังการผลิตอยู่ที่แสนตันต่อปี วัตถุดิบที่ใช้นอกจากไม้ที่ได้จากการส่งเสริมปลูกบนพื้นที่ 2,800 ไร่ และรับซื้อจากเกษตรกรในเครือข่าย โดยเซ็นสัญญาล่วงหน้าไว้ 3 ปี พร้อมประกันราคารับซื้อที่เป็นธรรม ยังมีการนำวัตถุดิบเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น เศษไม้ ขึ้เลี่อย หญ้าเนเปียร์ ผักตบชวา ซังและแกนข้าวโพด มาแปรรูปอีกด้วย
“สินค้าของเราจะมี 2 ตัวหลักๆ ในตลาด คือ ไม้สับ (Wood Chip) และ ชีวมวลอัดเม็ดแข็ง (Wood Pellet) ซึ่งเหมาะกับการส่งออก เพราะมีค่าความหนาแน่นสูงกว่า จึงสะดวกและประหยัดในการขนส่ง ความจริงทั่วโลกนิยมใช้เชื้อเพลิงชีวมวล ทั้งยุโรปและอเมริกา แต่เราสู้ค่าขนส่งไม่ไหว ตลาดส่งออก Wood Pellet ของเราจึงเป็นเกาหลีใต้ ตอนนี้เริ่มมีออเดอร์จากญี่ปุ่นและจีนเข้ามา ลูกค้าหลักคือโรงไฟฟ้าและตลาดภาคครัวเรือน ปัจจุบันโรงไฟฟ้าญี่ปุ่นก็ลดสัดส่วนการใช้นิวเคลียร์ลง แล้วหันมาใช้ชีวมวลในการผลิตไฟฟ้าแทนมากขึ้น ทำให้สัดส่วนตลาดส่งออกของเราตอนนี้อยู่ที่ 20% และคาดว่าจะสูงขึ้นในอนาคต”

ส่วนตลาดในประเทศที่มีสัดส่วน 80% เน้นผลิตและป้อนให้กับลูกค้ากลุ่มโรงไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้ความร้อนเพื่ออบแห้งหรือทำไอน้ำ เช่น โรงงานผลิตอาหารสัตว์ โรงอบข้าวโพด ฯลฯ โดยชีวมวลนั้นใช้ทดแทนเชื้อเพลิงแข็งอย่างถ่านหิน กะลา ปาล์ม ได้เลย แม้ราคาอาจจะแพงกว่าถ่านหิน แต่ชีวมวลมีดีกว่าตรงที่เป็นเชื้อเพลิงสะอาด ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญชีวมวลช่วยสร้างเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้กับคนในประเทศ โดยเฉพาะคนในภาคการเกษตร นอกจากนี้ กิจการพลังงานชีวมวลยังมีส่วนสนับสนุนให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันได้อย่างเข้มแข็ง รวมทั้งเข้ามามีส่วนร่วมในกิจการได้ด้วย

“สิ่งที่ควรจะทำเพื่อให้กิจการด้านพลังงานเกิดความยั่งยืนคือ ปลายน้ำต้องมีดีมานด์ที่แน่นอน กลางน้ำต้องมีกำลังในการแปรรูป และมีสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากับปลายน้ำจริง ต้นน้ำต้องปลูกและพัฒนาสายพันธุ์ เรียนรู้ที่จะทำการเกษตรรูปแบบใหม่เพื่อป้อนกลางน้ำ ถ้าทั้ง 3 ห่วงโซ่ต่อกันอย่างแข็งแรง ห่วงโซ่นี้ก็จะไม่หลุดง่ายๆ
ที่ผ่านมาเราพยายามพัฒนาต้นน้ำ กลางน้ำ ส่วนปลายน้ำ ในเมื่อยังไม่มีเงินทุนสร้างโรงไฟฟ้า เราก็อาศัยเป็นพาร์ทเนอร์กับโรงไฟฟ้าที่ญี่ปุ่น และโรงไฟฟ้าในไทย แล้วทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า 3 ปี หรือ 5 ปี เพื่อทำให้เกษตรกรเชื่อมั่นว่าปลูกแล้ว มีตลาดรองรับ รวมทั้งสร้างความมั่นใจได้ว่าภายใน 1.5-2 ปี คุณคืนทุนแน่นอน แล้วปีที่ 3- 10 คุณได้กำไรอย่างเดียว”
     แม้จะมีสวนป่าพลังงาน 2,800 ไร่อยู่ในมือ ทว่าวัตถุดิบก็ยังไม่เพียงพออยู่ดี วัฒนพงศ์ต้องการแหล่งปลูกเพิ่มอีกประมาณ 7,000 ไร่ จึงพยายามส่งเสริมการปลูกป่าเรื่อยมา ควบคู่ไปกับการพัฒนาต้นน้ำทั้ง 2 ส่วน คือ การพัฒนาสายพันธุ์ และการพัฒนาความเข้มแข็งของกลุ่มเกษตรกรและชุมชน ขณะเดียวกันเขาก็กำลังพัฒนาแอปพลิเคชั่น ‘ตลาดกลางสินค้าชีวมวล’ เพื่อให้ผู้ซื้อ-ผู้ขายมาเจอกัน ถือเป็นการช่วยสร้าง Ecosystem ของตลาดเชื้อเพลิงชีวมวลให้แข็งแรงยิ่งขึ้น
“ในระยะสั้นเราคงต้องมุ่งดำเนินกิจการให้อยู่รอด เพื่อที่จะได้ช่วยเหลือเกษตรกรไปในตัว แต่ในระยะยาว ถึงเราจะทำกิจการเพื่อสังคม แต่ต้องเป็นกิจการที่ทำกำไรด้วย โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะเป็นกิจการเพื่อสังคมด้านพลังงานรายแรกของเมืองไทย ที่ทุกคนได้ประโยชน์อย่างเป็นธรรม คาดว่าจะสร้างยอดขาย 50-75 ล้านต่อปี และยกระดับสู่ 100 ล้านให้ได้” วัฒนพงศ์กล่าว

ติดต่อ บริษัท ทิพวัฒน์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด โทร. 081-822-4390 เว็บไซต์ http://www.thaibiomass.com/
บทความโดย: บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) (www.tcg.or.th)


* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *

SMEs manager



กำลังโหลดความคิดเห็น