xs
xsm
sm
md
lg

มข.ขึ้นแท่น 1 ใน 3 กวาดรางวัล Startup ระดับชาติมากที่สุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นศ.มหาวิทยาลัยขอนแก่นโชว์ไอเดีย สร้างสรรค์เทคโนโลยี นวัตกรรม กวาดรางวัลเวที Startup Thailand League 2018 ขึ้นแท่น 1 ใน 3 สถาบันที่ได้รับการสนับสนุนเงินรางวัลเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์มากที่สุด

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) จัดการแข่งขัน STARTUP Thailand League ระดับอุดมศึกษา และ STARTUP Thailand Pitching Challenge ระดับบุคคลทั่วไป เพื่อเฟ้นหาสุดยอดสตาร์ทอัพ โดยปีนี้รอบคัดเลือกจัดการแข่งขันใน 4 ภูมิภาค ได้แก่ เวทีภาคใต้ ที่จังหวัดสงขลา เวทีภาคเหนือ ที่จังหวัดเชียงใหม่ เวทีภาคกลาง ที่กรุงเทพมหานคร และเวทีสุดท้าย ที่จังหวัดขอนแก่น ณ อาคารพจน์ สารสิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมี ดร.อภิชัย สมบูรณ์ปกรณ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในพิธีเปิดงาน Startup Thailand League และ Startup Thailand Pitching Challenge Northeastern

ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า การแข่งขัน Startup Thailand League ในเวทีสุดท้ายที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นนี้มีนักศึกษาหลายทีมจากสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศเข้าแข่งขัน โดยทีมในนามมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่นำเสนอผลงานผ่านการอนุมัติได้รับเงินทุนสนับสนุน จำนวนเงินทีมละ 25,000 บาท และมีโอกาสได้สร้างต้นแบบผลิตภัณฑ์เพื่อแสดงในงาน Demo Day ต่อไป ในโครงการการแข่งขัน Startup ระดับประเทศ (Startup Thailand League) ประจำปี 2561 มี 13 ทีม ได้แก่

1) ทีม Marshmallow แอปพลิเคชัน Tutero ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างผู้เรียนกับติวเตอร์ โดยผู้เรียนจะสามารถค้นหาติวเตอร์ตามปัจจัยที่ต้องการ ผลงานของนักศึกษาวิทยาลัยนานาชาติ และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

2) ทีม Smart watt meters จัดทำระบบมาตรวัดการใช้น้ำและไฟฟ้า ผ่านเครือข่าย Wi-Fi พร้อมแอปพลิเคชันและซอฟต์แวร์ในการบริหารจัดการใบเสร็จรับเงิน ซึ่งจะสามารถแจ้งเตือนไปยังแอปพลิเคชันได้ พร้อมสามารถจ่ายผ่าน payment ได้ทันที ผลงานของนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

3) ทีม JTN แอปพลิเคชัน E-la (Event - local area) ใช้แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวตามเทศกาลงานต่างๆ ในภาคอีสาน พร้อมบอกวันที่ ช่วงเวลา รวมทั้งเส้นทาง ที่พัก และประเมินราคาค่าใช้จ่าย อีกทั้งระบบการป้อนข้อมูล มีทั้งระบบเสียงที่สามารถรองรับได้หลายภาษา ผลงานของนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

4) ทีม Watch me Stone Board (Digital Magnet Board) ที่มีต้นแบบการทำงานมาจากกระดานแม่เหล็กเด็กเล่นผสมดิจิตอล ผลิตจากเม็ดพลาสติกรีไซเคิล ควบคุมด้วย Application Stone Board ผลงานของนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
โฉมหน้า ของ น้องนักศึกษา มข. ที่ได้รับรางวัล Startup ทั้ง 13 รางวัล
5) ทีม Worker แอปพลิเคชันที่จับคู่กันระหว่างผู้ว่าจ้างงานชั่วคราว กับผู้ที่ต้องการหางานรับจ้างรายวันหรือชั่วคราว ในรัศมีใกล้เคียงแบบ Real-time ซึ่งราคาว่าจ้างนั้นทางผู้จ้างสามารถกำหนดได้เองหรือขึ้นอยู่กับการตกลงกันกับผู้รับจ้างผลงานของนักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และคณะอุตสาหกรรมบริการ วิทยาลัยดุสิตธานี

6) ทีม Food de tech จัดทำ Platform ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานควบคุมการรับประทานอาหารได้อย่างถูกต้อง และยังสามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะโรคแทรกซ้อนต่างๆ ได้ ผลงานของนักศึกษามหาวิทยาลัยนครพนม

7) ทีม Folkways Platfrom เพื่อรวบรวมสถานที่ท่องเที่ยว โฮมสเตย์ ที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน และใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักเพื่อให้ชาวต่างชาติเข้าถึงได้ง่าย ผลงานของนักศึกษามหาวิทยาลัยนครพนม

8) ทีม Krixxi จัดทำ Placement ที่ให้บัณฑิตจบใหม่มีช่องทางในการหาช่างภาพเพิ่มมากยิ่งขึ้นในช่วงรับ ซึ่งในการใช้งานจะเป็นระบบแบบ Booking เพื่อที่จะให้ทราบตารางงานของช่างภาพที่แน่ชัด และสามารถค้นหาช่างภาพในแต่ละพื้นที่ได้ ผลงานของนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

9) ทีม Just Mine จัดทำ Platform ขุดเหรียญสกุลเงินดิจิตอลประเภทเหรียญทางเลือก (Alt Coins) ผลงานของนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

10) ทีม MVP แอปพลิเคชัน Lugglad บริการรับฝากสัมภาระหรือกระเป๋าของนักท่องเที่ยว ตั้งอยู่ภายในสนามบิน พร้อมทั้งยังมีบริการรับ-ส่งสัมภาระไปยังที่พักหรือโรงแรมของลูกค้า ผลงานของนักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น
11) ทีม GREEN VE ผลิตภัณฑ์ผงล้างผักประสิทธิภาพสูง ปลอดภัย ช่วยลดสารพิษตกค้าง และจุลินทรีย์ปนเปื้อนในพืชผัก จากการทดสอบสามารถลดสารพิษตกค้างในผักได้เกิน 95% ผลงานของนักศึกษาคณะเกษตรศาสตร์ และคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น

12) ทีม EZRA จัดทำ Qual Insect ระบบโรงเรือนอัจฉริยะ ที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้เลี้ยงแมลง เพื่อเข้ามาช่วยดูแลระบบการเลี้ยงให้มีมาตรฐานมากขึ้น ผลงานของนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ และคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น

13) ทีม VRGO แอปพลิเคชัน VRNatomy ทดลองผ่าตัดเสมือนจริงได้ด้วยการสวมใส่ VR และใช้ Joystick แทนมีดในการผ่าตัดร่างกายและทางการศึกษาแต่ละส่วนของร่างกาย ผลงานของนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ และคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ด้าน นายทศพร ไชยชมภู คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จากทีม Smart watt meters เผยว่า “โครงการนี้ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีในการที่เราได้เอา ความคิด ความฝัน ไปนำเสนอ เพื่อให้เราได้มีโอกาส แต่งเติมปรับปรุง ทำให้ความคิดนั้นเป็นจริงขึ้นมาได้ สำหรับนักสร้างสรรค์ ที่ไม่รู้จะเริ่มตรงไหน startup คือโอกาสที่อยู่ใกล้มือคุณ”

ผลการแข่งขันดังกล่าว มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็น 1 ใน 3 มหาวิทยาลัยที่มีนักศึกษาได้รับรางวัลมากที่สุดในเวที Startup Thailand league 2018 ซึ่งเวทีนี้เป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีไอเดียได้สร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ เรียนรู้การจัดทำแผนการตลาดที่สร้างให้ธุรกิจสตาร์ทอัพสามารถเกิดขึ้นได้จริง ซึ่งจะช่วยผลักดันให้เกิดการพัฒนาด้านเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *



กำลังโหลดความคิดเห็น