xs
xsm
sm
md
lg

พาณิชย์เผยยอดจดทะเบียนธุรกิจโตต่อเนื่อง คาดปี 61 เพิ่มไม่ต่ำกว่า 75,000 ราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์
“กรมพัฒนาธุรกิจการค้า” เผยยอดจดทะเบียนตั้งใหม่ทั่วประเทศ เดือนมีนาคมและไตรมาสแรกปี 61 พบโตขึ้นต่อเนื่อง จากภาวะเศรษฐกิจขยายตัว กสรลงทุนภาครัฐ ส่งผลธุรกิจก่อสร้างจดทะเบียนมากสุด คาดปี 61 แนวโน้มการจดทะเบียนจัดตั้งใหม่เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 75,000 ราย

นางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยยอดการจดทะเบียนธุรกิจและการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ ประจำเดือนมีนาคม 2561 และไตรมาส 1/2561 โดยพบว่ามีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศ ในเดือนมีนาคม 2561 จำนวน 6,728 ราย เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2561 จำนวน 6,356 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 372 ราย คิดเป็นร้อยละ 6 และเมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2560 จำนวน 6,772 ราย ลดลงจำนวน 44 ราย คิดเป็นร้อยละ 1

โดยประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 615 ราย คิดเป็นร้อยละ 9 รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 417 ราย คิดเป็นร้อยละ 6 และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร จำนวน 167 ราย คิดเป็นร้อยละ 2 ตามลำดับ มีมูลค่าทุนธุรกิจจัดตั้งใหม่ ในเดือนมีนาคม 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 25,255 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2561 จำนวน 17,636 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 7,619 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 43 และเมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2560 จำนวน 26,641 ล้านบาท ลดลงจำนวน 1,386 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 5

ขณะที่ธุรกิจจัดตั้งใหม่ไตรมาส 1/2561 พบมีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศ ไตรมาส 1/2561 (ม.ค.-มี.ค.) จำนวน 20,049 ราย เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2560 (ต.ค.-ธ.ค.) จำนวน 18,905 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 1,144 ราย คิดเป็นร้อยละ 6 และเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2560 จำนวน 18,802 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 1,247 ราย คิดเป็น ร้อยละ 7 โดยธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 1,854 ราย คิดเป็นร้อยละ 9 รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 1,179 ราย คิดเป็นร้อยละ 6 และธุรกิจภัตตาคาร / ร้านอาหาร จำนวน 522 ราย คิดเป็นร้อยละ 3 ตามลำดับ

ส่งผลให้ทุนธุรกิจจัดตั้งใหม่ ในไตรมาส 1/2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 60,831 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2560 จำนวน 255,169 ล้านบาท ลดลงจำนวน 194,338 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 76 และเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2560 จำนวน 70,122 ล้านบาท ลดลงจำนวน 9,291 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 13

โดยช่วงทุนที่มีจำนวนรายธุรกิจจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศมากที่สุด ได้แก่ ช่วงทุนไม่เกิน 5 ล้านบาท มีจำนวน 19,706 ราย คิดเป็นร้อยละ 98.29 รองลงมา คือ ช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท มีจำนวน 298 ราย คิดเป็นร้อยละ1.49 และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท จำนวน 45 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.22

ส่วนจำนวนธุรกิจเลิกประกอบกิจการ มีจำนวน 928 ราย เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2561 จำนวน 810 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 118 ราย คิดเป็นร้อยละ 15 และเมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2560 จำนวน 1,167 ราย ลดลงจำนวน 239 ราย คิดเป็นร้อยละ 20 โดยประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 99 ราย คิดเป็นร้อยละ 11 รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 65 ราย คิดเป็นร้อยละ 7 และธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการจัดการ จำนวน 23 ราย คิดเป็นร้อยละ 2 ตามลำดับ

นางกุลณีกล่าวเพิ่มเติมว่า สาเหตุหลักที่ยอดการจดทะเบียนธุรกิจเพิ่มขึ้นในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-มี.ค. 61) นั้น เป็นผลมาจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2560 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากธุรกิจการก่อสร้างที่มีแนวโน้มในการขยายตัวสูงขึ้น จากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ด้านโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่คาดว่าเริ่มดำเนินการได้ในปีนี้ อีกทั้งแนวโน้มการบริโภคภายในประเทศที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง สืบเนื่องจากกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชนผ่านโครงการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยระยะ 2 ซึ่งเป็นการต่อยอดจากโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐปี 2560 เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานราก รวมทั้งภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่องเช่นกัน ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาคธุรกิจการค้าและภาคธุรกิจบริการ เอสเอ็มอี มีบทบาทอย่างมาก กรมฯ จึงคาดว่าจะมีแนวโน้มการจดทะเบียนจัดตั้งใหม่เพิ่มขึ้นในปี 2561 โดยไม่น้อยกว่า 75,000 ราย
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *




กำลังโหลดความคิดเห็น