xs
xsm
sm
md
lg

แนะรัฐหาทางออกความปลอดภัยการเกษตร หวั่นสูญรายได้ 1.2 ล้านล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ ร่วมกับมูลนิธิโครงการหลวง สภาหอการค้าไทย สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย และอดีตที่ปรึกษาปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อดีตนายกสมาคมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทย จัดเสวนาทางออกของประเทศไทย ความปลอดภัยทางการเกษตร

หลังจากบางหน่วยงานนำเสนอข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน ขาดข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ สร้างความตื่นตระหนกและไม่มั่นใจในการบริโภค รวมถึงกระทบต่อเกษตรกรรายย่อยกว่า 10 ล้านราย ราคาสินค้าตกต่ำ ขายไม่ได้ ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ลุกลามไปยังภาคอุตสาหกรรมการผลิตอาหารและแปรรูปทั้งกลุ่มอาหารคนและสัตว์ จนถึงภาคการส่งออกของประเทศ หวั่นสูญรายได้ 1.2 ล้านล้านบาท

ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต นายกสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ เปิดเผยว่า ประเทศไทยในฐานะครัวของโลก ส่งออกสินค้าเกษตรกรรมไปจำหน่ายยังต่างประเทศมากกว่า 200 ประเทศ นำรายได้เข้าสู่ประเทศปีละ 1.2 ล้านล้านบาท แต่จุดอ่อนของเกษตรกรรมไทยต้องประสบปัญหาการคุกคามจากศัตรูพืช โดยเฉพาะวัชพืชตลอดทั้งปี ดังนั้น การเลือกใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชถือเป็นเทคโนโลยีปัจจัยการผลิตหนึ่งที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถผลิตสินค้าได้ตรงตามความต้องการของตลาดในและต่างประเทศ แต่ในทางกลับกัน สารเคมีที่เกษตรกรใช้เป็นอาวุธป้องกันผลผลิต เช่น พาราควอต กลับถูกมองเป็นจำเลยสังคมไทย เพราะมีการนำเสนอข้อมูลที่ขาดข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ และไม่ครบถ้วน สมาคมฯ ในฐานะที่อยู่ในวงการเกษตร และยึดหลักการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นหลัก จึงได้จัดจัดเสวนาในครั้งนี้เพื่อเป็นการเสนอทางออกผ่านมุมมองของนักวิชาการ และผู้อยู่ในวงการเกษตร โดยคำนึงถึงบริบททางสังคม วิทยาศาสตร์ ความเป็นไปได้ ณ ปัจจุบันในการพัฒนาภาคเกษตรของไทยให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน

รศ.ดร.นุชนาฏ จงเลขา ผู้อำนวยการศูนย์อารักขาพืช มูลนิธิโครงการหลวง กล่าวถึงมาตรฐานการผลิตว่า “ผลผลิตของโครงการหลวงมีมาตรฐานสูง มีกระบวนการให้ความรู้และคัดสรรสมาชิกหรือเกษตรกรในโครงการ ซึ่งผู้เข้าร่วมจะต้องปฏิบัติตามกฎของโครงการ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีมาตรฐาน ตามแบบสากล ไม่ว่าจะเป็นระบบ GAP (Good Agriculture Practice) ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับสูง และ Global GAP มาตรฐานระดับโลก ซึ่งต้องมีการควบคุมการใช้สารกำจัดวัชพืช เช่น พาราควอต ที่เป็นปัจจัยการผลิตพื้นฐานที่สำคัญของเกษตรกรก็เช่นกัน แต่ที่ผ่านมาก็มีการนำเสนอข้อมูลจากบางหน่วยงานที่ขาดข้อเท็จจริง ส่งผลกระทบต่อกลุ่มสมาชิกเกษตรกรโครงการถูกปฏิเสธการรับซื้อสินค้าเป็นจำนวนมาก จึงอยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง พิจารณาข้อมูลต่างๆ บนพื้นฐานด้านวิชาการ มีความรู้ ความชำนาญ และการตรวจสอบ ควรใช้ห้องปฏิบัติการที่ได้รับรองมาตรฐานด้านการวิเคราะห์ การนำเสนอข้อมูลในเชิงลบ ก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงต่อเกษตรกรผู้ผลิต และการส่งออก ดังนั้น การนำเสนอข้อมูลในเชิงลบแบบนี้จำเป็นต้องพิจารณาให้รอบคอบ”

นายชูศักดิ์ ชื่นประโยชน์ รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเด็นเรื่องความปลอดภัยทางการเกษตรเป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วน ทั้งเกษตรกรผู้ใช้ กลุ่มพ่อค้าคนกลาง ภาครัฐ และประชาชน ปัจจุบันมีระบบที่คอยช่วยเหลือเกษตรให้สามารถใช้สารเคมีได้อย่างถูกต้อง สารเคมีไม่ใช่ศัตรูตัวร้าย แต่หลายคนไปวางภาพให้เป็นเช่นนั้น จริงๆ ในทุกวันชีวิตคนเราต้องเผชิญกับสารเคมีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าการเผชิญนั้นมนุษย์เรารู้จักป้องกันหรือรู้จักใช้แค่ไหน ชีวิตปัจจุบันเป็นโลกของวิทยาศาสตร์แล้ว เป็นไปไม่ได้ที่จะปราศจากสารเคมี การใช้อย่างถูกต้องจะไม่มีผลต่อความปลอดภัยและการตกค้างในผลผลิต จากข่าวที่มีผู้หยิบยกการปนเปื้อนของสารกำจัดวัชพืชที่ว่าพบสารพาราควอตปนเปื้อนในผักมากมาย แต่ความเป็นจริงแล้วยังไม่เคยมีประเทศคู่ค้าตีกลับสินค้าเนื่องจากการปนเปื้อนพาราควอต หรือสารกำจัดวัชพืชชนิดอื่นๆ เลย ดังนั้น การนำเสนอข่าวแบบนี้จะส่งผลกระทบถึงความเชื่อมั่นและกระทบการส่งออกของประเทศ

นายประสาท เกศวพิทักษ์ อดีตที่ปรึกษาปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อดีตนายกสมาคมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า “เกษตรกรส่วนใหญ่ในประเทศไทยเป็นเกษตรกรรายเล็ก จำเป็นที่จะต้องได้รับความช่วยเหลือให้สามารถยู่รอดได้อย่างยั่งยืน ทุกภาคส่วนต้องโดยคำนึงถึงเกษตรกรเป็นหลัก หลายเรื่องอาจคิดว่าสามารถแก้ปัญหาได้ง่าย แต่ความเป็นจริงเกษตรกรมีข้อจำกัดหลายด้าน เช่น ไม่มีพื้นที่ทำกินเป็นของตนเอง เงินทุน การเข้าถึงแหล่งทุน ที่ผ่านมาการนำเสนอข่าวอย่างไม่ครบถ้วน ทำให้เกิดความสับสน อย่างเรื่องการจะยกเลิกสารพาราควอต นั่นคือเรื่องใหญ่ เพราะกระทบกับพืชเศรษฐกิจของประเทศ กระทบกับเกษตรกรจำนวนกว่าสิบล้านคน เมื่อผลกระทบเกิดในวงกว้าง ยิ่งต้องดูให้รอบคอบ อยากฝากถึงผู้รับผิดชอบให้พิจารณาถึงเกษตรกรรายย่อย ทำอย่างไรให้เขาสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน ในต้นทุนที่ไม่เพิ่มขึ้น”

นายสุกรรณ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย กล่าวทิ้งท้ายว่า “ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ได้พยายามสร้างความรู้และความเข้าใจให้แก่กลุ่มต่างๆ ทั้งภาคเกษตรกร สังคม และภาครัฐ ในประเด็นความปลอดภัยทางการเกษตร และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเกษตรกร และเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะเรื่องพาราควอต แต่บางหน่วยงานโดยเฉพาะกลุ่มเอ็นจีโอกลับให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน ขาดข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ นับเวลาร่วม 1 ปี ส่งผลให้เกษตรกรรายย่อยอย่างพวกเรา ประสบปัญหามาอย่างต่อเนื่อง ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น เกิดการปฏิเสธรับสินค้า สินค้าราคาตก จึงอยากให้ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง พิจารณาหาทางออกที่เหมาะสม บนพื้นฐานของความเป็นจริง โดยต้องคิดถึงเกษตรกรเป็นลำดับแรก ในฐานะผู้ผลิตและเป็นกระดูกสันหลังของชาติ”

บทสรุปข้อเสนอแนะ ทางออกของประเทศไทย ความปลอดภัยทางการเกษตร ขอให้หน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบในการนำข้อมูลไปตัดสินหรือพิจารณาในการกำหนดแนวทางเพื่อทำให้เกิดความปลอดภัยของภาคเกษตร ดังนี้

1) ทุกฝ่ายต้องช่วยกันสนับสนุนให้เกษตรกรมีความรู้ เรื่องมาตรฐานการผลิต และการใช้อย่างปลอดภัย 2) าครัฐต้องมีการเฝ้าระวัง และตรวจสอบความปลอดภัยทางอาหาร และผลผลิต และมีการรายงานผลเพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่น 3) การจะยกเลิกสารเคมีที่เป็นปัจจัยการผลิตพื้นฐานของเกษตรกร เช่น พาราควอต ต้องพิจารณาด้วยความรอบครอบ ควรไปแนะนำเกษตรกรให้ใช้พาราควอตได้อย่างถูกต้องมากกว่าการจะยกเลิก 4) การเสนอข่าวในแง่ลบ โดยยังไม่พิจารณาให้รอบคอบ ส่งผลกระทบต่อเกษตรกร และการส่งออกทันที จึงขอให้เอ็นจีโอได้ระมัดระวังในการนำเสนอข่าว เพราะการตรวจสอบเรื่องสารตกค้างต้องเป็นผู้ชำนาญในการตรวจวิเคราะห์ และการตรวจสอบต้องผ่านห้องปฏิบัติการที่ได้รับรองมาตรฐานด้านการวิเคราะห์จึงจะมีความน่าเชื่อถือ

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *



SMEs manager



กำลังโหลดความคิดเห็น