กระทรวงอุตสาหกรรมเผยคืบหน้าโครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรในภูมิภาค (โอ-ปอย) ปี 2550-2559 ตลอด 9 ปี ลดต้นทุน สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจมากถึง 4,455 ล้านบาท จากงบประมาณ 354.6 ล้านบาท พร้อมลงพื้นที่เยี่ยมสถานประกอบการประสบความสำเร็จ 2 แห่ง บริษัท เฉาก๊วยสงขลาชากังราว จำกัด จังหวัดสงขลา และ บริษัท เห็ดทอดนาโหนด ฟู้ดส์ จำกัด จังหวัดพัทลุง
นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผย ความคืบหน้าโครงการโอ-ปอย โครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรในภูมิภาค ตามนโยบาย One Province One Agro-Industrial Product หรือ OPOAI (โอ-ปอย) ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรม ว่า ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาในปี 2559 ภายในระยะเวลา 1 ปี สามารถลดต้นทุน เพิ่มรายได้ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้สถานประกอบการ โดยสามารถวัดมูลค่าเชิงเศรษฐกิจเป็นตัวเงินได้กว่า 326 ล้านบาท ซึ่งหากเปรียบเทียบกับวงเงินงบประมาณที่ใช้ในการพัฒนา 31.6 ล้านบาท ให้ผลประโยชน์มากถึง 10.32 เท่าของวงเงินงบประมาณ มีผู้เข้าร่วมโครงการ 135 ราย เฉลี่ยแต่ละรายสามารถลดต้นทุนเพิ่มรายได้และสร้างมูลค่าเพิ่มรายละ 2.41 ล้านบาท
ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปี 2559 สามารถลดต้นทุนเพิ่มรายได้และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สถานประกอบการได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยสามารถวัดมูลค่าเชิงเศรษฐกิจเป็นตัวเงินได้กว่า 4,455 ล้านบาท จากวงเงินงบประมาณรวมทั้งหมดที่ได้รับ 354.6 ล้านบาท ให้ผลประโยชน์มากถึง 12.56 เท่าของวงเงินงบประมาณ มีสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการจำนวนกว่า 1,334 ราย เฉลี่ยแต่ละรายสามารถลดต้นทุนเพิ่มรายได้ และสร้างมูลค่าเพิ่มได้ 3.34 ล้านบาท
นายสมชายกล่าวต่อว่า ประโยชน์ที่ทางสถานประกอบการได้รับโดยตรงที่เห็นเด่นชัดมากที่สุดคือ ได้รับรู้ถึงข้อบกพร่องของสถานประกอบการเองว่ามีข้อบกพร่องอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการผลิต การบริหารงาน และอื่นๆ ที่บางครั้งสถานประกอบการเอง อาจจะมองไม่เห็นข้อบกพร่องนั้นๆ นอกจากนี้ยังได้รับการพัฒนาและแก้ไขจุดบกพร่องนั้นเป็นการเฉพาะจุดจริงๆ
สำหรับในปีงบประมาณ 2560 มีสถานประกอบการ SMEs อุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 200 ล้านบาท ในพื้นที่ 76 จังหวัดทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการจำนวน 171 ราย จำนวนแผนงาน 260 แผนงาน ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างสรุปผลสัมฤทธิ์ที่ได้รับจากการดำเนินโครงการ
ล่าสุดบริษัทได้เข้าเยี่ยมชมผลการดำเนินงานของสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ 2 แห่ง คือ บริษัท เฉาก๊วยสงขลาชากังราว จำกัด จังหวัดสงขลา และ บริษัท เห็ดทอดนาโหนด ฟู้ดส์ จำกัด จังหวัดพัทลุง ทั้ง 2 รายเป็นสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการในปี 2560 และเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของโครงการได้เป็นอย่างดี ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปพัฒนาตนเองได้อย่างเป็นรูปธรรม
นายวีรพัฒน์ ปรางค์ศรีทอง ผู้จัดการ บริษัท เฉาก๊วยสงขลาชากังราว จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจประเภทอุสาหกรรมอาหาร ผลิตแปรรูปเฉาก๊วยพร้อมรับประทาน สำหรับบริษัทเริ่มต้นธุรกิจในปี 2558 ด้วยทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท จัดจำหน่ายผ่านตัวแทนในประเทศ มียอดจำหน่าย 500,000 ถุงต่อปี (เมื่อปี 2558) โดยมีตลาดในประเทศ 95% ต่างประเทศ 5% โดยนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศอินโดนีเซีย 80% ภายในประเทศ 20% มียอดขาย 3,385,000 บาท/ปี เข้าร่วมโครงการโอ-ปอยในปี 2560 จำนวน 2 แผนงาน ประกอบด้วย
แผนงานที่ 3 การปรับปรุงคุณภาพและการพัฒนางาน จากการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงสถิติพบว่า การปรับตั้งค่าน้ำหนักเกินของเนื้อเฉาก๊วยบรรจุและน้ำเชื่อมมากเกินไป ทำให้ไหลลงในการบรรจุปริมาณมาก และสาเหตุที่เนื้อเฉาก๊วยมีขนาดใหญ่เกินไปในขั้นตอนการตัด ซึ่งทีมงานได้ทำการแก้ไข และลดค่าปรับตั้งน้ำหนัก และปรับตั้งค่าเนื้อเฉาก๊วยที่ 90 กรัม โดยเฉลี่ยล่าสุดน้ำหนักบรรจุรวมอยู่ที่ 193 กรัม และสามารถบรรจุได้เพิ่มขึ้นประมาณ 200 ถุงต่อวัน สามารถลดต้นทุนได้มูลค่า 378,000 บาท/ปี หรือ 14% นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงปัญหาถุงแตกขณะซีล แก้ไขโดยปรับลดความเร็วในการซีลลง ซึ่งสามารถลดความสูญเสียได้มูลค่า 127,800 บาท/ปี รวม 2 กิจกรรมสามารถลดต้นทุน เพิ่มรายได้ให้สถานประกอบการได้ 505,800 บาท/ปี
แผนงานที่ 4 ลดต้นทุนพลังงาน โดยจัดทำโครงการลดพลังงานไฟฟ้าของเครื่องทำน้ำเย็น ตั้งค่าอุณหภูมิน้ำให้สูงขึ้นจาก 10 องศาเซลเซียส เป็น 15 องศาเซลเซียส ใช้เวลาประมาณ 30 นาที จึงจะได้อุณหภูมิน้ำเชื่อมที่ 25 องศาเซลเซียส ซึ่งทันต่อการสั่งซื้อในแต่ละวันเฉลี่ย 15,000 ถุงต่อวัน ทําให้ลดพลังงานของ Chiller เท่ากับ 35,164.80 บาท/ปี ทําให้ลดพลังงานไฟฟ้าลงได้ 13.89% และลดเวลาการทำงานของ Boiller ให้มาอยู่ที่ 15 นาที ทำให้ประหยัด 24.55 กิโลกรัม/ครั้งหรือเท่ากับ 537 บาท/วัน คิดเป็นมูลค่ารวม 193,331.025 หรือลดลง 33.98% รวม 2 กิจกรรมสามารถลดต้นทุน เพิ่มรายได้ให้สถานประกอบการได้ 228,496.05 บาท/ปี
นายชัยยงค์ คชพันธ์ ผู้จัดการบริษัท เห็ดทอดนาโหนด ฟู้ดส์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจผลิตภัณฑ์เห็ดนางรมทอด และผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูป Delong กาแฟข้าว ดำเนินกิจการในปี 2522 ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท มียอดขายผลิตภัณฑ์เห็ดนางรมทอดรวมในปี 2559 เท่ากับ 7,800,000 บาท ช่องทางการจัดจำหน่าย ผู้ขายว่าจ้างผลิต 90% ขายให้ผู้บริโภคโดยตรง 10% จำหน่ายในประเทศ 95% ต่างประเทศ 5% ใช้วัตถุดิบในประเทศทั้งหมด โดยเลือกเข้าโครงการโอปอยใน 2 แผนงาน ประกอบด้วย
แผนงานที่ 2 การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เลือกปรับปรุงสินค้าเห็ดนางรมทอด ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มียอดจำหน่ายมากที่สุด และจากการวิเคราะห์พบว่า เดิมไม่ได้มีการชั่งน้ำหนักของวัตถุดิบที่จะนำมาทอด และการตั้งความแรงของแก๊สจะต้องอาศัยความชำนาญของพนักงาน เพื่อให้สามารถทอดเห็ดให้สุกได้พอดี และเพื่อให้กระบวนการผลิตเป็นไปอย่างมีมาตรฐาน จึงกำหนดให้มีการชั่งน้ำหนักของวัตถุดิบก่อนนำมาทอด ควบคุมอุณหภูมิ เพื่อลดเวลาในกระบวนการทอดให้สั้นลง และเปลี่ยนหัวเตาแก๊สเป็น KB-10 ซึ่งก่อนปรับปรุงมีกำลังการผลิต 31,663.99 กิโลกรัม/ปี คิดเป็นมูลค่า 2,533,119.05 บาท/ปี หลังการปรับปรุงมีกำลังการผลิต 35,809.02 กิโลกรัม/ปี คิดเป็นมูลค่า 2,864,721.49 บาท/ปี สามารถเพิ่มปริมาณการผลิตได้คิดเป็นมูลค่า 331,602.43 บาท/ปี หรือเพิ่มขึ้น 11.58%
ในแผนงานที่ 6 กลยุทธ์ขับเคลื่อนการตลาด สำหรับกาแฟสำเร็จรูป Delong อีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ จากการวิเคราะห์ปัญหาเบื้องต้น มีการประชาสัมพันธ์น้อย โดยเฉพาะช่องทางผ่านระบบออนไลน์ ไม่มีเว็บไซต์ ช่องทางการจัดจำหน่ายน้อย ขาดการกำหนดกลยุทธ์ และมียอดขายที่ลดลงกว่า 30% แต่ภายหลังมีมาตรการปรับปรุง โดยทำประชาสัมพันธ์ผ่านภาพยนตร์ “มหาลัยวัวชน” ที่เป็นกระแสของคนภาคใต้ นำผลิตภัณฑ์เข้าจำหน่ายที่ไปรษณีย์ และสร้างการรับรู้ของกาแฟข้าวสังข์หยดไปยังกลุ่มเป้าหมาย โดยการทำ Clip ผ่าน Facebook และ YouTube ทำให้มียอดขายเพิ่มขึ้น คิดเป็นมูลค่า 2,623,316 บาท หรือเพิ่มขึ้น 13.52%
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *