สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ร่วมกับ ม.หอการค้าไทย ประเมินผลกระทบงบประมาณของรัฐและคาดการณ์ทิศทางเศรษฐกิจใน 20 ปีข้างหน้าทำให้ไทยหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง ชี้ไทยต้องมีการเติบโตภาคอุตฯ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 4.5 ต่อปี ลงทุนเติบโตไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ต่อปี ส่งออกไม่น้อยกว่าร้อยละ 8 และมีนักรบพันธุ์ใหม่ 150,000 ราย คาดการณ์ปี 2561 GDP ขยายตัวร้อยละ 0.85 อุตฯ ที่มีการขยายตัวแปรรูปอาหาร อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้ร่วมกับศูนย์การศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดการเสวนา Morning Talk ภายใต้โครงการ Intelligence Unit ในหัวข้อ “ส่องอนาคต 10 อุตสาหกรรม S-Curve” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลกระทบจากงบประมาณใช้จ่ายของรัฐในแผนบูรณาการพัฒนาอุตสาหกรรมศักยภาพปี 2560 และปี 2561 รวมถึงคาดการณ์ทิศทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมใน 20 ปีข้างหน้า ตามที่รัฐบาลได้วางแผนพัฒนาให้ภาคอุตสาหกรรมเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในระยะ 20 ปีข้างหน้า เพื่อให้ประเทศไทยสามารถหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางและก้าวเข้าสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วภายในปี 2575
โดยรัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายให้ภาคอุตสาหกรรมไทยมีอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ภาคอุตสาหกรรมเฉลี่ยไม่น้อยกว่าร้อยละ 4.5 ต่อปี การลงทุนเติบโตเฉลี่ยไม่น้อยกว่าร้อยละ 10.0 ต่อปี มูลค่าการส่งออกขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 8.0 ต่อปี ผลิตภาพรวม (TFP) เติบโตเฉลี่ยไม่น้อยกว่าร้อยละ 2.0 ต่อปี และสร้างนักรบอุตสาหกรรมพันธุ์ใหม่ (New Warrior 4.0) จำนวน 150,000 ราย
ทั้งนี้ ในการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ เพื่อให้การพัฒนาเป็นไปอย่างต่อเนื่องและสามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้จำเป็นต้องมีการเตรียมการเพื่อแสวงหาและพัฒนานวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่เพื่อต่อยอด S-Curve เดิมที่กำลังจะถึงจุดอิ่มตัวให้มีการพัฒนาต่อไปอย่างต่อเนื่อง และสร้าง S-Curve ใหม่เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตได้มากขึ้น ดังนั้นรัฐบาลจึงได้กำหนด 10 อุตสาหกรรมศักยภาพที่จะใช้ผลักดันเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทย
นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ผศอ.) เผยว่า ในปัจจุบันรัฐบาลได้มีแผนพัฒนา 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยปี 2560 มีงบประมาณทั้งสิ้น 1,192 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.12 ของค่าใช้จ่ายภาครัฐ นอกจากนี้รัฐบาลยังมีแผนบูรณาการพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก ซึ่งเป็นแผนที่มุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ EEC เพื่อรองรับการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยงบประมาณข้างต้นถ้านำมาวิเคราะห์ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม โดยใช้แบบจำลองเมตริกซ์บัญชีสังคม พบว่าจากงบประมาณดังกล่าวจะส่งผลให้ในปี 2560 GDP ของไทยขยายตัวได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.08 และ GDP ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.19
ส่วนในปี 2561 GDP ของไทยขยายตัวได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.85 และ GDP ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.81 และเมื่อพิจารณาผลกระทบแยกตามอุตสาหกรรมเป้าหมายพบว่า อุตสาหกรรมที่มีมูลค่า GDP เพิ่มขึ้นมากที่สุดจากแผนพัฒนาอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ ส่วนแผนบูรณาการพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก อุตสาหกรรมที่มีมูลค่า GDP เพิ่มขึ้นมากที่สุดจากแผนพัฒนาอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง เช่น เหล็ก และปูนซีเมนต์
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *