xs
xsm
sm
md
lg

กสอ.เผย 3 มาตรการดัน SMEs ครึ่งปีหลังสู่เป้าหมาย SMEs 4.0

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เตรียม 3 ยุทธศาสตร์ส่งเสริม SMEs ในช่วงครึ่งหลังปี 2560 และปีงบประมาณ 2561 ประกอบด้วย 1. สนับสนุน SMEs ในระดับท้องถิ่น ครอบคลุมด้านที่ปรึกษาธุรกิจ เทคโนโลยี และเครื่องมือที่มีความทันสมัย 2. ผลักดัน SMEs ที่มีศักยภาพตามแต่ละพื้นที่ด้วยแนวทางประชารัฐ และ 3. เชื่อมโยง SMEs ไทยสู่ระดับสากลทั้งประเทศในระดับคู่ค้าร่วมทุน ลงทุน ประเทศร่วมพัฒนา เช่น ญี่ปุ่น เยอรมนี เกาหลีใต้ และฮ่องกง เป็นต้น โดยอาศัยการพัฒนาอุตสาหกรรม S-Curve การเชื่อมโยงระบบการผลิตไร้แรงงานมนุษย์ การเชื่อมโยงเส้นทางสายไหม และการจัดตั้งศูนย์แลกเปลี่ยนเทคโนโลยี เป็นต้น

ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์อุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจึงได้ปรับแนวทางการดำเนินงานในครึ่งหลังปี 2560 และเป็นปีงบประมาณ 2561 โดยได้วางเป้าหมายผลักดันให้ SMEs สำเร็จด้วยยุทธศาสตร์ SMEs 4.0 ด้วยมาตรการใหญ่ไว้ 3 เรื่อง ได้แก่

1. มาตรการยกระดับศูนย์สนับสนุนการให้บริการครอบคลุมทุกจังหวัด โดยกำหนดเครือข่ายศูนย์สนับสนุน และช่วยเหลือ SMEs ประจำจังหวัด ซึ่งรูปแบบและโครงสร้างจะเหมือนกับศูนย์ SME Support & Rescue Center นอกจากนี้ ยังจะยกระดับศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมทั้ง 11 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ เชียงใหม่ พิษณุโลก พิจิตร อุดรธานี ขอนแก่น นครราชสีมา อุบลราชธานี สุพรรณบุรี ชลบุรี สุราษฎร์ธานี และสงขลา เพื่อที่จะพัฒนาศักยภาพ SMEs ด้วยระบบนิเวศรูปแบบใหม่ หรือ Ecosystem ให้ครอบคลุมทุกมิติ ได้แก่ นวัตกรรมไปสู่เชิงพาณิชย์ด้วยการส่งเสริมระบบดิจิตอล และเครื่องมือทันสมัยสำหรับการต่อยอดผลิตภัณฑ์ เช่น 3D Printer ระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติ เพื่อให้ SMEs ในพื้นที่ทั่วประเทศได้มาทดลองเรียนรู้

นอกจากนี้ นักออกแบบที่คอยให้บริการการพัฒนาผลิตภัณฑ์ พร้อมด้วยการเชื่อมโยงผู้ประกอบการ และเครือข่ายที่เป็นหน่วยงานหลักด้านการออกแบบให้สามารถแชร์ไอเดียและดำเนินธุรกิจร่วมกัน และการพัฒนาระบบบริหารจัดการ การบัญชีและการเงิน ให้ก้าวสู่ SMART SMEs ในลักษณะของ SME Academy โดยเฉพาะการใช้ระบบดิจิตอลในการดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น E-Commerce ระบบ Application หรือการเรียนรู้บทเรียนต่างๆ ผ่านแพลตฟอร์มเว็บไซต์เพื่อก้าวสู่โลกการค้าสมัยใหม่ และสุดท้าย การจัดที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญประจำศูนย์

2. ตั้งคณะกรรมการพัฒนา SMEs ตามแนวประชารัฐ เบื้องต้นได้เสนอนายกรัฐมนตรีให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนา SMEs ตามแนวประชารัฐจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน คณะกรรมการชุดนี้จะมีองค์ประกอบของหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจในจังหวัดทุกภาคส่วน มาร่วมกันส่งเสริมพัฒนาพร้อมผลักดัน SMEs ที่มีศักยภาพให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน

3. เชื่อมโยง SMEs ไทยให้ก้าวสู่ระดับสากลมากขึ้น โดยจะอาศัยความร่วมมือกับต่างประเทศในด้านต่างๆ ที่ผ่านมาทางกระทรวงฯ สร้างความสัมพันธ์กับประเทศที่เป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรม เช่น ลงนาม MOU ระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมของไทยกับกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรม (METI) ของญี่ปุ่น เพื่อยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0 และการลงนาม MOU กับ SMBA หรือกระทรวงส่งเสริม SMEs ของเกาหลีใต้ในการจัดตั้ง Thai - Korea Technology Center (TKTEC) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนหรือถ่ายทอดเทคโนโลยีรวมทั้งนวัตกรรมที่โดดเด่นของเกาหลีใต้

นอกจากนี้ ได้มีการลงนาม MOU กับ HKTDC หรือสภาพัฒนาการค้าแห่งฮ่องกง โดยฮ่องกงถือเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญของจีนในฐานะ “ตัวเชื่อม” ระหว่างจีนกับเขตเศรษฐกิจอื่นๆ ในภูมิภาค ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับ SMEs ไทยในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจร่วมกับจีนและตลาดโลกผ่านช่องทางดังกล่าว และเยอรมนี ซึ่งกำลังจัดตั้งคณะทำงานประชารัฐไทย-เยอรมนี เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0 โดยเยอรมนีเป็นต้นคิดและต้นแบบของโลกและไทยในเรื่อง Industry 4.0 จึงสามารถที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ความก้าวหน้าในการนำเทคโนโลยีสื่อสารและสารสนเทศ (ICT) ไปใช้ในกระบวนการผลิตสินค้า

สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียดสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 0-2202-4414-18 หรือเข้าไปที่ www.dip.go.th

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น