xs
xsm
sm
md
lg

Green vision : ชุดเครื่องมือ ขยับอุตสาหกรรม 4.0 ให้ทุกกลุ่มอุตฯ ก้าวไปด้วยกัน /ดร.อุตตม สาวนายน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

การขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0 ที่มีการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมาย ทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้เข้าไปส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่างๆ สามารถก้าวไปข้างหน้าในแนวทางของประเทศไทย 4.0
แต่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมมีหลายระดับบางรายอยู่ใกล้ 4.0 แต่บางรายอยู่ห่างออกไป หน้าที่ของเราจำเป็นต้องทำงานกับทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ประเด็นสำคัญอยู่ที่การทำความเข้าใจเพื่อให้ผู้ประกอบการทุกกลุ่มก้าวไปในทิศทางเดียวกัน จึงจำเป็นที่จะต้องยกระดับทักษะ เพิ่มพูนความรู้ โดยเฉพาะในเรื่องการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เหมาะสม 
การเลือกใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่และสรรหานวัตกรรมสำหรับอุตสาหกรรมของตนเอง จะก่อให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยนวัตกรรมแทนที่จะเป็นเพียงผู้ประกอบการ OEM (Original Equipment Manufacturer) ซึ่งหมายถึงการรับจ้างผลิตสินค้าให้กับแบรนด์ต่างๆ ตามแบบที่ลูกค้ากำหนด ซึ่งเคยอยู่ในยุคต้นๆ ของการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยก็ต้องพัฒนาเพื่อให้เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนหรือผู้ให้บริการที่สร้างสรรค์นวัตกรรมของตนเองนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่ม
ขอยกตัวอย่างง่ายๆ พอพูดถึงการพัฒนาอุตสาหกรรม อาจจะนึกถึงกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกันที่มีบริษัทขนาดใหญ่เป็นแกนหลัก เช่น รถยนต์ อิเล็กโทรนิกส์ที่มีอุตสาหกรรมขนาดกลาง ขนาดเล็กที่เรียกว่า SMEs ล้อมรอบอยู่ เป็นผู้ผลิตป้อนบริษัทขนาดใหญ่ จากโครงสร้างแบบนี้ วันนี้ประเทศไทย 4.0 และอุตสาหกรรม 4.0 ไปสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถที่จะสร้างนวัตกรรมของตนเองได้ จากฐานที่เป็น OEM เดิม ก็ให้ภาพนี้กลับกัน โดยการให้อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่เป็นแกนต้องการสินค้าบริการจาก SMEs ซึ่งเป็นผู้คิดค้นสรรหาขึ้นมา มากกว่าคอยรับสั่งผลิตอย่างเดียว ทำอย่างนี้ทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมก็จะยกระดับไปพร้อมๆ กัน สอดรับกับการพัฒนาที่ยั่งยืน สมดุลกับบริบทวิถีชีวิตของคนและสภาพแวดล้อมในพื้นที่
ปัจจุบัน เรามีเครื่องไม้เครื่องมือคอยสนับสนุน โดยเฉพาะในกลุ่ม SMEs ตัวอย่างเช่น หน่วยงานที่ส่งเสริม สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือเอสเอ็มอีแบงก์ ที่ได้ร่วมกันจัดทำ 2 ส่วนสำคัญ
การเพิ่มองค์ความรู้ ให้เข้าถึงองค์ความรู้ที่จำเป็นในการจะก้าวไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 การเข้าถึงทักษะใหม่ การแลกเปลี่ยนข้อมูล ความเชี่ยวชาญ เหล่านี้จะทำให้เกิดนวัตกรรมในตัวของมันเอง เรามีโครงการต่างๆ หลายโครงการที่จัดเป็นส่วนๆ เช่น การยกระดับกระบวนการผลิต โรงงานของ SMEs ซึ่งกระบวนการที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการภายใน ตอนนี้มีแอปพลิเคชันที่เข้ามาช่วยประหยัดเวลาได้ เราก็แนะนำให้รู้จัก ใช้เป็น เข้าถึงได้ การทำตลาดดิจิทัลซึ่งสำคัญมากเพราะว่าทำให้คนตัวเล็กเข้าถึงตลาดได้ตรง ไม่ต้องผ่านคนตัวใหญ่ สิ่งเหล่านี้มีเครื่องไม้เครื่องมือที่จะดำเนินการสนับสนุน เรียกว่าเป็น Digital Marketing
เรื่องการดูแลกากอุตสาหกรรม แนะนำให้ควรบันทึกอย่างไร เรียกว่าเป็นชุดเครื่องมือ หรือ Tool box ที่กระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันช่วยกันพัฒนาขึ้นมา
ระบบการเงิน สำหรับ SMEs ยุคใหม่ ซึ่งจะเติบโตได้ดีก็จะต้องทำความเข้าใจทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็น “กองทุนพัฒนา SMEs ในแนวประชารัฐ” ที่จัดตั้งขึ้นใหม่ เพราะมีเครือข่ายที่จัดตั้งแล้วก่อนหน้า ก็อาศัยเครือข่ายนี้เป็นผู้รวบรวมว่า SMEs ที่ต้องการความช่วยเหลือ หรือ SMEs เข้ามาหาเองก็ได้ รวมถึงเรื่องการทำบัญชี
เครื่องไม้เครื่องมือดังกล่าว เรานำไปเสนอให้ผู้ประกอบการพร้อมการดูถึงความต้องการของผู้ประกอบการ SMEs แต่ละอุตสาหกรรมซึ่งมีระดับความต้องการไม่เท่ากัน

บางอุตสาหกรรม SMEs ที่มีด้านที่แข็งแรงแล้ว เราก็เอาเครื่องไม้เครื่องมือไปเสริม ทำให้เขาแปลงนวัตกรรมไปสู่ผลิตภัณฑ์และบริการที่มีประสิทธิผล ส่วนใครที่ค่อนข้างแข็งแกร่งอยู่ก่อนก็เข้าไปช่วยประเมินดูว่าถึงเวลาหรือยังหากจะขยับก้าวไปอีกขั้น
ส่วนเรื่องการปรับเปลี่ยนบทบาทของกระทรวงอุตสาหกรรม เรามีอุตสาหกรรมประจำครบทุกจังหวัดได้มีการปรับเปลี่ยนบทบาทของอุตสาหกรรมจังหวัด จากทำหน้าที่หลักกำกับดูแลก็เป็นผู้กำกับดูแลและคอยส่งเสริมสนุบสนุน SMEs

เนื่องจากในการพัฒนาประเทศไทย 4.0 เน้นการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกบริบทสังคมและเศรษฐกิจ จึงจำเป็นต้องเข้าถึงผู้ประกอบการในพื้นที่ ไม่ใช่การตั้งรับอยู่แต่ในเมืองหลวง รอให้เขายื่นความต้องการเข้ามา เราจะต้องเป็นผู้ที่ออกไปให้บริการอุตสาหกรรม
กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการปรับโครงข่ายอุตสาหกรรมจังหวัดให้เป็นโครงข่ายศูนย์สนับสนุนช่วยเหลือ SMEs ในระดับจังหวัด และกำลังจัดตั้ง คือ “คณะกรรมการพัฒนา SMEs ในแนวประชารัฐระดับจังหวัด” เป็นความร่วมมือกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย เพราะคณะกรรมการชุดนี้มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหัวหน้าคณะ และมีตัวแทนจากภาครัฐและเอกชน เช่น สภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม รวมถึง SME Bank สถาบันการศึกษา
คณะนี้จะดูแลเรื่องการสนับสนุน SMEs ในพื้นที่ คอยดูสถานการณ์ของภาคอุตสาหกรรมว่าประสบปัญหาอะไรในการปรับตัว อุตสาหกรรมใดที่มีโอกาส ซึ่งรวมถึงภาคบริการ การท่องเที่ยวในพื้นที่ เพื่อจัดลำดับความสำคัญ วางเป้าหมายสนับสนุน และอาศัยโครงข่ายศูนย์สนับสนุนช่วยเหลือ SMEs ในระดับจังหวัด ซึ่งเปรียบเสมือนเลขานุการของจังหวัด เป็นเครื่องมือให้คณะกรรมการชุดนี้
ชุดเครื่องมือของกระทรวงอุตสาหกรรมดังกล่าว เป็นการส่งผ่านเครือข่ายทั้งสองด้าน เช่นพบว่าอุตสาหกรรมประสบปัญหาอะไร หรือต้องการความช่วยเหลืออย่างไร รวมถึงการสนับสนุนทางด้านการเงินโดยภาครัฐ ซึ่งจะช่วยในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0 ทุกกลุ่มทุกระดับได้

“วันนี้ประเทศไทย 4.0 และอุตสาหกรรม 4.0 ไปสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถที่จะสร้างนวัตกรรมของตนเองได้ จากฐานที่เป็น OEM เดิม ก็ให้ภาพนี้กลับกัน”
กำลังโหลดความคิดเห็น