xs
xsm
sm
md
lg

สวทช.นำจุลินทรีย์สารเสริมอาหารกุ้ง เพิ่มโอเมกา 3 กุ้งกุลาดำฟาร์มภูเก็ต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เผยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) เก็บตัวอย่างเชื้อจุลินทรีย์ป่าโกงกางและป่าชายเลน พบว่าจุลินทรีย์ชนิดนี้สามารถผลิตกรดไขมันโอเมกา-3 และ DHA ล่าสุดทางไบโอเทคได้นำเชื้อดังกล่าวให้ “บริษัท ภูเก็ตกรีนชริมป์ จำกัด” ผู้ดูแลด้านการตลาดกลุ่มไอทีฟาร์มในจังหวัดภูเก็ต พังงา โดยนำจุลินทรีย์มาผสมกับอาหารเลี้ยงกุ้งกุลาดำ

ดร.พนิดา อุนะกุล นักวิจัย หน่วยวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพและชีววัสดุ ไบโอเทค เปิดเผยว่า ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ได้เก็บตัวอย่างเชื้อ Aurantiochytrium limacinum เป็นจุลินทรีย์ที่มีอยู่ตามธรรมชาติในบริเวณป่าโกงกางและป่าชายเลน รักษาไว้ที่คลังจุลินทรีย์ของไบโอเทค ซึ่งจุลินทรีย์ชนิดนี้สามารถผลิตกรดไขมันโอเมกา-3 และ DHA ได้ปริมาณมาก เป็นกรดไขมันชนิดเดียวกันกับที่ใช้ผสมในนมผงทารก และใช้เป็นอาหารเสริมในสัตว์ โดยจุลินทรีย์ดังกล่าวสามารถนำมาทดแทนการนำเข้ากรดไขมันโอเมกา-3 จากต่างประเทศที่ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ ได้

คุณนุชจรี พิสมัย นักวิชาการฝ่ายถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเกษตรและชุมชน สถาบันการจัดการเทคโนโลยี และนวัตกรรมเกษตร สวทช. เสริมว่า “ที่ผ่านมา สวทช.มีแนวคิดที่จะนำจุลินทรีย์ดังกล่าวมาเป็นสารเสริมในอาหารเลี้ยงกุ้งกุลาดำ เพื่อทำให้กุ้งอุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมกาที่เป็นสารอาหารจำเป็นต่อร่างกายมนุษย์ โดยล่าสุดทางไบโอเทคได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ทางบริษัท ภูเก็ตกรีนชริมป์ จำกัด เพื่อให้ทางบริษัทนำจุลินทรีย์ที่ได้ไปทดสอบผสมกับอาหารเพื่อใช้สำหรับเลี้ยงกุ้งในฟาร์ม

ด้านคุณศักดิ์สหกรณ์ คงสมุทร เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งกุลาดำ และเจ้าของไอทีฟาร์ม กล่าวว่า บริษัท ภูเก็ตกรีนชริมป์ จำกัด เป็นผู้ดูแลด้านการตลาดให้กับฟาร์มในกลุ่มไอทีฟาร์มในจังหวัดภูเก็ต พังงา ได้นำจุลินทรีย์สร้างกรดไขมันโอเมกา-3 มาผสมกับอาหารเลี้ยงกุ้งในสัดส่วนจุลินทรีย์ 5 กรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม แล้วนำไปให้กุ้งกินก่อนการจับกุ้งจากบ่อเป็นเวลา 45 วัน พบว่าสัดส่วนของ DHA และ EPA ในตัวกุ้งมีปริมาณเพิ่มขึ้นมากกว่ากุ้งที่กินอาหารปกติ

สำหรับการเลี้ยงกุ้งในประเทศไทยส่วนใหญ่จะนิยมเลี้ยงกุ้งขาว เพราะเลี้ยงง่ายกว่าและต้นทุนการเลี้ยงถูกกว่า ราคากุ้งที่ออกสู่ท้องตลาดถูกกว่ากุ้งกุลาดำ ทำให้ผู้เพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำปรับตัวขยับไปเป็นเจาะตลาดกลุ่มลูกค้าพรีเมียม

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากคุณลักษณะในด้านรสชาติ และเนื้อสัมผัสที่แตกต่างจากกุ้งขาว กุ้งกุลาดำจึงยังมีความต้องการบริโภคของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศประเทศ ซึ่งปัจจุบันกุ้งกุลาดำที่ขายปลีกในประเทศไทยมีน้อยมาก การสร้างจุดเด่นเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับกุ้งกุลาดำนับเป็นสิ่งสำคัญไม่น้อยเช่นกัน ดังนั้น “กุ้งกุลาดำโอเมกา” นับว่าเป็นนวัตกรรมใหม่สำหรับการผลิตกุ้งพรีเมี่ยมซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการบริโภคกุ้งของกลุ่มผู้รักสุขภาพ

ปัจจุบัน ไบโอเทคมีคลังจุลินทรีย์ที่เก็บรวบรวมจุลินทรีย์จากแหล่งต่างๆ ไว้มากกว่า 80,000 สายพันธุ์ ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในงานวิจัยด้านต่างๆ ได้ ตลอดจนการให้บริการจุลินทรีย์และชีววัสดุที่มีการบริหารจัดการชีววัสดุ ข้อมูล และกฎหมายชีวภาพที่เชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบมีประสิทธิภาพได้มาตรฐาน เพื่อสร้างเสริมศักยภาพที่สำคัญของประเทศในการเป็นผู้นำอาเซียนในด้านทรัพยากรชีวภาพ

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น