มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) และสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารแห่งประเทศไทย (FoSTAT) จัดเวิร์กชอปให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารที่เป็นเครือข่ายการวิจัย และพัฒนาธุรกิจ Functional Food ของไทยออกไปสู่ตลาดโลก
ผศ.ดร.ชัยรัตน์ ตั้งดวงดี กล่าวว่า ในฐานะหัวหน้าโครงการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการในเรื่องแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรม Functional Food ในประเทศไทยสำหรับการส่งออก ภายใต้โครงการ Food Innopolis Academy 2016 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) และสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารแห่งประเทศไทย (FoSTAT) จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อสร้างความเข้มแข็งและยกระดับความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมอาหารไทย และสร้างเครือข่ายการวิจัยและพัฒนาธุรกิจ Functional Food ของไทยออกสู่อุตสาหกรรมโลก
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมอาหารไทยผลิตอาหารได้ประมาณ 30 ล้านตันต่อปี ติดอันดับ 1 ใน 20 ของโลก มีการผลิตอาหารแปรรูปและส่งออกปีละประมาณ 8-9 แสนล้านบาท และคาดการณ์ว่าในปี 2560 จะสูงกว่า 1 ล้านล้านบาท แต่สินค้าที่ไทยส่งออกยังไม่ใช่สินค้าที่มีมูลค่าสูง สินค้าบางตัวเราผลิตมากขึ้นแต่มูลค่าลดลง ประกอบกับเราเสียเปรียบในเรื่องค่าจ้างแรงงานที่สูงกว่ากัมพูชา ลาว เวียดนาม และพม่า อีกทั้งยังมีเรื่องของภาษีนำเข้าในบางประเทศแถบยุโรปเพราะธนาคารโลกได้พิจารณาว่าไทยได้เข้าสู่ประเทศที่มีรายได้ปานกลางติดต่อกัน 3 ปีซ้อนนับตั้งแต่ปี 2555-2557 และตัดสิทธิด้านภาษีนำเข้าเมื่อต้นปี 2558 ทำให้สินค้าเรามีราคาสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้น หากเราไม่ทำอะไรเลยก็จะเสียเปรียบ มูลค่าทางการตลาดจะตกลง จำนวนเงินที่เข้าประเทศก็จะน้อยลง GDP ของประเทศก็จะลดต่ำลงด้วย ดังนั้น Functional food หรืออาหารที่มีการเติมสารอาหารที่มีประโยชน์เชิงหน้าที่เข้าไปเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้านั้นจึงเป็นทางเลือกที่จะทำให้ประเทศไทยที่มีวัตถุดิบที่มีมูลค่าหลายอย่างแข็งแกร่งในตลาดอุตสาหกรรมอาหารโลกได้
ผศ.ดร.ชัยรัตน์กล่าวทิ้งท้ายเกี่ยวกับการจัด Workshop ครั้งนี้ว่า จากการที่ มจธ.ได้เริ่มต้นในระยะแรกพบว่าอุปสรรคส่วนหนึ่งในการเพิ่มมูลค่าให้อุตสาหกรรมอาหารไทย และ Functional Foods ข้อแรกคือ อาจารย์ นักวิจัยต่างมีงานค้นคว้าวิจัยที่ดี แต่ต่างก็ศึกษาอยู่ในห้องปฏิบัติการของตนเอง ไม่มีการขยายขนาดและทดสอบทางคลินิกเพื่อนำไปสู่การผลิตเชิงการค้า ประการที่สอง ประเทศไทยยังขาดความเชื่อมโยงที่จะบูรณาการความรู้ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำออกมาใช้ให้เกิดผล ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมโยงให้เกิดความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับหน่วยงานต่างๆ ตั้งแต่ขั้นตอนของการส่งเสริมการปลูกวัตถุดิบในภาคเกษตร การวิจัย การใช้เทคโนโลยี การทดสอบความรู้ความเข้าใจของผู้บริโภค กฎระเบียบข้อบังคับ และการตลาด ประเทศไทยมีวัตถุดิบจำนวนมากแต่ยังขาดคนที่จะรวบรวมและวิเคราะห์และใช้ศักยภาพเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ดังนั้น การจัด Workshop ดังกล่าวจึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของการรวบรวมผู้เชี่ยวชาญจากทั่วประเทศที่อยู่ในแวดวงอุตสาหกรรมอาหารทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคการศึกษา มาร่วมระดมสมองเพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหาและพัฒนาให้อุตสาหกรรม Functional Food ของไทยอยู่ในตลาดโลกได้อย่างเข้มแข็ง
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *