xs
xsm
sm
md
lg

สวทช.เข็น 2 นวัตกรรม “สารสกัดข้าว-สมุนไพรไล่ยุงแคปซูล” ต่อยอดเชิงพาณิชย์สำเร็จ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

 ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. (กลาง) ถ่ายภาพร่วมกับนักวิจัย
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยการสนับสนุนของโปรแกรม ITAP สวทช. นำเสนอผลงานวิจัยด้านเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) ที่เป็นการสกัดสารสกัดจากพืช ได้แก่ สมุนไพร และข้าว ให้ออกมาเป็นรูปแบบของนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ ที่ผู้ประกอบการสามารถนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้ จำนวน 2 ราย ได้แก่ นวัตกรรมสูตรน้ำไล่ยุงชนิดไมโครแคปซูล โดยบริษัท บาริแคร์ จำกัด และนวัตกรรมสารสกัดโปรตีนจากข้าวไรซ์เบอร์รีเป็นผลิตภัณฑ์ความงาม โดยบริษัท เบลลิส บิวตี้ จำกัด

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า “สวทช. โดยโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) ดำเนินงานพัฒนาศักยภาพของ SMEs ให้มีขีดความสามารถทางเทคโนโลยี ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ลดความเสี่ยงในการทำโครงการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม ตั้งแต่เริ่มดำเนินการในปี 2536 จนถึงปัจจุบัน ITAP สวทช.ได้ส่งมอบ Technology Solution ให้แก่ SMEs ไทยมามากกว่า 3,000 ราย รวมถึงการยกระดับอุตสาหกรรมชุมชน

ทั้งนี้ ผลงานล่าสุด สวทช.โดยโปรแกรม ITAP และผู้เชี่ยวชาญคณะวิจัย ประกอบด้วย ดร.สรวง สมานหมู่ นักวิจัยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) รศ.ดร.ปลื้มจิตต์ โรจนพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยค้นคว้าและพัฒนายา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร.อภิวัฏ ธวัชสิน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุขกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ ผศ.ดร.สมชาย เจียจิตต์สวัสดิ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร แก่บริษัท บาริแคร์ จำกัด ร่วมกันพัฒนานวัตกรรมสูตรน้ำไล่ยุงชนิดไมโครแคปซูล ภายใต้โครงการพัฒนานวัตกรรม Polymer assisted a sustained and release (PASAR: พาซ่าร์)
ผลิตภัณฑ์ ไล่ยุง
ดร.สรวง สมานหมู่ นักวิจัยห้องปฏิบัติการเคมีอินทรีย์ชีวภาพ ไบโอเทค สวทช. กล่าวว่า ปัญหาที่พบบ่อยในการใช้น้ำมันหอมระเหยในการใช้เป็นผลิตภัณฑ์ไล่ยุง คือ ความเสถียรของน้ำมันหอมระเหย เนื่องจากเกิดการระเหยได้ง่าย เป็นผลทำให้ประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ไล่ยุงที่มีส่วนผสมของน้ำมันหอมระเหยมีประสิทธิภาพลดลงตามอายุการใช้งาน จึงได้ร่วมกับ ดร.อภิวัฏ ธวัชสิน และ ผศ.ดร.สมชาย เจียจิตต์สวัสดิ์ พัฒนานวัตกรรม PASAR สำหรับน้ำมันหอมระเหย

โดยการสร้างไมโครเอนแคปซูเลชั่นที่เป็นอนุภาคขนาดเล็กระดับนาโนเมตร (185 นาโนเมตร) ช่วยในการกักเก็บสารสกัดที่สำคัญในน้ำมันหอมระเหย ซึ่งจะช่วยเพิ่มความเสถียรของน้ำมันหอมระเหยให้มีความเสถียรสูง ไม่ให้ระเหยง่าย และสามารถปลดปล่อยสารสกัดในน้ำมันหอมระเหยออกอย่างช้าๆ และเป็นระยะเวลานาน ถือเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพที่ดีขึ้นของน้ำยาไล่ยุง

โดยนวัตกรรมสูตรน้ำไล่ยุงดังกล่าวเป็นกระบวนการไมโครเอนแคปซูเลชันของสารสกัดจากธรรมชาติ 3 ชนิด ได้แก่ ตะไคร้หอม ลาเวนเดอร์ และยูคาลิปตัส ซึ่งเป็นสารธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพสูงในการไล่ยุง ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียในอากาศได้มีประสิทธิภาพ เช่น เชื้อ Staphylococcus และเชื้อ E. coli รวมทั้งไม่สะสมในร่างกายของผู้ใช้เมื่อใช้เป็นระยะเวลานาน นอกจากนี้ สารสกัดจากธรรมชาติเหล่านี้ไม่ได้ช่วยในการไล่ยุงโดยตรงเท่านั้น แต่จะทำหน้าที่กำบังกลิ่นที่เป็นตัวล่อยุงให้เข้ามากัด อย่างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และกรดแลกติก ซึ่งมีการสร้างขึ้นในร่างกายคนเพื่อทำให้ยุงรู้ตำแหน่งของเหยื่อด้วย
ผลิตภัณฑ์สารสกัด ข้าวไร้ทเบอรี่
นอกจากนี้ ในการทดสอบด้านความเป็นพิษต่อเซลล์ ทางกลุ่มวิจัยเลือกใช้เซลล์ผิวหนังหนังกำพร้า (ไฟโบรบลาสต์, Fibroblast) ซึ่งเป็นผิวหนังชั้นนอกสุดและเป็นด่านแรกในการสัมผัสกับสารเคมีโดยตรงเป็นตัวทดสอบ โดยเลือกวิธีมาตรฐานที่ใช้ในการวิเคราะห์การอยู่รอดของเซลล์แบบ end point measurement คือ Methly tetrazolium 3-[4,5- Dimethylthiazol -2 - yl]-2, 5-diphenyltetrazolium bromide (MTT) assay ซึ่งการวิเคราะห์ความเป็นพิษต่อเซลล์นั้นจะคำนวณจากเปอร์เซนต์การรอดชีวิตของเซลล์ เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม โดยวัดค่าจากความเข้มข้นที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเซลล์ได้ 50% (IC50) ยิ่งค่าการยับยั้งเซลล์ยิ่งสูงยิ่งดี เพราะแสดงว่าสารละลายไม่มีความเป็นพิษต่อเซลล์

โดยเบื้องต้นกลุ่มวิจัยได้ส่งน้ำตัวอย่างที่เก็บออกมาจากเครื่องสร้างไอน้ำซึ่งมีสารที่มีประสิทธิภาพในการไล่ยุงไปทดสอบความเป็นพิษต่อเซลล์ด้วยวิธีดังกล่าว พบว่า ไม่มีความเป็นพิษต่อเซลล์ไฟโบรบลาสต์ จึงเหมาะสำหรับใช้ในการป้องกันและช่วยควบคุมการแพร่ระบาดของโรคที่มียุงเป็นพาหะ อย่างโรคไข้เลือดออก ไข้ซิกา และไข้ปวดข้อยุงลายได้เป็นอย่างดี

ด้านคุณชัยรัฐ หอณรงค์ศิริ ประธานกรรมการบริษัท บาริแคร์ จำกัด กล่าวว่า การต่อยอดผลงานวิจัย นวัตกรรมน้ำยาไล่ยุง นอกจากจะมีสารสกัดจากธรรมชาติแล้ว ยังมีการเติมสารในกลุ่มไพรีทรอยด์ (สารเลียนแบบโครงสร้างของสารสกัดจากดอกเบญจมาศขาว) เพื่อใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการไล่ยุง โดยใช้ร่วมกับเครื่องสร้างไอน้ำขนาดอนุภาคระดับนาโนเพื่อการไล่ยุงในรัศมีวงกว้าง (15 ตารางฟุต) เหมาะสำหรับการใช้ป้องกันยุงในการมีกิจกรรมตามที่โล่งแจ้ง

โดยทางบริษัทฯ และคณะวิจัยมีแผนริเริ่มโครงการ “เชียงใหม่ปลอดยุง” เพื่อเป็นจังหวัดนำร่องของโครงการดังกล่าว โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในจังหวัดเชียงใหม่ อีกทั้งบริษัทมีแผนที่จะพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์จากเดิมให้สามารถใช้ในโรงพยาบาลและห้องนอนได้ โดยการเพิ่มประสิทธิภาพของน้ำยาให้สามารถฆ่าเชื้อโรคในอากาศได้ และพัฒนาเป็นสเปรย์ไว้พกพาสำหรับคนที่ใช้เดินทางและใช้ป้องกันยุงในพื้นที่ที่ไม่มีไฟฟ้าด้วย”
นักวิจัย ร่วมแถลงข่าว ถึงที่มาของผลิตภัณฑ์แต่ละตัว
นอกจากนี้ ทาง สวทช.โดยโปรแกรม ITAP สนับสนุนผู้เชี่ยวชาญนักวิจัย โดย ผศ.ดร.สมชาย เจียจิตต์สวัสดิ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และที่ปรึกษาด้านเทคนิค ดร.สรวง สมานหมู่ นักวิจัยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ในการพัฒนานวัตกรรมสารสกัดโปรตีนจากข้าวไรซ์เบอร์รี่ เป็นผลิตภัณฑ์ความงามครีมมาร์คหน้า และสบู่จากสารสกัดข้าว ที่ช่วยฟื้นฟูสภาพผิว และเพิ่มความกระจ่างใสแก่ผิวหน้า ร่วมกับ บริษัท แอดวาเทค จำกัด ภายใต้การทำการตลาดของบริษัท เบลลิส บิวตี้ จำกัด

ผศ.ดร.สมชาย เจียจิตต์สวัสดิ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ผู้เชี่ยวชาญโครงการ กล่าวว่า นวัตกรรมสารสกัดโปรตีนจากข้าว เลือกข้าวไรซ์เบอร์รี่เป็นข้าวชนิดแรกในโครงการนี้ เนื่องจากข้าวไรซ์เบอร์รีอุดมไปด้วยสารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพสูง โดยการสกัดสารสำคัญจากข้าวไรซ์เบอร์รีด้วยวิธีใช้เอมไซม์ ทำให้ได้สารแอนโทไซยานิน และโปรตีนสกัดจากข้าว เมื่อทดสอบในระดับห้องปฏิบัติการแล้วพบว่ามีความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระที่สูง และโปรตีนสกัดที่ได้จากข้าวไรซ์เบอร์รีเมื่อไปผ่านกระบวนการไฮโดรไลซิส (Hydrolysis) เพื่อให้เป็นโปรตีนสายสั้นแล้วนั้น จะยังมีคุณสมบัติในการเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิวหน้าด้วย สำหรับน้ำที่ผ่านกระบวนการสกัดนอกจากมีสารแอนโทไซยานินปริมาณสูงแล้ว ยังมีเอมไซม์ที่ช่วยในการสกัดโปรตีนออกจากคาร์โบไฮเดรตในข้าวไรซ์เบอร์รี่ซึ่งช่วยในการขัดผิวและเพิ่มความกระจ่างใสให้แก่ผิวหน้าของอาสาสมัครอีก

ด้านคุณเบญญาภา ใจบุญมา กรรมการผู้จัดการบริษัท แอดวาเทค จำกัด กล่าวว่า ทั้งนี้ บริษัทได้ยื่นจดสิทธิบัตรการสกัดสารสำคัญในข้าวสีสายพันธุ์ต่างๆ เพื่อนำมาต่อยอดเป็นอาหารเสริมและเครื่องสำอาง เพื่อป้องกันต่างชาติเข้ามาลอกเลียนนำข้าว “สี” สายพันธุ์ต่างๆ ไปยื่นจดสิทธิบัตรในประเทศตัวเองและส่งกลับมาขายคนไทยซึ่งเป็นเจ้าของข้าวอย่างแท้จริง โดยบริษัทได้มอบหมายให้ บริษัท เบลลิส บิ้วตี้ จำกัด ซึ่งนำโดยคุณศิณัฐมณฑ์ รัฐวราพงศ์ กรรมการผู้จัดการ เป็นผู้ทำการตลาดในนวัตกรรมสารสกัดจากข้าวในรูปแบบของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง และอาหารเสริมในรูปแบบต่างๆ

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาผลิตภัณฑ์จากสารสกัดข้าวไรซ์เบอร์รีที่ทำภายใต้แบรนด์สินค้าเบลลิส มี 2 ชนิด ได้แก่ ครีมมาร์คหน้าเพิ่มความกระจ่างใสและลดริ้วรอย และสบู่ฟื้นฟูสภาพผิว ซึ่งเร็วๆ นี้ บริษัทมีแผนจะออกผลิตภัณฑ์เพิ่มเติมอีก 3 ชนิด ได้แก่ 1) น้ำมันรำข้าวผสมสารสกัดจากข้าวไรซ์เบอร์รี 2) เซรัมจากสารสกัดข้าวไรซ์เบอร์รี และ 3) สบู่ธรรมชาติที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากข้าวไรซ์เบอร์รี่และองุ่นแดง

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น