xs
xsm
sm
md
lg

ถอดความคิด “วาสนา รุ่งแสนทอง ลาทูรัส” แม่ค้าประตูน้ำผู้สร้าง “NaRaYa”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

วาสนา รุ่งแสนทอง ลาทูรัส ประธานกรรมการบริหาร และผู้ก่อตั้งบริษัท นารายณ์ อินเตอร์เทรด จำกัด
กระเป๋าผ้าไทย คุณภาพดี ราคาไม่สูง มีเอกลักษณ์ต้องติด “โบ” นักท่องเที่ยวต่างชาตินิยมซื้อหาติดไม้ติดมือกลับไปเป็นของฝากเมื่อมาเยือนเมืองไทย เหล่านี้กลายเป็นภาพจำไปแล้วสำหรับแบรนด์ “NaRaYa” (นารายา) ที่ปัจจุบัน สยายปีกเปิดกว่า 35 สาขาทั้งในและต่างแดน อีกทั้งมีตัวแทนขายอยู่ทั่วโลก สร้างรายได้นับพันล้านบาทต่อปี

ผู้ก่อตั้งและอยู่เบื้องหลังความสำเร็จดังกล่าว ได้แก่ “คุณวาสนา รุ่งแสนทอง ลาทูรัส” ประธานกรรมการบริหาร และผู้ก่อตั้งบริษัท นารายณ์ อินเตอร์เทรด จำกัด ที่ไม่นานมานี้ในงานสัมมนา หัวข้อ “เจาะลึกกลยุทธ์ Start up Biz -ของเถ้าแก่ต่างวัย” จัดโดย สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของแบรนด์ “NaRaYa” ได้มาถ่ายทอดเส้นทางและประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนแนะนำหลักคิดที่ทำให้กระเป๋าผ้าไทยจากฝีมือชาวบ้านได้รับการยอมรับไปทั่วโลก

@@@ แม่ค้าตลาดประตูน้ำ ชีวิตที่เลือกเองไม่ได้ @@@

คุณวาสนาเกริ่นนำชีวิตในวัยเด็ก เป็นลูกสาวคนไทยเชื้อสายจีน ซึ่งเวลานั้นครอบครัวชาวจีนมักจะมีความคิดว่าลูกสาวไม่จำเป็นต้องเรียนสูง ทำให้มีโอกาสได้เรียนแค่ระดับประถม จากนั้นต้องมาประกอบอาชีพช่วยที่บ้านขายของ เช่น ไข่เป็ด ไข่ไก่ และถุงพลาสติก อยู่ที่ตลาดประตูน้ำ นาน 20 กว่าปี

“จริงๆ แล้วดิฉันอยากเรียนหนังสือ ไม่ชอบอยู่ตลาดเลย แต่ตอนนั้นเราเลือกไม่ได้ แต่ก็พยายามหาทางเรียนกลางคืน จนได้เทียบวุฒิ มศ.3 และเนื่องจากไม่ชอบอยู่ตลาดเลย พอคุณแม่เสียชีวิต ไม่มีคนบังคับแล้ว เราก็เลยตัดสินใจจะไม่เป็นแม่ค้าประตูน้ำอีกแล้ว เลยไปสมัครงาน เป็นมัคคุเทศก์ที่บริษัททัวร์แห่งหนึ่ง ซึ่งตอนนั้นดิฉันอายุ 30 กว่าแล้ว ผู้จัดการที่สัมภาษณ์งานยังถามเลยว่า “คุณไปทำอะไรมา ถึงมาสมัครงานตอนอายุขนาดนี้” (หัวเราะ) เราก็ตอบว่า “ช่วยงานที่บ้านอยู่” และดิฉันมีความฝันอยากทำงานเป็น “มัคคุเทศก์” เพราะเราอยากจะพูดภาษาอังกฤษได้เก่ง ตอนนั้นมีภาพในหัวว่า ผู้หญิงพูดภาษาอังกฤษเก่งมันดูเท่ดี”

@@@ ชีวิตเปลี่ยน เมื่อพบรักนักธุรกิจชาวกรีซ @@@

คุณวาสนาทำงานในหน้าที่ไกด์ทัวร์อยู่ประมาณ 4 ปี จนกระทั่งวันหนึ่งทางบริษัทได้รับการติดต่อจากนักธุรกิจชาวกรีซท่านหนึ่ง ชื่อ “คุณวาสิลิโอส ลาทูรัส” ให้จัดหามัคคุเทศก์ทำหน้าที่พานำไปสถานที่ต่างๆ ในเมืองไทยเป็นเวลากว่า 40 วัน เพื่อมองหาลู่ทางเข้ามาประกอบธุรกิจในเมืองไทย ซึ่งบุคคลที่ทางบริษัทมอบหมายให้รับหน้าที่ดังกล่าวคือ “คุณวาสนา” นั่นเอง

จากความผูกพันในหน้าที่งาน พัฒนามาเป็นคู่ชีวิต หลังแต่งงานคุณวาสนามาช่วยสามีทำหน้าที่เป็นเลขาฯ ส่วนตัวในการประกอบธุรกิจ ด้วยการก่อตั้ง บริษัท นารายณ์ อินเตอร์เทรด จำกัด ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท โดยทำธุรกิจส่งออกชิ้นส่วนอะไหล่รถจักรยานยนต์

ทว่าธุรกิจไม่ประสบความสำเร็จเพราะเป็นตัวแทนจำหน่าย พอส่งสินค้าไปครั้งหนึ่ง ลูกค้าในต่างชาติก็จะหันไปซื้อตรงจากผู้ผลิตแทน เงินทุนต่างๆ เริ่มหมดไป ในขณะที่หนี้สินเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เคยสูงสุดถึงกว่า 20 ล้านบาท ท้อแท้ถึงขั้นไม่อยากมีชีวิตต่อไปแล้วด้วยซ้ำ

“ตอนคุณวาสิลิโอสมาลงทุน พาเงินสดมาด้วย แต่อยู่ไป 2 ปีเงินเริ่มหมดเพราะรายได้ที่เข้ามาไม่คุ้ม ช่วงนั้นลำบากมากเพราะเราไม่รู้ว่าจะหาลูกค้าจากที่ไหน หัวเตียงวางเครื่องแฟกซ์ไว้เลยเพื่อจะรอรับออเดอร์ลูกค้าจากต่างชาติ ตอนนั้นต้องหมุนเงินไปหมุนเงินมา เอารถคันเก่าไปขาย ดาวน์รถคันใหม่ เพื่อจะเหลือส่วนต่างของเงินเอาไปหมุนเวียน บัตรเครดิตก็ใช้ใบนี้ไปโปะอีกใบ เคยกู้เงินนอกระบบดอกเบี้ย 20% ต่อเดือน บ้านก็โดนยึด ซึ่งเรื่องการทำงานหนักเราไม่เกี่ยง แต่ใจเรามันท้อมาก มันจะไม่ไหวแล้ว เพราะเราไม่เคยไปโกงใครแต่ทำไมลำบากขนาดนี้ วันดีคืนดีก็มีเจ้าหนี้มาทวงเงินหน้าบ้าน เหล่านี้มันทำให้ท้อมาก” คุณวาสนาเล่าถึงช่วงเวลาที่ลำบากสุดในชีวิต

@@@ กระเป๋าผ้าชุบชีวิต @@@

เพื่อดิ้นรนหารายได้เข้ามาต่อชีวิต คุณวาสนาและสามีพยายามช่วยกันหาสินค้าตัวใหม่ออกมาขาย จนมีเพื่อนชาวต่างชาติของสามีเดินทางมาเมืองไทยเพื่อหาสินค้าหัตถกรรมกลับไปขาย คุณวาสนาเลยไปตลาดสำเพ็งซื้อสินค้าต่างๆ เช่น ตะเกียบ ช้อน แล้วเอามาแพกจัดเป็นชุดส่งขาย เป็นต้น โดยหนึ่งในสินค้าหลายตัวส่งไปขายนั้น ได้แก่ “กระเป๋าผ้า” ซึ่งได้ผลตอบรับดีที่สุด เลยจุดประกายความคิดจะทำกระเป๋าผ้าขายภายใต้แบรนด์ตัวเองว่า “NaRaYa”

“ทางหอการค้าไทยมาติดต่อมาชวนไปเปิดงานแฟร์ที่สิงคโปร์ คุยกับคุณวาสิลิโอสว่า ลองทำผลิตภัณฑ์กระเป๋าผ้าไปขายไหม เพราะจากที่เคยรับมาแล้วส่งไปขายตลาดต่างชาติให้การตอบรับดี เลยยืมเงินเพื่อนมาลงทุน ไปเดินหาผ้าเอง แล้วหาช่างมาเย็บเป็นกระเป๋าใส่แบรนด์เราลงไป พอเอาไปออกแฟร์ ปรากฏว่าลูกค้าเข้าร้านเยอะมาก ได้ออเดอร์จากตัวแทนหลากหลาย ห้างสรรพสินค้าที่ญี่ปุ่นจะเปิด เขาก็มาออเดอร์จากเรา จากนั้นก็มีออเดอร์มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งลำพังตัวดิฉันเองนารายาคงไม่มาไกลขนาดนี้ ต้องยกให้สามีที่มีวิสัยทัศน์ ทำตลาดในต่างประเทศ ทำให้เราโตขึ้นเรื่อยๆ” เจ้าของกระเป๋าผ้าชื่อดังเผย

@@@กระเป๋าผ้าแบรนด์ไทยดังไกลทั่วโลก @@@

จากจุดเริ่มต้นทำเล็กๆ มีจักรเย็บไม่ถึง 20 ตัว ปัจจุบันบริษัท นารายณ์ อินเตอร์เทรด จำกัด เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 90 ล้านบาท มีตัวแทนขายสินค้าอยู่ทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลี ยูเออี อินเดีย ฯลฯ และมีหน้าร้าน 12 สาขาในต่างแดน และอีก 23 สาขาในเมืองไทย ยอดขายต่อปีไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท มีพนักงานในบริษัทและโรงงานกว่า 3,500 คน และชาวบ้านที่เป็นแรงงานผลิตอีกไม่ต่ำกว่า 4,000 คน

โดยมีสัญลักษณ์สำคัญเป็น “โบ” ที่ลูกค้าจำได้ดี รวมถึงยังได้รับฉายาจากลูกค้าชาวจีนว่าเป็น “Bangkok Bag” หมายถึง กระเป๋าของกรุงเทพฯ เมื่อมาเที่ยวเมืองหลวงของไทยต้องซื้อกลับไปด้วย นอกจากนั้น ยังต่อยอดสร้างแบรนด์อื่นๆ มาขยายตลาด ได้แก่ เมื่อ 3 ปีที่แล้วออกแบรนด์ “NARA By NaRaYa” สำหรับตลาดลูกค้าผู้ชาย และเมื่อ 2 ปีที่แล้วทำสินค้าจากวัสดุผ้าไหมโดยเฉพาะ ภายใต้แบรนด์ “LaLaMa By NaRaYa”

@@@ รักษาจุดเด่นคู่พัฒนา สูตรสร้างธุรกิจยั่งยืน @@@

ทุกวันนี้ความสำเร็จของกระเป๋านารายาเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายแล้ว แต่วิธีที่จะคงความสำเร็จดังกล่าวให้อยู่ยั่งยืนต่อไปนั้น คุณวาสนาระบุว่าเป็นสิ่งที่ยากยิ่งกว่า โดยแนวคิดและวิธีที่ใช้ จะกลับมาตั้งคำถามต่อตัวเองว่า “คนชอบนารายาเพราอะไร” คำตอบที่ได้ เพราะเป็น “สินค้าคุณภาพดี” “ราคาไม่แพง” และ “หลากหลาย” เมื่อรู้จุดเด่นของตัวเองแล้ว ต้องพยายามรักษาไว้ให้ดีที่สุด ในขณะเดียวกัน ต้องพร้อมพัฒนาเพิ่มเติมสิ่งใหม่ให้แก่ธุรกิจอย่างต่อเนื่อง

“ดิฉันใช้วิธีดูฐานความสำเร็จของเราว่ามาจากที่ไหน แล้วก็พยายามรักษาจุดเด่นเดิมไว้ ควบคู่กับเสริมหาสิ่งใหม่ๆ ซึ่งลูกค้าชอบเราที่เรื่องคุณภาพ ดังนั้น เราจะรักษาคุณภาพไว้ก่อน ตามด้วยเราจะต้องสร้างสรรค์ทำให้ดีขึ้น มองคนรอบข้างด้วย อย่างในอดีต นารายาจะไม่ขายออนไลน์เลย เพราะเราเกรงว่าจะไปกระทบยอดขายของตัวแทนจำหน่ายในต่างประเทศ แต่ด้วยตลาดที่เปลี่ยนไป เราจำเป็นต้องปรับตัวตาม เทคโนโลยี อะไรมาช่วยให้ดีขึ้นเราต้องยอมปรับตาม เช่น นำเครื่องจักรมาช่วยในการตัดผ้าช่วยให้ผลิตได้เร็วขึ้น มีการใช้วัสดุผ้าไหมกันน้ำ เป็นต้น ถามว่ามันทันสมัยมากมายหรือเปล่า มันก็ไม่ขนาดนั้น แต่มันทำให้ลูกค้าสัมผัสได้ถึงคุณภาพ สบายใจได้ในการใช้งาน ถ้าเทียบกับธุรกิจอื่นๆ มันเป็นเทคโนโลยีเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น แต่เรามาปรับให้เหมาะกับสินค้าเรา”

“ส่วนเรื่องราคาถูก เราพยายามรักษาไว้ ยอมกำไรน้อยดีกว่าเสียลูกค้า อย่างตอนที่ประกาศขึ้นค่าแรงเป็น 300 บาท โรงงานดิฉันจ่ายค่าแรงให้ลูกน้องเกินกว่า 300 บาทนานแล้ว ปัจจุบันค่าจ้างกว่า 465 บาท และยังมีสวัสดิการต่างๆ ให้ด้วย ในขณะที่กระเป๋าของเราก็ยังขายในราคาที่ถูกอยู่”

@@@ ยึดคติทำธุรกิจแบบปลอดภัย @@@

คุณวาสนาระบุด้วยว่า ทุกวันนี้นารายายังทำธุรกิจแบบครอบครัว โดยหน้าร้านทุกสาขาทั้งในและต่างประเทศจะต้องส่งรายงานมาให้ทุกวัน แจ้งถึงยอดขาย และความคิดเห็น คำตำหนิ หรือชมจากลูกค้า โดยตัวเธอจะดูข้อมูลต่างๆ ด้วยตัวเองทั้งหมด แล้วนำมาปรับปรุงสินค้าและบริการให้ตอบความต้องการของลูกค้าได้ดีที่สุด

“ดิฉันจะดูแลเรื่องการพัฒนาสินค้าเองทั้งหมด ความคิดเห็นของลูกค้าทุกรายจะถูกนำมาคิดเพื่อแก้ไขปรับปรุง ซึ่งแตกต่างจากบริษัทใหญ่ๆ ที่คนดูแลมักจะเป็นทีมผู้บริหาร ส่วนเจ้าของจะไม่ได้ลงมาคลุกคลีเองมากนัก ใช้ระบบบริหาร ซึ่งมีทั้งข้อดีข้อเสีย ที่เราอาจจะเติบโตได้ยาก หรือได้ช้า แต่ในขณะเดียวกันเราก็จะมีความรอบคอบในการดำเนินธุรกิจสูง”

จากประสบการณ์ที่เคยล้มเหลวมีหนี้สินถึง 20 ล้านบาท ทำให้ยึดความปลอดภัยในการทำธุรกิจ โดยพยายามรีบปลดหนี้และไม่สร้างหนี้เพิ่ม เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มขึ้น

ในการบริหารเงิน นอกจากจะเน้นหนักกับวินัยทางการเงินตนเองแล้ว ยังดูแลไปถึงพนักงานให้รู้จักการใช้เงินอีกด้วย มีกฎระเบียบของบริษัทกำหนดไว้ เช่น ห้ามเล่นการพนันหรือขายของในบริษัท เพราะถ้ามีปัญหาทะเลาะกัน สุดท้ายจะต้องส่งผลกระทบต่องาน และชีวิตส่วนตัวของพนักงานด้วย

สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ส่วนตัวคิดว่าควรจะทำจากจุดเล็กๆ ก่อน ค่อยๆ ทำตามกำลังความสามารถ อย่าลงทุนสูงเกินควร หรือคิดการใหญ่เกินตัว เพราะเอสเอ็มอีมีพื้นฐานความเสี่ยงสูงมากอยู่แล้ว เช่น เงินทุนน้อย สายป่านสั้น ฯลฯ ดังนั้น ควรพยายามสร้างฐานธุรกิจให้มั่นคงเสียก่อน จนเมื่อมีความพร้อมและถึงเวลาที่เหมาะสมค่อยขยายการเติบโต

@@@ อยากทำธุรกิจ ใจต้องพร้อม @@@

สำหรับคนที่คิดอยากจะมาเป็นผู้ประกอบธุรกิจนั้น เจ้าของกระเป๋าผ้าชื่อดังแนะนำว่า เหนือสิ่งอื่นใด ต้องมีใจที่พร้อมเสียก่อน

“คนจะเริ่มทำธุรกิจ เรื่องอายุไม่ใช่อุปสรรค แต่สิ่งสำคัญดิฉันคิดว่าจะทำธุรกิจใดๆ ก็ตาม ขึ้นอยู่กับว่า ใจเราพร้อม และเรารู้ในธุรกิจนั้นลึกซึ้งและจริงจังมากน้อยเพียงใด อย่างหลักการตลาด ที่กำหนดว่า 4P ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่ไม่ใช่ทั้งหมดในการทำธุรกิจจริง เพราะระหว่างการทำธุรกิจ มันต้องมีอุปสรรค ช่วงท้อใจ มันเหนื่อย มันจะไม่ไหวแล้ว อย่างตัวดิฉันเองเคยลำบากขนาดที่บ้านรถโดยยึดมาแล้ว”

“แม้การทำธุรกิจของเราจะมีเป้าหมายชัดเจนที่อยากจะไปถึง ถ้าเราเดินไปเรื่อยๆ สักวันมันจะถึงแน่ แต่ระหว่างทางมันจะต้องมีช่วงที่ท้อจนไม่อยากทำแล้ว ถ้าผ่านไปได้ก็จะถึงเป้าหมาย แต่ถ้ายอมเสียก่อนก็ไปไม่ถึง ดังนั้น ดิฉันถึงบอกว่าถ้าจะทำธุรกิจใจเราจะต้องได้เสียก่อน”

“นอกจากนั้น ดิฉันยังคิดว่าการจะเลือกเส้นทางใดนั้นขึ้นอยู่กับความสุขของแต่ละบุคคลด้วย บางคนการทำธุรกิจมีเงินเยอะอาจจะไม่ใช่ความสุขมากที่สุด บางคนได้ใช้ชีวิตเรียบๆ อาจจะมีความสุขมากกว่า สุดท้ายแล้วจึงขึ้นอยู่ว่าแต่ละคนต้องการความสุขในรูปแบบใด” คุณวาสนากล่าวในตอนท้าย

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น