xs
xsm
sm
md
lg

สสว.โชว์ผลงานปั้น “สุดยอดเอสเอ็มอีจังหวัด” ยกเป็นแม่แบบ “SME 4.0”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นางอรรชกา  สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และรองประธานกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เฉพาะกิจ)
“อรรชกา” ยกผู้ประกอบการเข้าโครงการ “สุดยอดเอสเอ็มอีจังหวัด” เป็นแม่แบบแห่ง SME 4.0 หัวหอกดันไทยหลุดประเทศรายได้ปานกลาง ด้าน สสว.เผยผลสำเร็จมีผู้ประกอบการเข้าร่วมจำนวน 222 กิจการ ช่วยเพิ่มรายได้และผลิตภาพ 21.06% ต่อปี หรือมูลค่า 4,642.43 ล้านบาท พร้อมสานต่อในปี 60 คัดจังหวัดละ 6 รายจาก 77 จังหวัด รวม 462 ราย เข้าพัฒนาผลิตภัณฑ์ใส่นวัตกรรมตรงความต้องการตลาด

นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และรองประธานกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เฉพาะกิจ) กล่าวในการเป็นประธานในพิธีมอบวุฒิบัตร เอสเอ็มอีที่เข้าโครงการ “สุดยอดเอสเอ็มอีจังหวัด” (SME Provincial Champions) ว่า เอสเอ็มอีที่เข้าร่วมโครงการจะเป็นตัวอย่างที่ให้แก่เอสเอ็มอีรายอื่นๆ ในภูมิภาคทั่วประเทศตื่นตัวที่จะยกระดับการบริหารจัดการให้เป็นสากล และการนำนวัตกรรมมาปรับปรุงสินค้าและบริการให้เป็นที่พึงพอใจของตลาดมากขึ้น

ทั้งนี้ การพัฒนาเอสเอ็มอีไทยไปสู่ SME 4.0 จำเป็นต้องใช้นวัตกรรมเข้ามาช่วย โดยอาศัยงานด้านวิจัยและพัฒนา และความคิดเชิงสร้างสรรค์เข้ามาสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าและบริการให้ตรงต่อความต้องการของลูกค้า พร้อมกับการลดต้นทุนการผลิต การยกระดับผลิตภาพที่สูงขึ้น และการก้าวสู่ Industry 4.0 ประเทศไทยจำเป็นต้องสร้างอุตสาหกรรมใหม่ขึ้นในประเทศ ซึ่งหมายถึงกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลส่งเสริม หรือ S-CURVE 10 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต

รมต.อุตสาหกรรมระบุด้วยว่า การเข้าสู่เศรษฐกิจ 4.0 มีความสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศก้าวพ้นการติดกับดักประเทศรายได้ปานกลางที่มีรายได้ต่อคนต่อปีระดับ 5,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มเป็นกว่า 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เพิ่มขึ้น
นางสาลินี  วังตาล ผู้อำนวยการ สสว.
ด้านนางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการ สสว.เผยว่า ในปี 2559 โครงการ “สุดยอดเอสเอ็มอีจังหวัด” (SMEs Provincial Champions) คัดเลือกผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการรวม 222 กิจการ จาก 77 จังหวัดทั่วประเทศ โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่เพิ่งเริ่มดำเนินธุรกิจ (Start up) กลุ่มที่มีศักยภาพในการตลาด (Rising Star) และกลุ่มที่อยู่ในช่วงฟื้นตัว (Turn Around)

ทั้งนี้ หลังจากที่ผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการแล้วพบว่า ในภาพรวมของโครงการสามารถเพิ่มรายได้และผลิตภาพ ร้อยละ 21.06 ต่อปี สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ ส่วนด้านมูลค่าทางเศรษฐกิจ พบว่า ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการมีรายได้รวม 22,047.17 ล้านบาท และเมื่อผ่านกระบวนการพัฒนาภายใต้โครงการสุดยอดเอสเอ็มอีจังหวัด ทำให้ผู้ประกอบการมีรายได้และผลิตภาพเพิ่มขึ้น 4,642.43 ล้านบาท

ส่วนรายละเอียดผู้ประกอบการแต่ละกลุ่มมีรายละเอียด ดังนี้ กลุ่ม Start Up มีรายได้และผลิตภาพเพิ่มขึ้นสูงสุด ร้อยละ 30.57 ต่อปี รองลงมาเป็นกลุ่ม Rising Star มีรายได้และผลิตภาพเพิ่มขึ้น ร้อยละ 25.04 ต่อปี และกลุ่ม Turn Around สามารถมีรายได้และผลิตภาพเพิ่มขึ้น ร้อยละ 15.61 ต่อปี

จากผลสำเร็จของโครงการในปี 2559 สสว.จะดำเนินโครงการ SMEs Provincial Champions ต่อไปในปี 2560 จังหวัดๆ ละ 6 ผู้ประกอบการ ใน 77 จังหวัด หรือประมาณ 462 ราย โดยจะเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีนวัตกรรมตามพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และสินค้าได้รับการรับรองมาตรฐานในระดับที่สูงขึ้น รวมถึงพัฒนาการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ และสร้างโอกาสด้านการตลาดเพื่อส่งเสริม SME ไทยให้เติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืนตามนโยบายของรัฐบาล โดย สสว.เตรียมขอการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลเพิ่มเติมให้เพียงพอ

สำหรับโครงการ “สุดยอดเอสเอ็มอีจังหวัด” (SMEs Provincial Champions) เป็นความริเริ่มของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะประธานกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เฉพาะกิจ) ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2558 มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อกระตุ้นให้ SME ในภูมิภาคทั่วประเทศตื่นตัวที่จะยกระดับ การบริหารจัดการให้เป็นสากล และการนำนวัตกรรมมาปรับปรุงสินค้าและบริการให้เป็นที่พึงพอใจของตลาดมากขึ้น เป็นโครงการที่ดำเนินการร่วมกันระหว่าง สสว.กับภาคีภาครัฐและเอกชน

สำหรับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ จะเข้ารับการฝึกอบรมพัฒนาองค์ความรู้ ด้านการวางกลยุทธ์องค์กร แผนฟื้นฟูกิจการ การให้คำปรึกษาแนะนำ ณ สถานประกอบการ โดยทีมผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านแบบเชิงลึก และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความสอดคล้องกับตลาด โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ตลอดจนจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศโดยกระทรวงพาณิชย์

ทั้งนี้ ในการตรวจประเมินและวินิจฉัยสถานประกอบการเชิงลึก พบว่ากลุ่ม Start Up ให้ความสำคัญกับการเพิ่มยอดขายมากกว่าการเพิ่มผลิตภาพ เนื่องจากการผลิตยังไม่เต็มกำลังการผลิต ดังนั้นแนวทางในการพัฒนาส่วนใหญ่จึงเป็นการพัฒนา Product ให้ได้มาตรฐาน การพัฒนา Packaging รวมทั้งกลยุทธ์ทางการตลาดที่จะช่วยเพิ่มยอดขายเป็นหลัก ส่วนในกลุ่ม Rising Star เป็นกลุ่มที่มีความชำนาญในการขายอยู่แล้ว มีความต้องการในการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต หรือลดต้นทุนผลิต กลุ่ม Turn Around เป็นกลุ่มที่ประสบปัญหาด้านยอดขาย และด้านการเงิน ดังนั้น การพัฒนาจึงต้องดำเนินการพร้อมกันในหลายด้านทั้งการเพิ่มยอดขาย การเพิ่มผลิตภาพการผลิต และการหาแหล่งเงินทุนเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงิน ซึ่งทางที่ปรึกษาได้ประสานงานกับธนาคารในพื้นที่เป็นส่วนใหญ่

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น