ช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ธนาคารต่างๆ เดินหน้าเปิดตัว “สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ” ออกมาเพื่อดึงให้ผู้ประกอบการ SMEs ตัดสินใจที่จะกู้เงินเพื่อมาลงทุน เสริมสภาพคล่อง ไล่ตั้งแต่สินเชื่อ Soft Loan ระยะที่ 3, สินเชื่อประชารัฐเพื่อ SMEs, สินเชื่อประชารัฐเพื่อประชาชน โดยธนาคารออมสิน ล่าสุดเป็นธนาคารกรุงไทย เปิดตัวสินเชื่อ “กรุงไทยใจดีช่วย SMEs” วงเงิน 10,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยต่ำสุด 3.75% มาเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกให้ผู้ประกอบการ SMEs ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่อาจยังไม่คึกคักมากนัก
สินเชื่อทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นนั้น บสย. เข้าไปช่วยในการค้ำประกันสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการที่ขาดหลักประกัน หรือหลักประกันไม่เพียงพอ ให้สามารถเข้าถึงเงินกู้ในระบบได้ ข้อดีตอนนี้เมื่อสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำมีออกมาหลากหลาย ทำให้ผู้ประกอบการที่ต้องการกู้เงินลงทุน เสริมสภาพคล่อง มีทางเลือกมากขึ้น สามารถหาเงินกู้ที่เหมาะสมกับความต้องการของธุรกิจ
สำหรับเงินกู้กรุงไทยใจดีช่วย SMEs ซึ่งเป็นตัวเลือกใหม่ล่าสุด ยังช่วยให้ผู้ประกอบมีต้นทุนทางธุรกิจที่ลดลง กับการใช้บริการ บสย. ซึ่งฟรีค่าธรรมเนียมปีแรก โดยมีให้เลือกหลากหลายรวม 3 แพ็คเกจ ครอบคลุมผู้ประกอบการขนาดเล็ก กลาง และรายย่อย ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และประเภทที่มีหลักทรัพย์ไม่เพียงพอ
แพ็คเกจค้ำประกัน ที่ 1 สำหรับ SMEs ทั่วไป ที่มียอดขายมากกว่า 100 ล้านบาทต่อปี อายุกิจการไม่ต่ำกว่า 3 ปี โดยผู้กู้ที่มีหลักทรัพย์เพียง 30% ของวงเงินกู้ บสย. จะเข้าไปช่วยค้ำประกันสินเชื่อในส่วนที่ขาดหลักประกัน วงเงินกู้สูงสุดรายละ 55 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำสุด 3.75% ในปีแรก
แพ็คเกจค้ำประกันที่ 2 เจาะกลุ่ม SMEs ทั่วไป ที่มียอดขายมากกว่า 100 ล้านบาทต่อปี อายุกิจการไม่ต่ำกว่า 3 ปี และไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน โดย บสย.จะค้ำประกันสินเชื่อเต็มวงเงิน สามารถกู้ได้สูงสุดรายละ 40 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยต่ำสุด 3.9% ในปีแรก
แพ็คเกจค้ำประกันที่ 3 รองรับผู้ประกอบการ กลุ่มธุรกิจขนาดเล็กและรายย่อย ที่มียอดขายน้อยกว่า 100 ล้านบาทต่อปี อายุกิจการไม่ต่ำกว่า 3 ปี ผู้กู้มีหลักทรัพย์เพียง 30% ของวงเงินกู้ บสย. จะเข้าไปช่วยค้ำประกันสินเชื่อในส่วนที่ขาดหลักประกัน วงเงินกู้สูงสุด 20 ล้านบาทต่อราย คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำสุด 3.75% ในปีแรก
แน่นอนว่า การเขย่าตลาดสินเชื่อธุรกิจดอกเบี้ยต่ำของกรุงไทย ซึ่งเป็นสถาบันการเงินขนาดใหญ่ จะส่งสัญญาณให้ตลาดสินเชื่อธุรกิจให้ตื่นตัวมากขึ้น ทั้งตัวผู้กู้ที่จะมีทางเลือกมากขึ้น และผู้ปล่อยกู้คือ ธนาคารต่างๆ ที่จะกระโดดเข้ามาแข่งขันในตลาดสินเชื่อธุรกิจดอกเบี้ยต่ำกันมากขึ้นหลังจากนี้ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบโครงการสินเชื่อที่เป็นมาตรการภาครัฐ หรือเป็นนโยบายของสถาบันการเงินต่างๆ เองที่ออกมากระตุ้นตลาด
โดยต่างคาดหวังว่าจะช่วยเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน สร้างความเข้มแข็งให้บรรดาผู้ประกอบการไทย ทำให้เกิดการลงทุน การจับจ่ายใช้สอยที่ฟื้นตัว นำไปสู่เงินทุนที่หมุนเวียนในระบบ ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมให้กลับมาคึกคักขึ้นอีกครั้ง
บทความโดย:บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *