xs
xsm
sm
md
lg

สรุปชีพจร 6 เดือนแรก SMEs แค่ยิ้มแห้ง 1 ใน 3 ฟื้นไข้ ชี้ปัจจัยเสี่ยงครึ่งปีหลังกำลังซื้อยังเหี่ยว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ดร.เกียรติอนันต์  ล้วนแก้ว  คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์     มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
ม.ธุรกิจบัณฑิตย์เผยผลสำรวจความคิดเห็นเอสเอ็มอีไทยใน Q2 และคาดการณ์ Q3 ชี้พบสัญญาณบวกเล็กๆ 1 ใน 3 ยอดขายเพิ่ม และปรับตัวรับสถานการณ์ได้แล้ว ส่วนอีก 2 ใน 3 แค่ประคองตัว ระบุกลุ่มขาดศักยภาพทำการค้ารุ่นเก่าน่าห่วง ด้านปัจจัยเสี่ยงสำคัญครึ่งปีหลังความต้องการของตลาดลดลง กำลังซื้อยังหดหาย พร้อมปรับคาดการณ์ GDP SMEs ในปีนี้เหลือ 2.5%

ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เผยผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศ จำนวน 427 ราย เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจไทยและผลประกอบการในไตรมาสที่ 2 และคาดการณ์ผลในไตรมาสที่ 3 ของปี 2559 รวมถึงปัจจัยที่มีผลต่อการทำธุรกิจและแนวทางการปรับตัวที่ใช้ ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 15 มิถุนายน ถึง 1 กรกฎาคม 2559

ทั้งนี้ จากการสอบถามถึงภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 เอสเอ็มอี 0.75% ระบุว่าดีขึ้นมาก 12.3% ระบุว่าดีขึ้น 41.3% ระบุว่าใกล้เคียงกัน 39.8% ระบุว่าแย่ลง และอีก 5.85% ระบุว่าแย่ลงมาก

การคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ของปี 2559 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 เอสเอ็มอี 1.1% ระบุว่าจะดีขึ้นมาก 13.5% ระบุว่าจะดีขึ้น 46.6% ใกล้เคียงกัน 32.6% ระบุว่าจะแย่ลง และอีก 6.2% ระบุว่าจะแย่ลงมาก

จากข้อมูลดังกล่าวที่น่าสังเกตคือ ผู้ที่ตอบว่าเศรษฐกิจจะ “ดีขึ้น” หรือ “ดีขึ้นมาก” ในไตรมาสที่ 2 คิดเป็น 13.05% ของผู้ตอบทั้งหมด ซึ่งสูงกว่าการสำรวจครั้งแรกที่มีค่าเท่ากับ 11.7% และผู้ที่คาดว่าเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 จะ “ดีขึ้น” หรือ “ดีขึ้นมาก” เพิ่มเป็น 14.6% สะท้อนให้เห็นว่าความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นต่อเศรษฐกิจไทย แม้จะยังไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญแต่ก็เป็นสัญญาณในเชิงบวกที่น่าสนใจ

“สัญญาณดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าเอสเอ็มอีแค่ยิ้มได้เล็กน้อย โดยประมาณ 1 ใน 3 เริ่มมีสถานการณ์ที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นผลจากผลประกอบการที่ดีขึ้น และสามารถปรับตัวลดต้นทุนรับสถานการณ์ที่ผ่านมาได้แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในธุรกิจเกี่ยวกับโรงแรม การท่องเที่ยว เกษตรแปรรูป สุขภาพความงาม”

“ส่วนเอสเอ็มอี 2 ใน 3 ที่แค่อยู่ในภาวะประคองตัว แม้ในช่วงครึ่งปีหลังเศรษฐกิจโดยรวมอาจจะดีขึ้น แต่กลุ่มนี้ยังไม่สามารถจะฟื้นตัวได้มากนัก ซึ่งกลุ่มธุรกิจที่น่าห่วงคือ กลุ่มซื้อมาขายไป และค้าปลีกค้าส่งแบบโบราณ และเกษตรกรรุ่นเก่าที่ขาดการพัฒนา ซึ่งกลุ่มนี้จะฟื้นตัวอย่างแท้จริงต้องผ่านช่วงไตรมาส 1 หรือ 2 ประจำปี 2560 ไปแล้ว” ดร.เกียรติอนันต์กล่าว

เมื่อสอบถามถึงรายได้ที่ได้รับในไตรมาสที่ 1 เทียบกับที่คาดหวังไว้ 12.7% ระบุว่า รายได้ที่ได้รับมากกว่าที่คาดหวังไว้ 27.2% ใกล้เคียงกับที่คาดหวังไว้ 45.2% ต่ำกว่าที่คาดหวังไว้ และอีก 14.9% ไม่แน่ใจ โดยกลุ่มที่ระบุว่ารายได้ที่ได้รับมากกว่าที่คาดหวังไว้โดยเฉลี่ยแล้วเพิ่มขึ้นกว่าที่คาดไว้ประมาณ 10.2% สำหรับกลุ่มที่รายได้ต่ำกว่าที่คาดหวังไว้ โดยเฉลี่ยแล้วต่ำกว่าที่คาดไว้ประมาณ 24.6%

เมื่อสอบถามถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อการทำธุรกิจในช่วง 6 เดือนหลังของปี 2559 พบว่าปัจจัยสำคัญที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) ความต้องการของตลาดที่ลดลงมาจากกำลังซื้อของผู้บริโภคยังไม่ฟื้น ทั้งตลาดส่งออกที่ปีนี้อย่างดีที่สุดคือติดลบไม่เกิน 2% ขณะที่กำลังซื้อในประเทศต้องรอดูว่าภาคสินค้าเกษตรจะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นหรือยัง เพื่อให้กำลังซื้อในชนบทกลับมาเป็นกำลังซื้อสำคัญในประเทศ 2) ภาวะเศรษฐกิจของไทยยังอยู่ในภาวะไม่แน่นอน หลายรายยังกังวลปัญหาการเมืองที่อาจรุนแรง 3) การขาดแคลนวัตถุดิบ หลายธุรกิจหรืออุตสาหกรรมไม่มีวัตถุดิบที่ตรงความต้องการ 4) ต้นทุนวัตถุดิบมีแนวโน้มสูงขึ้น ส่งผลให้กำไรลดน้อยลง ซึ่งอาจไปกระทบสภาพคล่อง และ 5) การแข่งขันที่สูงขึ้น ซึ่งบทเรียนของหลายประเทศที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว การแข่งขันจะยิ่งดุเดือด รายที่ไม่มีศักยภาพจะถูกผลักให้ตกไป

“ถ้าเราเปรียบสถานการณ์เอสเอ็มอีไทยกับสภาพเศรษฐกิจตอนนี้เหมือนเราดูหนังสารคดีที่มีสัตว์อยู่จำนวนมาก แต่กลับมีบ่อน้ำเล็กๆ แค่บ่อเดียวที่ทุกตัวต้องแย่งกันชิงน้ำในบ่อน้ำนี้ และบ่อน้ำนี้ก็จะเล็ก และแห้งลงเรื่อยๆ บางตัวต้องดิ้นรนพยายามไปหาบ่อน้ำใหม่ ถ้าบ่อน้ำแห่งนี้ไม่กลับมามีน้ำอุดมสมบูรณ์โดยเร็ว สัตว์พวกนี้ก็จะลำบากเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ” คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าว

สำหรับแนวทางการทำธุรกิจในไตรมาสที่ 3 ที่เอสเอ็มอีให้ความสำคัญ ได้แก่ การส่งเสริมการขายและการทำตลาดเชิงรุก คิดเป็น 26.8% การลดต้นทุนในการทำธุรกิจ คิดเป็น 25.4% การทำตลาดโดยใช้สื่อออนไลน์ คิดเป็น 24.6% การแก้ปัญหาสภาพคล่อง คิดเป็น 12.3% การขยายตลาด คิดเป็น 8.4% และอีก 2.5% เป็นประเด็นอื่นๆ เช่น การหาพันธมิตรทางธุรกิจ การพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ เป็นต้น

ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ กล่าวสรุปว่า ผลการสำรวจดังกล่าวตอนนี้เอสเอ็มอีเริ่มเห็นสัญญาณบวกด้านการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจบ้างแล้ว ความเชื่อมั่นดังกล่าวทำให้เอสเอ็มอีบางส่วนเริ่มทำตลาดเชิงรุกมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวยังอยู่ในระยะเริ่มต้น และยังไม่มากพอที่จะเอื้อให้ผลประกอบการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ความท้าทายของรัฐบาลคือ ทำอย่างไรจะทำให้การเติบโตในไตรมาสที่ 3 และ 4 ยังมีค่าเป็นบวก ซึ่งในภาพรวมแล้ว หากปีนี้เศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้ไม่น้อยกว่า 3% ปีหน้าเราก็จะสามารถเห็นการฟื้นตัวของเอสเอ็มอีได้ชัดเจนขึ้น

ทั้งนี้ หากปีนี้ (2559) GDP รวมของประเทศเติบโตที่ 3% คาดการณ์ GDP SMEs ในปีนี้ (2559) จะเติบโตประมาณ 2.5% ซึ่งลดลงจากคาดการณ์เมื่อต้นปี ที่เชื่อว่าจะโตได้ประมาณ 2.84% เนื่องจากกำลังซื้อที่ลดลง และสภาพเศรษฐกิจยังไม่ฟื้น

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น