สสว.เผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่น SMEs ภาคการค้าและบริการเดือนพฤษภาคม 2559 อยู่ที่ 97.4 เพิ่มขึ้น เดือนเมษายนอยู่ที่ 95.0 ผลมาจากคำสั่งซื้อช่วงเปิดภาคเรียน และวันหยุดต่อเนื่อง 3 อันดับแรกได้ สินค้าอุปโภคบริโภค รถยนต์ และท่องเที่ยว ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอยู่ที่ 51.9 ปรับตัวลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจไทยปรับตัวช้า และภาวะภัยแล้งในช่วงที่ผ่านมา
นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการ (Trade & Service Sentiment Index : TSSI) ในเดือนพฤษภาคม 2559 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายนจากระดับที่ 95.0 ขึ้นมาอยู่ในระดับที่ 97.4 ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยด้านกำไร การจ้างงานและยอดจำหน่ายที่ดีขึ้น ทั้งภาคการค้าและบริการ โดยเฉพาะภาคบริการนั้น มีความเชี่อมั่นเพิ่มขึ้นสูง
โดยประเภทธุรกิจที่มีค่าความเชื่อมั่นเกินค่าฐานที่ 100 ได้แก่ ธุรกิจค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโภค ค้าปลีกรถยนต์/จักรยานยนต์ ธุรกิจท่องเที่ยว บริการด้านสุขภาพและความงาม สันทนาการ บริการสุขภาพและความงาม ธุรกิจขนส่ง (สินค้าและมวลชน) เนื่องจากในเดือนพฤษภาคมเป็นช่วงเปิดภาคเรียนทำให้ยอดคำสั่งซื้อและยอดขายในกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาเพิ่มขึ้น ภาคการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวได้ดีจากการที่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ยังเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนักท่องเที่ยวชาวจีน และนักท่องเที่ยวเอเชียตะวันออก อีกทั้งมีวันหยุดต่อเนื่องพิเศษ ส่งผลให้การท่องเที่ยวภายในประเทศยังคงคึกคักกว่าช่วงเวลาปกติ
สำหรับดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้านั้นยังคงสูงกว่าค่าฐานที่ 100 และอยู่ในระดับที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า คือ จากที่ระดับ 105.4 ในเดือนเมษายน 2559 เป็นที่ระดับ 105.8 ในเดือนพฤษภาคม 2559
ดัชนีความเชื่อมั่นของ SME ในภาคการค้าและบริการของเดือนพฤษภาคมที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นนั้น สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 86.4 เนื่องจากผู้ประกอบการคลายความกังวลต่อปัญหาภัยแล้ง ส่งผลให้อุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรปรับตัวดีขึ้น ทั้งนโยบายส่งเสริมและยกระดับอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพของภาครัฐ ในกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ ยานยนต์ เครื่องมือแพทย์ครบวงจร และอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของประเทศ (BSI) ยังคงทรงตัวอยู่ที่ระดับ 99.4 สะท้อนความเชื่อมั่นที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (CCI) กลับปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 51.9 สาเหตุจากผู้บริโภครู้สึกว่าภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันฟื้นตัวค่อนข้างช้า โดยเฉพาะภาวะภัยแล้งและราคาพืชผลยังต่ำเมื่อเทียบกับปีก่อน แต่ผู้บริโภคมีความหวังว่าเศรษฐกิจ การจ้างงานและรายได้ในอนาคตจะปรับตัวดีขึ้นตามการลงทุนของภาครัฐในช่วงครึ่งปีหลัง
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *