xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการ ม.มหิดลเผย Angel Investor เทรนด์แรงเกาะสตาร์ทอัพโต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายกิตติชัย ราชมหา อาจารย์ประจำภาควิชาผู้ประกอบการและนวัตกรรม วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล
นักวิชาการ ม.มหิดลเผยลงทุนแบบแองเจิล อินเวสเตอร์ กำลังมาแรง ชี้นักลงทุนหันสนับสนุนกลุ่มสตาร์ทอัพ ฟุ้งข้อมูลปี 57 เม็ดเงินทุ่มกลุ่มสตาร์ทอัพโตกว่า 800% คาดยังโตต่อเนื่อง

นายกิตติชัย ราชมหา อาจารย์ประจำภาควิชาผู้ประกอบการและนวัตกรรม วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เส้นทางของสตาร์ทอัพไม่ได้สวยหรูอย่างที่หลายคนคิดไว้ การเริ่มต้นธุรกิจสตาร์ทอัพคล้ายกับการกระโดดจากหน้าผาแล้วจึงค่อยๆ หาทางที่จะมีชีวิตรอด และทะยานกลับขึ้นมาอีกครั้งระหว่างทางที่กำลังดิ่งลงพื้นดิน โดยที่โอกาสสำเร็จของสตาร์ทอัพที่จะได้รับการลงทุนเพื่อต่อชีวิตให้เดินต่อไปได้อยู่ที่ประมาณ 5 ถึง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

ทั้งนี้ ทำให้จำนวนธุรกิจสตาร์ทอัพภายในประเทศไทยมีอยู่ในช่วงไม่เกิน 500 ถึง 1,000 รายเท่านั้น เพราะถึงแม้ว่าสตาร์ทอัพจะได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง แต่ก็มีสตาร์ทอัพมากมายที่ไม่สามารถก้าวต่อไปได้ ซึ่งหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่จะเป็นตัวตัดสินชีวิตของสตาร์ทอัพว่าจะเกิดหรือดับคือ เงินก้อนแรกจากนักลงทุนในช่วงระยะเริ่มต้นของวงจรชีวิตสตาร์ทอัพ

โดยนักลงทุนที่มีบทบาทมากในช่วงเริ่มต้นของเหล่าสตาร์ทอัพคือ นักลงทุนประเภท แองเจิล อินเวสเตอร์ (Angel Investor) หรือนักลงทุนอิสระประเภทพ่อพระ/แม่พระ ที่ให้ทุนกับสตาร์ทอัพในช่วงระยะเริ่มต้น โดยอาจเริ่มให้ทุนตั้งแต่อยู่ในช่วงการเริ่มพัฒนาไอเดียของสตาร์ทอัพ (ระยะ seed) จนถึงช่วงการระดมทุนเพื่อขยายธุรกิจเพิ่มเติม (ระยะ early stage) ซึ่งการลงทุนของแองเจิลอินเวสเตอร์ถือเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงมากจนเปรียบเสมือนกับการนำเงินไปทิ้งเปล่า เนื่องจากโอกาสที่สตาร์ทอัพนั้นจะล้มเหลวมีมากกว่า 95% โดยจำนวนเงินลงทุนจากแองเจิลอินเวสเตอร์นั้นจะอยู่ระหว่าง 100,000 ถึง 1,000,000 บาท

นอกจากนั้น นายกิตติชัยยังได้ให้แนวคิดสำคัญ ซึ่งเป็นสิ่งที่สตาร์ทอัพต้องมีหากต้องการจะประสบความสำเร็จในการระดมทุนจากนักลงทุนแองเจิลอินเวสเตอร์ 3 ประการ คือ

1. มีความคิดแบบผู้ประกอบการ (Entrepreneurial Mindset) - ต้องแสดงให้นักลงทุนเห็นถึงคุณสมบัติความเป็นสตาร์ทอัพในตัว ซึ่งคุณสมบัติความเป็นสตาร์ทอัพที่ดีจะประกอบด้วย ความยืดหยุ่น พร้อมที่จะฟังคำแนะนำจากผู้ให้คำแนะนำ และนำไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจเพื่อให้ประสบความสำเร็จ ความมุ่งมั่น มีความตั้งใจและทุ่มเทอย่างเต็มที่กับธุรกิจที่ทำอยู่ โดยมีการวางเป้าหมายไว้และมุ่งมั่นทำให้สำเร็จโดยไม่ไขว้เขว และความดื้อ มีความตั้งใจและเชื่อมั่น ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ใช้ขจัดความย่อท้อเมื่อเจออุปสรรคต่างๆ ระหว่างทาง

2. มองเห็นโอกาส (Opportunity Seeker) - สามารถมองเห็นโอกาสในด้านการริเริ่มคิดหาผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ยังเป็นที่ต้องการของตลาด รู้จักปัญหา (pain point) และสิ่งที่ยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ รวมไปถึงมองเห็นโอกาสในการหานักลงทุน (investor) คอยพัฒนาตัวเองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นการเตรียมตัวให้พร้อมกับโอกาสที่อาจเข้ามาโดยไม่ได้คาดหมาย

3. ใช้แผนธุรกิจที่เหมาะสม (Business Model) - ประยุกต์ใช้แผนธุรกิจที่เหมาะสมกับตัวสินค้าหรือบริการของตน โดยข้อสำคัญของการวางแผนธุรกิจคือ สินค้าหรือบริการ ต้องเป็นสิ่งที่ทำซ้ำได้ (repeatable) สามารถเติบโตและสร้างรายได้ผ่านการทำซ้ำได้ และปรับเปลี่ยนขนาดได้ (scalable) รองรับการขยับขยายทั้งการขยายกลุ่มเป้าหมาย และขยายตัวสินค้าหรือบริการให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

ด้านนายปิยพันธ์ วงยะรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสำนักพิมพ์สต็อคทูมอร์โรว์ กล่าวเสริมในฐานะนักลงทุนแองเจิลอินเวสเตอร์ที่ประสบความสำเร็จคนหนึ่งว่า เรื่องของคอนเนกชัน (Connection) เป็นสิ่งสำคัญสำหรับเหล่าสตาร์ทอัพที่ต้องการให้แองเจิลอินเวสเตอร์สนใจ โดยสตาร์ทอัพต้องออกพบปะผู้คนในแวดวงธุรกิจบ่อยๆ ทำตัวให้โดดเด่น เป็นที่จดจำ และคอยพัฒนาตัวเองอย่างสม่ำเสมอด้วยความมุ่งมั่นและจริงจังในเป้าหมาย ทั้งนี้ หนึ่งในเกณฑ์สำคัญสำหรับการคัดเลือกสตาร์ทอัพเพื่อร่วมลงทุนด้วยนั้น คือ ประเภทของธุรกิจ ซึ่งจากประสบการณ์ส่วนตัวจะเลือกธุรกิจที่ตนถนัด หรือมีความสนใจต้องการทำอยู่แล้ว และหากเป็นธุรกิจที่เอื้อต่อกันกับธุรกิจหลักที่ตนทำอยู่ด้วยแล้วนั้นก็จะให้ความสนใจมากขึ้นอีก เพราะการเป็นแองเจิลอินเวสเตอร์ไม่ได้ให้เพียงแค่เงินไปใช้ในการลงทุนเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องคอยให้ความรู้ ให้คำปรึกษา และความช่วยเหลือด้วย
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น