ภาควิชาผู้ประกอบการและนวัตกรรม ม.มหิดล เผยคาดการณ์ธุรกิจที่มีแนวโน้มดีในปี 2559 ได้แก่ เทคโนโลยีทางการเงิน สุขภาพและการแพทย์ และอาหาร แจงปัจจัยคนยุคใหม่ต้องการความสะดวกสบาย และเทคโนโลยีเติบโตสูง ขณะที่เปิดเออีซีช่วยกระตุ้นตลาดซื้อขายในภูมิภาค พร้อมแนะ 4 สูตรสำเร็จเอสเอ็มอีเอาตัวรอด
นายกิตติชัย ราชมหา อาจารย์ประจำภาควิชาผู้ประกอบการและนวัตกรรม วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) มีส่วนให้ตลาดการค้าระหว่างประเทศไทยกับประเทศในกลุ่มอาเซียนเปิดกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่มาแรง คือ กลุ่มธุรกิจที่มีการประยุกต์เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นหลักสำคัญเพื่อพัฒนาสินค้าหรือบริการ รวมถึงสร้างความสะดวกสบายแก่ผู้บริโภคผ่านความก้าวหน้าของเทคโนโลยี เช่น การเพิ่มช่องทางตลาดผ่านแอปพลิเคชัน (Application)
ทั้งนี้ คาดกลุ่มธุรกิจที่จะมาแรงเป็นพิเศษในปี 2559 นั้นมี 3 กลุ่มธุรกิจ ดังนี้
ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีทางการเงิน (Financial Technology) เหตุเพราะการทำธุรกิจและการใช้ชีวิตทุกวันนี้ล้วนเกี่ยวข้องกับธุรกรรมทางการเงิน ดังนั้น การนำเสนอสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อสนับสนุนการทำธุรกรรมทางการเงินให้ง่ายขึ้น ย่อมเป็นโอกาสและความน่าสนใจใหม่สำหรับสตาร์ทอัพเพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ และเมื่อพิจารณาข้อมูลย้อนหลังไป 3 ปี พบว่ามูลค่ามวลรวมของธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีเทคโนโลยีฟินเทคเกี่ยวข้อง (FinTech StartUp) เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและมีแนวโน้มอัตราเติบโตแบบก้าวกระโดดในอนาคตอย่างชัดเจน
ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและการแพทย์ (Healthcare and Wellness) เป็นอีกกลุ่มที่น่าจับตามองในปี 2559 เนื่องจากมีบทบาทสำคัญต่อการดำรงชีวิต ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและการแพทย์ เช่น ยารักษาโรค อุปกรณ์การแพทย์ เทคโนโลยีทางการแพทย์ นวัตกรรมด้านสุขภาพ ล้วนเป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจหลักที่ภาครัฐให้การสนับสนุน และส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการให้บริการสุขภาพของภูมิภาค (Medical Hub) โดยในปี 2557 ที่ผ่านมามีชาวต่างชาติเข้ารับบริการสุขภาพในประเทศไทยถึง 1.2 ล้านครั้ง สร้างรายได้เข้าประเทศ 107,000 ล้านบาท (ที่มา : กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา)
ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหาร (Food Innovation) เป็นกลุ่มธุรกิจที่มีความน่าสนใจและมีกระแสของการเติบโตไม่น้อยในปี 2559 ที่ใกล้เข้ามา เหตุเพราะเป็นกลุ่มธุรกิจที่ถือว่า ประเทศไทยมีศักยภาพสูงในการแข่งขันในตลาดอาเซียน ซึ่งหากมีการประยุกต์เอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาเสริมด้วยแล้ว จะยิ่งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า นอกจากนี้ ความเข้มแข็งและมุ่งเน้นผลักดันส่งเสริมจากภาครัฐในอุตสาหกรรมด้านอาหารและนวัตกรรมอาหาร เป็นปัจจัยสำคัญอีกประการที่มีส่วนส่งผลต่อความสำเร็จและโอกาสเติบโตของอุตสาหกรรมด้านอาหารในปีหน้า เช่น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ที่มีการสนับสนุนกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย ทั้งในด้านการให้ความรู้เพิ่มเติมในการวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการเปิดตลาดต่างประเทศ โดยในปี 2557 ที่ผ่านมาจำนวนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหารและเครื่องดื่มมีมากกว่า 370,000 ราย สร้างมูลค่ารวมกว่า 628 ล้านบาท (ที่มา : สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม)
อย่างไรก็ดี การเปิดเออีซีจะเกิดการแข่งขันสูงอีกหลายเท่า ฉะนั้น ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องปรับตัวให้อยู่รอด โดยต้องคิดในมุมมองแบบนักธุรกิจสตาร์ทอัพให้ได้ กล่าวคือ คิดค้นสินค้าและบริการที่แปลกใหม่ตลอดเวลา และยังต้องมองหานวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้กับธุรกิจ
ทั้งนี้ แนวคิดสำคัญ สิ่งที่ผู้ประกอบการยุคใหม่คงตระหนักในการดำเนินธุรกิจ 4 ประการ คือ
1. ความมุ่งมั่นตั้งใจ (Entrepreneurial Intention) - ความมุ่งมั่นตั้งใจในการทำธุรกิจ พร้อมที่จะยืนหยัดต่อสู้และมีทั้งความตั้งใจและเข้าใจธุรกิจที่ทำ และมีตัวชี้วัดเป็นความมุ่งมั่นในการนำเงินมาเริ่มลงทุนทำธุรกิจ
2. ความคิดริเริ่มธุรกิจ (Business-Idea Initiate) - ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในด้านการทำธุรกิจเป็นต้นกำเนิดที่สำคัญของจุดขายของธุรกิจ โดยเฉพาะการคิดแบบนวัตกร (Innovator) ที่จะใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นตัวส่งเสริมธุรกิจให้มีประสิทธิภาพและตอบโจทย์ความต้องการของตลาดมากขึ้น
3. ความรู้ด้านการวางแผนและสร้างตัวแบบธุรกิจที่มีความเป็นไปได้จริงและมีมูลค่าเพิ่ม (Value-Added Business Model and Plan) - ผู้ประกอบการยุคใหม่จำเป็นต้องมีความรู้ด้านการทำธุรกิจและปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น รู้กลุ่มลูกค้า ผลิตภัณฑ์ ความต้องการของตลาด คู่แข่งในตลาด เป็นต้น เพื่อใช้ในการร่างแผนธุรกิจ ซึ่งในปัจจุบันมีหน่วยงานทั้งรัฐบาลและเอกชนให้ความรู้ในเรื่องเครื่องมือของผู้ประกอบธุรกิจ (Business Model) อย่างแพร่หลาย
4. ความเป็นคนรักที่จะเสี่ยงและเผชิญหน้ากับความท้าทายต่างๆ (Risk and Challenge Lover) - โดยหลังจากการศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว ความใจสู้และกล้าเสี่ยงถือเป็นหัวใจสำคัญของคนทำธุรกิจ และเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการที่ต้องการประสบความสำเร็จไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ โดยการใช้ความใจสู้และกล้าเสี่ยงนั้น ต้องมีการศึกษาข้อมูลจากงานวิจัยและสถิติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจ
นายกิตติชัยกล่าวด้วยว่า หากเอสเอ็มอีปรับตัวให้เข้ากับสภาวะปัจจุบันได้แล้ว น่าจะสามารถครองพื้นที่ส่วนมากของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ได้ไม่ยากนัก ทั้งนี้ เพราะเมื่อพิจารณาจากข้อมูลรายงานสถานการณ์วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เรียบเรียงโดย สสว. ที่ผ่านมา พบว่าแนวโน้มตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปี 2557 มูลค่า GDP ของเอสเอ็มอีเริ่มปรับตัวสูงขึ้น โดยในปี 2555 อยู่ที่ร้อยละ 37 และในปี 2556 สัดส่วนมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของเอสเอ็มอีปรับตัวสูงขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 37.4 และมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน แนวโน้มที่ผ่านมาก็เป็นที่น่าสังเกตว่าอัตราการขยายตัวของเอสเอ็มอียังคงสูงกว่าอัตราการขยายตัวของประเทศ ซึ่งจุดนี้แสดงถึงการเป็นกลไกขับเคลื่อนการเจริญเติบโต (Engine of Growth) ที่สำคัญยิ่งให้แก่ระบบเศรษฐกิจของประเทศ
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *