xs
xsm
sm
md
lg

SMEs Boost-Up: เปิดนิยาม Non-Bank แหล่งเงินทุนหนุน SMEs

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้อ่าน และผู้ประกอบการ SMEs ที่ติดตามเรื่องราวของมาตรการภาครัฐเพื่อช่วยเหลือ SMEs ไทยในช่วงนี้ คงได้ยินเรื่องราวของการแก้ไข พ.ร.บ.บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ที่ผ่านการเห็นชอบของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) 15 มีนาคม 2559 เพื่อเพิ่มบทบาทให้ บสย. สามารถค้ำประกันสินเชื่อจากแหล่งอื่นๆ นอกเหนือจากสถาบันการเงินประเภทธนาคาร หรือที่เรียกว่า ผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-bank)

อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวยังต้องผ่านกระบวนการการแก้ไขกฎหมายอีกหลายขั้นตอน ก่อนจะมีการประกาศใช้ “ข่าวดี” นี้จึงยังเป็นเรื่องของอนาคตที่ต้องติดตามความคืบหน้า

แต่สิ่งที่ผู้ประกอบการ SMEs จำนวนมาก อาจยังไม่คุ้นเคยก็คือ อะไรคือ “Non-bank” ที่แน่ๆ ว่าไม่ใช่ “เงินกู้นอกระบบ” ที่ปล่อยโดย “นายทุน” ซึ่งไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของหน่วยงานใดๆ มาเจาะกลุ่มคนทั่วไปที่ไม่สามารถขอสินเชื่อจากธนาคารได้ เพราะขาดเอกสารหลักฐานแสดงแหล่งที่มาของรายได้ หรือขาดหลักประกัน แต่สิ่งที่ต้องแลกกันคือ อัตราดอกเบี้ยที่สูงลิบเฉลี่ย 10-20% ต่อเดือน ที่กลายมาเป็นปัญหาสังคมที่ยากจะแก้ไข

หากดูจากนิยามของ “ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน” ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า Non-bank ส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทจำกัดที่จดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์

โดย Non-bank ที่ ธปท. กำกับดูแล ได้แก่ 1. ผู้ให้บริการบัตรเครดิต 2. ผู้ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ หมายถึง นิติบุคคลที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังให้ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการให้กู้ยืมเงินแก่บุคคลธรรมดาโดยไม่มีหลักประกัน เพื่อนำไปซื้อสินค้าและบริการเพื่อการอุปโภคบริโภค 3. ผู้ให้บริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) และ 4. ผู้ให้บริการด้านการแลกเปลี่ยนเงินหรือโอนเงินตราต่างประเทศ

อีกแหล่งเงินทุนที่ผู้ประกอบการ SMEs คุ้นเคยคือ การเช่าซื้อ (Hire Purchase) และ ลิสซิ่ง (Leasing) ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มนี้เองที่การแก้ พ.ร.บ. บสย. จะเข้าไปมีส่วนช่วยค้ำประกัน ทำให้ SMEs มีตัวเลือกอื่นๆ เพิ่มเติม

หลักการของ “เช่าซื้อ” และ “ลิสซิ่ง” ตามนิยามของ ธปท. เป็นการทำสัญญาที่ทำให้ผู้เช่า (ผู้ต้องการซื้อสินค้า) ได้สินค้า เช่น รถจักรยานยนต์ รถยนต์ คอมพิวเตอร์ หรือเครื่องจักร มาใช้ในชีวิตประจำวันหรือเพื่อประกอบธุรกิจ โดยที่ยังไม่ได้เป็นเจ้าของหรือมีกรรมสิทธิ์ในสินค้านั้น และไม่ต้องจ่ายเป็นก้อนใหญ่ในคราวเดียว แต่จะใช้วิธีค่อย ๆ ทยอยผ่อนชำระเป็นงวดๆ จนครบตามสัญญา

ความแตกต่างคือ “สัญญาเช่าซื้อ” ทรัพย์สินจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้เช่า ก็ต่อเมื่อผู้เช่าได้ผ่อนชำระเป็นงวดจนครบตามสัญญาที่ตกลงกันไว้ ขณะที่ “ลิสซิ่ง” เมื่อสิ้นสุดสัญญาเช่า ผู้เช่าสามารถเลือกได้ว่าจะซื้อ ต่อสัญญาเช่า หรือว่าส่งคืนทรัพย์ให้กับผู้ให้เช่า ส่วนมากคนที่จะทำสัญญาสินเชื่อลักษณะนี้ มักจะเป็นบริษัทหรือนิติบุคคลที่ต้องการเช่าทรัพย์สินที่มีราคาแพง หรือเช่าทรัพย์สินในปริมาณมาก เช่น เครื่องจักร รถยนต์ หรืออาจเป็นการเช่าสินค้าที่เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น คอมพิวเตอร์สำนักงาน เครื่องถ่ายเอกสาร เป็นต้น

ผลดีที่จะเกิดขึ้นชัดเจน หาก บสย. สามารถเข้ามาค้ำประกันให้กับสัญญาทั้ง 2 ประเภทนี้ได้ จะช่วยเสริมสภาพคล่องทางการเงินให้กับผู้ประกอบการ SMEs โดยเฉพาะกลุ่มรายย่อย-รายเล็ก ทำให้ผู้ให้เช่าพิจารณาอนุมัติได้ง่ายขึ้น หรือช่วยให้ผู้ประกอบการได้รับวงเงินที่สูงขึ้น

สินเชื่อที่กลุ่ม Non-bank ให้บริการที่น่าสนใจอีกหนึ่งประเภท คือ สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ ซึ่งเป็นนโยบายภาครัฐที่ต้องการสนับสนุน เพื่อช่วยเหลือประชาชนรายย่อยที่ต้องการใช้เงินทุนเพื่อการประกอบอาชีพ แต่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบธนาคารได้ แต่อัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อประเภทนี้ก็จะค่อนข้างสูงอยู่ที่ไม่เกิน 36% ต่อปี เพราะความเสี่ยงที่ค่อนข้างสูง แต่ข้อดีคือ ผู้กู้ไม่ต้องมีหลักประกันใดๆ

โดยปัจจุบัน บสย. ได้ให้การค้ำประกันสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์แล้วผ่านธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อย 1 แห่ง และในอนาคตหากการแก้ไข พ.ร.บ. บสย. สำเร็จลุล่วง จะทำให้ บสย. สามารถเข้าไปค้ำประกันสินเชื่อให้กับบริษัทที่ประกอบธุรกิจสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ได้ด้วย

ทั้งหมดเป็นแหล่งเงินทุนของกลุ่ม Non-bank ที่ไม่ใช่ธนาคาร ทางเลือกใหม่ๆ ที่จะทำให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น ผ่านการค้ำประกันของ บสย. ในอนาคต

บทความโดย : บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น