xs
xsm
sm
md
lg

ก.วิทย์ฯ เดินหน้ามาตรการเว้นภาษี 300% เป้าเพิ่มสัดส่วนทุนวิจัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมต.ก.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (กลาง) ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ รองเลขาธิการ สวทน. และ  ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สวทช. ร่วมเปิดงาน
รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผย สวทช.ร่วมกับ สวทน. เปิดตัวมาตรการยกเว้นภาษี 300% วิจัย พัฒนา และนวัตกรรม ในงาน “CEO Innovation Forum 2016 ตั้งเป้าปี 2559 มาตรการดังกล่าวเพิ่มสัดส่วนลงทุนวิจัยและพัฒนา 1% ของจีดีพี กำหนดระยะเวลาการใช้สิทธิประโยชน์ 5 ปี วงเงินหักค่าใช้จ่าย 3 เท่าของค่าใช้จ่ายจริง

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า จากการที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีมาตรการในหลายๆ ด้านเพื่อสนับสนุน ส่งเสริม และอำนวยความสะดวกให้กับภาคเอกชนในการลงทุนด้านการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมซึ่งเป็นกลไกหลักในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ภาคเอกชน โดยออกแบบให้เหมาะกับขนาดธุรกิจ ได้แก่ มาตรการยกเว้นภาษี 300% เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรม ในการขับเคลื่อนประเทศสู่นวัตกรรม มาตรการลดภาษีเงินได้สำหรับผู้ประกอบการ SME ให้เหลือ 10% ในระยะเวลา 2 รอบบัญชี และมาตรการยกเว้นภาษีนิติบุคคล ระยะเวลา 5 รอบบัญชีสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ในกลุ่ม New Growth Engine

นอกจากนี้ การจัดตั้งกองทุนส่งเสริมธุรกิจนวัตกรรมรายใหม่ จำนวน 2,000 ล้านบาท การตั้งเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแบบครบวงจร ภายใต้ความร่วมมือของสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย และภาคเอกชน โครงการคูปองนวัตกรรม เพื่อสนับสนุนกลุ่มธุรกิจ SME ให้สามารถเข้าถึงนวัตกรรม โดยมีงบประมาณสนับสนุนในรูปแบบคูปอง โครงการบัญชีนวัตกรรม
บรรยากาศภายในงาน
ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) กล่าวถึงผลการสำรวจการวิจัยและพัฒนา และกิจกรรมนวัตกรรม ประเทศไทย ว่าข้อมูลสถิติและดัชนีชี้วัดด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ของประเทศ พบว่าไทยมีการลงทุนวิจัยและพัฒนา มีจำนวน 6.3 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 0.48% ของจีดีพี โดยมีสัดส่วนในการลงทุนภาคเอกชนต่อภาครัฐ 54 : 46 โดยตัวเลขการลงทุนวิจัยและพัฒนาภาคเอกชน จำนวนเงิน 3.4 หมื่นล้านบาท จากจำนวนผู้ประกอบการกว่า 5,500 ราย สถิติการลงทุนภาคเอกชนดังกล่าวเพิ่มขึ้นจากปี 2556 ถึง 29% ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ภาคเอกชนตื่นตัวและเห็นประโยชน์ของการพัฒนาธุรกิจด้วย วทน.

สำหรับตัวเลขบุคลากรด้านวิจัยและพัฒนา มีจำนวน 84,216 คน เพิ่มมากขึ้นกว่า 20% คิดสัดส่วนบุคลากรวิจัยและพัฒนา 13 คน ต่อประชากร 10,000 คน จากสถิติดังกล่าว ชี้วัดความก้าวหน้าของมาตรการพัฒนากำลังคน ซึ่ง่กระทรวงฯ มีมาตรการในหลายๆ ด้านเพื่อสนับสนุน ภาคเอกชนในการลงทุนด้านการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม

ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวถึงมาตรการยกเว้นภาษี 300% เพื่อขับเคลื่อนประเทศสู่นวัตกรรม ว่า จากการเปิดเสรีทางการค้า ประเทศไทยต้องปรับตัว ซึ่งภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญในการใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รวมทั้งการสร้างนวัตกรรมในรูปของผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตใหม่ๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและหลุดพ้นจากการเป็นประเทศที่ติดกับดักประเทศรายได้ปานกลาง (Middle-income trapped country) รวมทั้งเป้าหมายปี 2559 ที่ต้องการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนวิจัยและพัฒนาเป็นร้อยละ 1 ของจีดีพี

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศพระราชกฤษฏีกาออกตามความในประมวลรัษฏากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฏากร (ฉบับที่ 598) พ.ศ. 2559 ให้เพิ่มการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรายจ่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนา เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็น 3 เท่าของรายจ่ายที่เกิดขึ้นจริง (ยกเว้นภาษี 300%) โดยกำหนดระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์เป็นเวลา 5 ปี โดยมีผลย้อนหลังตั้งแต่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 จนถึง 31 ธันวาคม พ.ศ. 2562

ทั้งนี้ มาตรการภาษีดังกล่าว มีการกำหนดวงเงินการใช้สิทธิในการหักค่าใช้จ่าย 3 เท่า หากผู้ประกอบการมีรายได้ไม่เกิน 50 ล้านบาท จะใช้สิทธิหักรายจ่ายฯ ได้ในวงเงินสูงสุดร้อยละ 60 ของรายได้ แต่หากมีรายได้เกิน 50 ล้านบาท ส่วนที่เกิน 50 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 200 ล้านบาท หักรายจ่ายฯ ได้อีกร้อยละ 9 และส่วนที่เกิน 200 ล้านบาท หักรายจ่ายฯ ได้เพิ่มเติมอีกร้อยละ 6 โดยทั้งสองกระทรวงฯ ได้ศึกษาแล้วว่า การกำหนดวงเงินอย่างเป็นขั้นบันไดนี้จะเอื้อประโยชน์ให้กับกิจการทุกขนาด และจะไม่ส่งผลให้กิจการที่ทำวิจัยมากอยู่แล้ว ลดค่าใช้จ่ายวิจัยเพราะถูกจำกัดวงเงินการหักค่าใช้จ่ายฯ มาตรการนี้กำหนดไว้ในระยะเริ่มต้น 5 ปี เพื่อศึกษาถึงผลกระทบว่ามาตรการยกเว้นภาษีจะเป็นไปในทิศทางที่รัฐบาลต้องการสนับสนุน และอาจพิจารณาขยายระยะเวลาในการให้สิทธิประโยชน์ได้อีกในอนาคต

สำหรับในส่วนของ สวทช.มีบทบาทเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากกรมสรรพากร ให้ดำเนินการตรวจสอบและรับรองโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการภาคเอกชน สำหรับการขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2545 ซึ่งผลการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา มีโครงการวิจัยฯ ได้รับการรับรองแล้ว จำนวน 2,834 โครงการ คิดเป็นมูลค่าโครงการรวม 9,886 ล้านบาท

โดยประเภทอุตสาหกรรมที่ยื่นขอรับรองโครงการวิจัยฯ สูงสุด 3 อันดับแรก คือ อุตสาหกรรมเกษตร อุตสาหกรรมยาและเคมีภัณฑ์ และอุตสาหกรรมการก่อสร้างและวัสดุ ตามลำดับ ทั้งนี้จากผลการสำรวจมูลค่าผลกระทบเชิงเศรษฐกิจของโครงการวิจัยที่ได้รับรองจาก สวทช.ในช่วงปีงบประมาณ 2553-2558 คิดเป็นมูลค่าผลกระทบฯ รวม 16,489 ล้านบาท หรือสร้างผลกระทบฯ ได้ประมาณ 8 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับภาษีที่ได้รับยกเว้นรวม 2,082 ล้านบาท

นอกจากนี้ สวทช.ยังมีการพัฒนาปรับปรุงกระบวนการพิจารณารับรองโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งมั่นที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการบริการและสร้างความพึงพอใจให้กับผู้ประกอบการภาคเอกชนที่สำคัญ ได้แก่ 1) การเปิดให้บริการระบบ RDC Online ยื่นขอรับรองโครงการวิจัยผ่านทางอินเทอร์เน็ต เพื่อสร้างความสะดวกรวดเร็ว มีความปลอดภัยในการจัดเก็บข้อมูล และตรวจสอบติดตามผลได้ง่าย 2) การเพิ่มช่อง ช่องทาง Fast Track ซึ่งสามารถทราบผลการรับรองโครงการภายใน 1 เดือน

และ 3) การจัดหลักสูตรฝึกอบรมการเขียนข้อเสนอโครงการเพื่อขอการรับรองฯ ให้แก่ผู้ประกอบการ ซึ่งถือว่าเป็นการทำงานเชิงรุกเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ พร้อมทั้งผลักดันมาตรการทางภาษีที่จะเพิ่มความสามารถด้านวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีในภาคเอกชน มุ่งหวังให้เอกชนร่วมมือและให้ความสำคัญกับการทำวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น