xs
xsm
sm
md
lg

มิ้นท์และกันต์ กับ “หมอนปลาทู” ไอเดียสุดชิก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

“มิ้นท์” - มรกต ชมบุญ
หมอนอิงรูปอาหาร คอลเลกชัน Delicious Pillow ภายใต้แบรนด์ Tistgraphy สมจริงทั้งรูปทรง และสีสัน เพราะใช้เทคนิคการถ่ายภาพจากอาหารจริงๆ ก่อนจะนำมาพิมพ์ลงบนปลอกหมอน จากนั้นก็เย็บให้ได้รูปทรงของอาหารชนิดนั้น ถึงจะเพิ่งวางขายไม่นาน แต่ก็ได้รับความนิยมจากลูกค้าอย่างรวดเร็ว

“มิ้นท์” - มรกต ชมบุญ และ “กันต์” - นวพร ธรรมรัตน์วิภาค เจ้าของแบรนด์ Tistgraphy คือคู่รักเด็กแนวที่เริ่มต้นทำธุรกิจร่วมกันตั้งแต่อายุเพียงแค่ยี่สิบต้นๆ เท่านั้น

แน่นอนว่า จากจุดเริ่มต้นที่ต้องลองผิดลองถูกกันเองบนพื้นฐานการทำธุรกิจที่มีประสบการณ์เป็นศูนย์ กว่าจะจับทางได้ก็ทำเอาเหนื่อยใจกันทั้งคู่

มิ้นท์เรียนจบถ่ายภาพจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง หลังเรียนจบก็เป็นพนักงานประจำ ทำในส่วนของออร์แกไนเซอร์

ส่วนกันต์ เรียนจบมัณฑนศิลป์จากมหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อเรียนจบก็มาช่วยธุรกิจของทางบ้าน ซึ่งมีทั้งในส่วนของบริษัททำผ้าใบ และร้านขายอาหาร

ที่มาในการสร้างธุรกิจของทั้งคู่นั้น เริ่มจากการสร้างแบรนด์ Tistgraphy เพื่อผลิตสินค้าเกี่ยวกับสุนัข ก่อนที่จะขยายไปยังส่วนของ Delicious Pillow

มิ้นท์เล่าว่า “ไอเดียในการสร้างธุรกิจเริ่มต้นเมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว ตอนนั้นมิ้นท์ทำออร์แกไนซ์ ทำงานอีเวนต์ต่างๆ ก็จะมีคอนเนกชันกับทางห้างฯ ตอนนั้นศูนย์การค้าพรอมานาด ย่านรามอินทรา ที่เพิ่งเปิดใหม่ เขาก็มาเสนอพื้นที่ให้เราไปออกบูทขายของ มีเวลาให้ประมาณ 10 วัน เราก็นึกสนุก อยู่ดีๆ ก็มีคนเอาพื้นที่ขายของมาให้ แต่จะเอาอะไรไปขายล่ะ

ด้วยความที่มิ้นท์กับกันต์เป็นคนรักหมามาก เลี้ยงหมาด้วยกันทั้งคู่ ก็อยากจะทำในสิ่งที่ตัวเองรัก แรงบันดาลใจในการสร้างธุรกิจก็มาจากน้องหมานี่ล่ะ กันต์ก็เรียนจบทางวาดรูปมาอยู่แล้ว กันต์ก็วาดรูปเองทั้งหมด แล้วมิ้นท์ก็เอาไปสกรีนลงบนสินค้า

ตอนนั้นมิ้นท์ยังทำงานประจำอยู่ ส่วนกันต์ก็ยังทำงานกับที่บ้าน เราก็ใช้เวลาหลังเลิกงานมาช่วยกันทำสินค้า วันนี้วาดรูป พรุ่งนี้สกรีน วันต่อไปก็เอาไปส่งให้เขาเย็บ ในช่วงแรกไลน์สินค้าจะมีแค่ 3 อย่าง คือ กระเป๋าใส่เหรียญ เสื้อยืด และหมอนอิง

ที่จริงก็ไม่ได้คาดหวังอะไร ส่วนหนึ่งที่ทำเพราะความชอบ คนเลี้ยงหมาน่าจะเป็นเหมือนเรา คือชอบสินค้าอะไรก็ตามที่เป็นรูปน้องหมา กลายเป็นว่าแค่ช่วงเวลา 10 วัน สินค้ามันขายได้ทุกวัน ทำให้เริ่มมองเห็นโอกาสในการสร้างธุรกิจอย่างจริงจัง

ถามว่ายอดขายมันดีไหม มันก็ดีสำหรับเราแล้วในตอนนั้น ก็เริ่มไม่อยากทำงานออฟฟิศแล้ว อยากออกมาทำของตัวเอง เพราะมันสนุก แล้วก็ได้ทำงานด้วยกัน เพราะกันต์เองก็ออกมาช่วยทำตรงนี้ด้วยกันเต็มตัว”

ด้วยเงินทุนที่น้อย การเลือกทำเลในการขายของกลายเป็นปัจจัยหลักที่ต้องคำนึงถึง พอดีกับทางตลาดซิเคด้า หัวหิน เพิ่งเปิดตัวใหม่ และเสียค่าเช่าไม่แพงมากนัก ทั้งคู่ตัดสินใจไปทดลองขายที่นั่นเพื่อจับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีความตั้งใจจะใช้เงินในการจับจ่ายซื้อของกันอยู่แล้ว

“เราดันไปขายที่ซิเคด้าในช่วงหน้าฝนพอดี ช่วงเดือนกรกฎาคม 2555 ไปขายวันแรกฝนตกทั้งวัน ตลาดแทบไม่มีคนเดินเลย กว่าจะได้ขายก็ปาเข้าไป 2 ทุ่มแล้ว เพราะตอนนั้นเรายังไม่มีหน้าร้าน เป็นเหมือนแผงลอยที่ตั้งขายกับพื้น ตอนนั้นก็รู้สึกเฟลไปนิดหนึ่งนะ เพราะวันแรกขายไม่ได้เลย แต่เราเสียค่าที่ไปแล้วไง

มิ้นท์กับกันต์เป็นคนกรุงเทพฯ ทั้งคู่ แต่เราจะขับรถไปขายที่ตลาดซิเคด้า ในวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ส่วนวันธรรมดาก็อยู่กรุงเทพฯ ถึงวันแรกที่ไปจะขายไม่ได้เลย แต่เราก็เดินหน้าต่อไป พอสักพักหนึ่งเริ่มขายได้ มันก็มีกำลังใจ ขับรถกลับกรุงเทพฯ นี่นั่งยิ้มไปตลอด เฮ้ย ฉันขายได้นะอาทิตย์นี้ แต่ถามว่าขายได้เยอะไหม มันก็ไม่ได้เยอะมากขนาดนั้น แต่เรามีความสุขเพราะได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก

ขายอยู่ที่ซิเคด้าได้ประมาณ 6 เดือน จากเดิมที่มีแค่สีขาวดำ ก็เริ่มมีสีเข้ามา เปลี่ยนมาใช้เทคนิคการพิมพ์ด้วยความร้อน ใช้สีเข้ามาเป็นส่วนประกอบของภาพมากขึ้น และขยายไลน์โปรดักต์ออกไปมากขึ้น เช่น หมอน พวงกุญแจ ผ้าพันคอ เสื้อยืด กระเป๋า กระเป๋าใส่เหรียญ แต่ที่ขายดีที่สุดก็ยังคงเป็นหมอนหมา สนนราคาของสินค้าจะอยู่ที่ 180-680 บาท

พอขายไปได้สัก 1 ปี ก็เริ่มมีลูกค้าถามกันเยอะ ว่าทำไมสินค้าของเราถึงไม่มีขายที่กรุงเทพฯ บ้าง ต้องบอกว่าสินค้าเราค่อนข้างดังในตลาดซิเคด้า คนที่มาเที่ยวเขาจะถามหาหมอนหมาหัวหินกัน ลูกค้าจะเรียกเราแบบนี้

เมื่อธุรกิจเริ่มอยู่ตัว เราก็ขยายตลาดกลับมายังกรุงเทพฯ ก็เริ่มต้นจากไปออกงานอีเวนต์ต่างๆ ตามห้างสรรพสินค้า อย่างพวกงานสัตว์เลี้ยง เพราะค่าออกบูทมันไม่ได้แพงมาก ตอนนั้นก็ไปหลายที่ เช่น ซีคอนสแควร์ แฟชั่นไอส์แลนด์ แต่ลูกค้าก็เริ่มถามหาหน้าร้านกันมากขึ้น เพราะไม่สะดวกที่จะตามเราไปเวลาออกบูททุกครั้ง

ก็พอดีมาได้สถานที่ตรงตลาดนัดรถไฟ ศรีนครินทร์ ที่ค่าเช่าไม่ได้แพงมากนัก เลยตัดสินใจเช่าเอาไว้เป็นหน้าร้านที่กรุงเทพฯ เพื่อสร้างความมั่นใจ และอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้า ควบคู่ไปกับการขายที่ตลาดซิเคด้า และการออกบูทตามงานอีเวนต์ต่างๆ เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง”

เมื่อสินค้าน้องหมาเริ่มอยู่ตัว มีฐานลูกค้าทั้งประจำและขาจรที่กว้างขึ้นแล้ว ทั้งคู่ก็เริ่มมองไปที่การแตกไลน์ธุรกิจเพื่อขยายกลุ่มลูกค้าออกไป นอกเหนือจากกลุ่มคนรักสุนัข และกลุ่มนักท่องเที่ยว

“ด้วยความที่แม่กันต์ทำร้านอาหาร มีตัวโปรดักต์อยู่แล้ว มิ้นท์ก็อยากนำความรู้ที่เรียนถ่ายภาพมาใช้ในการทำธุรกิจบ้าง เพราะสินค้าไลน์น้องหมา กันต์จะเป็นคนเขียนรูป แล้วมิ้นท์เป็นฝ่ายผลิตในการเอาไปทำต่อในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ก่อนจะพิมพ์ออกมาอีกที

คราวนี้ก็อยากจะเอาความรู้ของตัวเองมาใช้บ้าง ก็เลยถ่ายรูปอาหาร แล้วนำมาพิมพ์เป็นภาพ ซึ่งจะทำให้ได้แบบที่เหมือนกับของจริง เราเริ่มต้นจากหมอนปลาทูเป็นตัวแรก เพราะมิ้นท์ชอบกินปลาทู แล้วรูปร่างของมันพอทำออกมาเป็นหมอนก็ดูสะดุดตาด้วย เพราะเราเลือกทำหมอนที่มีไซส์ใหญ่

พอหมอนปลาทูมันขายได้ เราก็เริ่มทำลายอื่นขึ้นมาอีก แล้วตั้งเป็นคอลเลกชัน Delicious Pillow แต่ยังคงอยู่ภายใต้แบรนด์ Tistgraphy อยู่ เพราะมิ้นท์มองว่าตอนนี้แบรนด์มันมีฐานลูกค้าอยู่แล้ว ถ้าเราแยกไปสร้างแบรนด์ใหม่มันอาจจะไม่อิมแพกต์ ทำเป็นคอลเลกชันเวลาจะออกสินค้าไลน์ใหม่ๆ น่าจะดีกว่า

ตอนนี้สินค้าในคอลเลกชัน Delicious Pillow มีทั้งหมด 11 ลาย แบ่งเป็นหมอนตามเชฟของอาหาร 5 แบบ ได้แก่ ปลาทู ปลาสลิด ปลาเค็ม กุ้งเผา และน่องไก่ ราคาจะอยู่ที่ 680 บาท ส่วนอีก 6 ลายที่เหลือมีลักษณะเป็นหมอนกลม ได้แก่ ขันโตก ผัดไทย น้ำพริกกะปิผักต้ม ต้มยำกุ้ง แกงเขียวหวานไก่ และส้มตำถาด ราคาจะอยู่ที่ 580 บาท

ที่ขายดีมากๆ จะเป็นปลาทู กับส้มตำถาด คอลเลกชันนี้เพิ่งวางจำหน่ายเมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน 2557 แต่ได้รับความนิยมเยอะมาก และขายได้เร็วกว่าสินค้าในไลน์น้องหมาอีก ตอนนี้สัดส่วนการขายน่าจะอยู่ที่อย่างละ 50% เพราะกลุ่มเป้าหมายที่ขยายกว้างขึ้น

ลูกค้าในกลุ่มของ Delicious Pillow จะเป็นคนละกลุ่มกับสินค้าน้องหมา จะเป็นคนที่ชอบความแปลกใหม่ ชอบอะไรที่มันแนวๆ อย่างที่ตลาดซิเคด้าเขาเดินผ่านร้านเราแล้วเห็นหมอนปลาทูเขาก็จะตกใจ ว่าทำไมหมอนใบใหญ่จัง แล้วมันก็ดูเหมือนปลาทูจริงๆ มาก

ส่วนอีกกลุ่มหนึ่ง คือ คนที่ทำธุรกิจร้านอาหาร พอเห็นหมอนอิงที่เป็นอาหารไทยก็จะชอบกันมาก ซื้อไปใช้ในการตกแต่งร้าน ก็จะได้ลูกค้าธุรกิจในกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นมาด้วย”

เมื่อถามถึงอุปสรรคในการทำธุรกิจที่ผ่านมา มิ้นท์เล่าว่า เกิดขึ้นนับครั้งไม่ถ้วน แต่ที่บั่นทอนความรู้สึกมากที่สุด คงเป็นเรื่องของการที่สินค้าถูกก๊อบปี้ในส่วนของสินค้าน้องหมา

สิ่งที่ทั้งคู่ทำได้ คือ การพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ลูกค้าไม่เบื่อ เพราะมั่นใจว่าเรื่องของลายเส้นที่เป็นเอกลักษณ์นั้นไม่สามารถลอกเลียนแบบกันได้ อีกทั้งยังขยายการทำธุรกิจไปสู่การรับทำสินค้าตามออเดอร์ จับกลุ่มลูกค้าที่เลี้ยงสุนัข ที่อยากจะได้ลายเส้นของสุนัขที่ตัวเองเลี้ยง ในรูปแบบของสินค้าแบบต่างๆ คิดค่าออกแบบ 500 บาท ลูกค้าจะต้องสั่งสินค้าขั้นต่ำ 2,000 บาทขึ้นไป จะสั่งสินค้าอะไรก็ได้ เช่น หมอน ผ้าพันคอ กระเป๋า แต่รวมกันแล้วต้องมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 2,000 บาทถึงจะรับทำให้

ตลาดในส่วนนี้ถึงจะมาทีหลังแต่มีแนวโน้มที่ดีขึ้นเรื่อยๆ เรียกว่ามีออเดอร์เข้ามาจนผลิตไม่ทัน ตอนนี้คิวยาวไปถึงช่วงปลายปีแล้ว เป็นอีกช่องทางที่ช่วยกระตุ้นเรื่องยอดขายให้กับแบรนด์ Tistgraphy

ในขณะที่ฝั่งของ Delicious Pillow ก็เพิ่งออกสินค้าตัวใหม่ตัวล่าสุดเมื่อเดือนพฤษภาคม 2558 ที่ผ่านมา เป็นหมอนข้างปลาทูไซส์ยักษ์ ขนาด 130 เซนติเมตร เท่ากับหมอนข้างขนาดมาตรฐาน

ทั้งคู่ยังเริ่มทำการตลาดออนไลน์ควบคู่ไปด้วย ทั้งช่องทางของ Facebook และ Line เพื่อช่วยให้เข้าถึงลูกค้าทุกกลุ่ม และยังสามารถใส่คอนเทนต์ เพิ่มความน่าสนใจให้แก่ตัวสินค้าได้มากขึ้น

“สินค้าตัวล่าสุดของเราจะเป็นหมอนปลาทูยักษ์ ไซส์เดียวกับหมอนข้างเลย เราก็ลงขายใน Facebook กับ Line ก็ใช้คำพูดเก๋ว่า หมอนข้างคนไทย กอด หอม กลิ่นคาว ลูกค้าก็ให้ความสนใจกันมาก มีออเดอร์สั่งซื้อเข้ามาทุกวันทั้งทางออนไลน์ แล้วก็ช่องทางหน้าร้านทั้ง 2 สาขา

ส่วนกลิ่นคาวที่เราบอกนั้น เป็นแค่กิมมิกสนุกๆ คือ ส่วนมากคนเขาซื้อไปเป็นหมอนข้าง ทีนี้เวลานอนกอดตอนดึก ตื่นมามันก็ต้องมีคราบน้ำลายติด มันก็ต้องมีกลิ่นไง หรือบางคนก็ซื้อไปให้ลูกๆ ซึ่งพวกเด็กๆ จะชอบกันมาก ลูกค้าส่งรูปมาให้ดูนี่ตัวเท่ากันกับหมอนเลย ก็ต้องมีเลอะน้ำลาย เลอะนมติดมาบ้าง

เพราะถ้าเราใส่กลิ่นคาวอย่างกลิ่นปลาทูลงไปจริงๆ มันคงจะเหม็นมากกว่าจะน่ากอด แต่พอลูกค้าเขาเห็นเราลงโฆษณาอย่างนั้นไป เขาก็จะถามว่าตกลงมีกลิ่นจริงๆ ไหม ทำไมดมดูแล้วไม่เห็นมีเลย เราก็จะบอกว่า พี่ลองซื้อกลับไปสักเดือนหนึ่ง รับรองว่ามีกลิ่นแน่ๆ ก็จะเป็นมุขที่เราเอามาเล่นกับลูกค้า

ส่วนเรื่องสินค้าเลียนแบบ ตอนนี้หมอนอาหารยังไม่เคยเห็นนะ แต่ในส่วนของหมอนหมามีมาสักพักแล้ว ถามว่าเราจะไปตามจับไหม ก็คงไม่ เพราะเราก็จดลิขสิทธิ์เอาไว้แล้ว ตรงนี้จดเพื่อความสบายใจของตนเอง เพราะมันก็มีช่องโหว่อยู่เยอะ พวกงานวาด ลายเส้น มันไม่เหมือนกันเป๊ะอยู่แล้ว แต่ก็จดเอาไว้เพื่อความสบายใจ ทั้งในส่วนของหมอนน้องหมา และหมอนอาหาร”

ถึงแม้ทั้งคู่จะยังใหม่กับการทำธุรกิจ แต่ก็สามารถช่วยกันแก้ไขปัญหาจนผ่านอุปสรรคมาได้ทุกครั้ง จนตอนนี้ธุรกิจสำเร็จไปแล้วในระดับหนึ่ง

ก้าวต่อไปที่มองไว้ คือ การพัฒนาสินค้าไลน์ใหม่ๆ อย่างไม่หยุดนิ่ง เพื่อเพิ่มความหลากหลายให้แก่ลูกค้า และยังเป็นกลยุทธ์ที่ใช้หนีจากการโดนก๊อบปี้อีกด้วย

ใครสนใจจับคู่ธุรกิจ หรือแลกเปลี่ยนประสบการณ์ธุรกิจกับแบรนด์ Tistgraphy สามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/Tistgraphy และ line id : Tistgraphy

#### ข้อมูลโดย : นิตยสาร SMEs PLUS ###


* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น