xs
xsm
sm
md
lg

มาตรวัด 'ความสุก' ผลไม้ ตัวช่วยผู้ส่งออก...ง่ายๆ แค่สายรัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ต้องยอมรับว่าปัญหาหนึ่งของผู้ส่งออกมะม่วง โดยเฉพาะมะม่วงสุกของไทย คือ ไม่สามารถระบุความสุกของมะม่วงได้ว่าอยู่ในระดับใด และควรรับประทานอย่างไร เนื่องจากไม่มีเครื่องวัด ทำให้นักวิจัยพยายามคิดค้นมาตรวัดต้นทุนต่ำสำหรับผลไม้ไทยโดยเฉพาะ สุดท้ายก่อเกิดเป็น “สติ๊กเกอร์แสดงระดับความสุกของผลไม้” เตรียมจับมือเอกชนพัฒนาเชิงพาณิชย์

ความสุกดิบของผลไม้อย่างมะม่วง สำหรับคนไทยถือเป็นเรื่องง่ายมาก รู้ว่าความสุกระดับระดับนี้ควรนำไปรับประทานคู่กับอะไร อย่าง ข้าวเหนียวมูน น้ำปลาหวาน หรือกระทั่งรับประทานเปล่าๆ แต่สำหรับชาวต่างชาติถือเป็นเรื่องยาก ที่ผู้ส่งออกมักจะเจอคำถามอยู่บ่อยครั้งว่ามะม่วงสุกระดับใด?
ดร.กมลวรรณ ธรรมเจริญ และ ดร.อัจฉรียา นพวิญญูวงศ์ ทีมนักวิจัย
ทำให้นักวิจัยจากศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แห่งชาติ (สวทช.) “ดร.กมลวรรณ ธรรมเจริญ” และทีมงาน ได้คิดค้นวิธีวัดระดับความสุกของผลไม้ โดยนำหลักวิทยาศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้อง โดยจุดเริ่มต้นแนวคิดนี้มาจากผู้ส่งออก และมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองที่ตัวเลขส่งออกเพิ่มขึ้นทุกปี หลังได้รับการตอบรับดีจากชาวจีน ไต้หวัน และชาวยุโรป ที่หลงใหลในรสชาติหวานหอมของผลไม้ชนิดนี้

“มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง เป็นอีกหนึ่งสายพันธุ์ของมะม่วงที่เมื่อผลสุกจะสังเกตจากผิวยาก เพราะสีไม่แตกต่างกันมากนัก รวมถึงได้มีโอกาสไปพูดคุยกับผู้ส่งออกผลไม้ชนิดนี้ก็พบว่าส่วนใหญ่จะเจอปัญหาคล้ายกัน คือ สีเปลือกไม่เปลี่ยนเมื่อผลเริ่มสุกเต็มที่ บางครั้งกลายเป็นอุปสรรคในการส่งออก เพราะไม่สามารถระบุระดับความสุกของผลไม้ที่ชัดเจนได้ เราจึงนำปัญหานี้ไปวิจัยเพื่อหาอุปกรณ์สำหรับวัดระดับความสุก”

หลังจากนั้นผ่านไป 1 ปี “สติ๊กเกอร์แสดงระดับความสุก” จึงเกิดขึ้นโดยศูนย์นาโนเทคโนโลยี เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารข้อมูลคุณภาพผลไม้ภายในบรรจุภัณฑ์แก่ผู้บริโภค และสามารถนำมาประยุกต์ใช้บ่งชี้คุณภาพผลไม้สดได้หลากชนิด เพราะระดับความสุกของผลไม้จะถูกบ่งชี้จากสีผิวเปลือก แต่มีผลไม้บางชนิดที่ไม่สามารถระบุความสุกได้จากระดับการเปลี่ยนสีของผิวเปลือก เช่น ทุเรียน มะม่วง ลูกแพร เป็นต้น ซึ่งประโยชน์จากการจำแนกระดับความสุก ถือเป็นการรับประกันคุณภาพและสร้างความเชื่อมั่นในการตัดสินใจซื้อแก่ผู้บริโภค ซึ่งช่วยส่งเสริมคุณภาพและศักยภาพในตลาดส่งออกของผลไม้ไทยสู่ตลาดโลก รวมถึงการวางแผนเพิ่มคุณภาพและมาตรฐานด้านการขนส่งและการกระจายสินค้าสู่มือผู้บริโภคอีกด้วย
เม็ดกลมเล็กๆ กลางสายรัด คือ มาตรวัดความสุกของผลไม้ สังเกตได้จากความเข้มของสี
สำหรับสติ๊กเกอร์แสดงระดับความสุกของผลไม้มีกระบวนการทำโดยสังเกตการเปลี่ยนสีของอินดิเคเตอร์ที่ตอบสนองต่อการสุกของผลไม้เมื่อปลดปล่อยสารอินทรีย์ระเหย อาศัยหลักการทำงานของปฏิกิริยาเคมีระหว่างสารเปลี่ยนสีที่เคลือบบนพลาสติกจากผลไม้ และทำให้สติ๊กเกอร์เปลี่ยนสีจากสีขาวในผลไม้ดิบ เป็นสีฟ้าเมื่อผลไม้สุกห่าม และสีน้ำเงินเมื่อสุกนิ่ม ตามระดับความสุกของผลไม้ ซึ่งการพัฒนาสติ๊กเกอร์แสดงระดับความสุกของผลไม้ ใช้เวลาประมาณ 1 ปี ได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก สวทช. จำนวน 3 ล้านบาท ในชื่อโครงการ Giga Impact โดยการเลือกตลาดผลไม้ เพราะเป็นอุตสาหกรรมสำคัญต่อประเทศไทย

ขณะนี้สติ๊กเกอร์แสดงระดับความสุกของผลไม้ อยู่ในช่วงพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ มีเพียงสินค้าต้นแบบให้แก่ผู้ประกอบการที่สนใจ โดยต้นทุนสติ๊กเกอร์อยู่ที่แผ่นละ 1.80 บาทเท่านั้น คาดว่าภายในปี 59 จะเห็นการทำให้ใช้จริงกับผลไม้ส่งออก และผลไม้ที่ผู้ประกอบการต้องการเพิ่มมูลค่าและสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค หากภาคเอกชนสนใจพัฒนาสติ๊กเกอร์แสดงระดับความสุกของผลไม้ ในเชิงพาณิชย์ ทางนาโนเทคก็ยินดีร่วมลงทุน และถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ให้ ซึ่งต่อไปจะพัฒนาให้ใช้ได้กับกล้วยหอมทองที่มียอดการส่งออกไม่แพ้กัน

สนใจติดต่อศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โทร.0-2564-7100 หรือที่ www.nanotec.or.th
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น