ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยไทยต้องเร่งชิงความได้เปรียบ หลังก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยบูรณาการอุตสาหกรรมใหม่ (New-S-Cover) และผลักดันสู่อุตสาหกรรมอนาคต ในรูปแบบคลัสเตอร์ ชี้อุตสาหกรรมสีเขียว เทคโนโลยีเครื่องจักร และยานยนต์ ไทยยังได้เปรียบประเทศเพื่อน ขณะที่เสียเปรียบด้านสิ่งทอ และวัตถุดิบต้นน้ำ
นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า จากการไทยกำลังก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ทำให้แนวโน้มการทำตลาดในอนาคตจะรุนแรงมากขึ้น ดังนั้น ไทยจำเป็นต้องชิงความได้เปรียบในเวทีโลกด้วยการสร้างสรรค์สินค้าอุตสาหกรรมให้สอดรับกับปัจจัยภายนอก รวมถึงการบูรณาการนโยบายสนับสนุน “กลุ่มอุตสาหกรรมใหม่” หรือ New S-Cove ที่มีอนาคตสดใสในระดับโลกและภูมิภาคอย่างจริงจัง
โดยประเทศพัฒนาแล้วได้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมในรูปแบบใหม่ เป็นการสร้างนวัตกรรมและการออกแบบในขั้นแรกและการตลาดและการให้บริการหลังการขายในขั้นปลาย หรือสร้าง New S-Cove ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ภาคการผลิตสามารถพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมลดการพึ่งพาแรงงานได้ โดยปัจจัยสู่ความเร็จ คือ “นวัตกรรม” เพราะผลการศึกษาจากหลายแห่งชี้ชัดว่า นวัตกรรมในภาคอุตสาหกรรมสร้างผลพลอยได้ต่อภาคส่วนอื่นๆ
ทั้งนี้ สศอ.ในฐานะผู้กำหนดนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ จึงดำเนิน “โครงการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมอนาคตไทย วิสัยทัศน์ใหม่สู่ AEC” เพื่อนำยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการพัฒนา “อุตสาหกรรมอนาคต” เพื่อนำมาขับเคลื่อนนโยบายอุตสาหกรรมอนาคต ในรูปแบบคลัสเตอร์ระดับภูมิภาคสู่การปฏิบัติและบรูณาการระหว่างทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นรูปธรรม
สำหรับอุตสาหกรรมอนาคต สามารถจำแนกออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มพลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานชีวมวล 2. กลุ่มวัสดุสีเขียว อาทิ พลาสติกและบรรจุภัณฑ์ ชีวภาพ สิ่งทอสีเขียว วัสดุก่อสร้างซึ่งใช้วัตถุดิบทางการเกษตรและของเหลือใช้ (รีไซเคิล) 3. กลุ่มสุขภาพ ได้แก่ เภสัชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ เครื่องสำอาง อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์สมุนไพร 4. กลุ่มหลอมรวมเทคโนโลยี เช่น การผลิตแบบเพิ่มเติม หุ่นยนต์อัจฉริยะ ไมโครและนาโนอิเล็กทรอนิกส์ การป้องกันประเทศ และ 5. กลุ่มยานพาหนะ อาทิ ยานยนต์สะอาด ระบบราง อากาศยาน การต่อเรือ ซึ่งหลายกลุ่มสามารถใช้ประโยชน์จากฐานการผลิตเกษตรแปรรูปของไทย และพึ่งพาอาศัยการเชื่อมโยงระหว่างวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่เป็นจุดที่ไทยยังต้องเร่งการพัฒนาเพิ่ม กับทุนทางธรรมชาติ สังคม และวัฒนธรรมที่เป็น ข้อได้เปรียบภายในประเทศที่มีอยู่ของไทย
โดย สศอ.ได้ทำการวิเคราะห์และประเมินศักยภาพการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมอนาคตทั้ง 5 กลุ่ม พบว่า การเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน 6 ประเทศที่มีพรมแดนทางบกและน้ำกับไทย ได้แก่ เมียนมาร์ ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ไทยแข่งขันได้ดีในหลายกลุ่มอุตสาหกรรมอนาคต ได้แก่ กลุ่มวัสดุสีเขียว (พลาสติก) กลุ่มหลอมรวมเทคโนโลยี (เครื่องจักรกลและอิเล็กทรอนิกส์) และกลุ่มยานพาหนะ (ยานยนต์) แม้ว่าจะเริ่มสูญเสียความได้เปรียบให้ประเทศเพื่อนบ้านในบางสาขาอุตสาหกรรม เช่น สิ่งทอ และเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน พบว่ามาเลเซียแข่งขันได้ดีในกลุ่มพลังงานสะอาด (เซลล์แสงอาทิตย์) ส่วนเมียนมาร์ ลาว กัมพูชา และเวียดนามแข่งขันได้ดีในขั้นปลายน้ำของกลุ่มวัสดุสีเขียวบางประเภท (เครื่องนุ่งห่ม)
จึงสรุปได้ว่าไทยและประเทศเพื่อนบ้านเก่งกันคนละทิศคนละทาง การผลิตจึงน่าจะมีลักษณะของการเกื้อหนุนมากกว่าการทดแทนกัน มีแต่เพียงในสาขาอิเล็กทรอนิกส์ ที่ไทยแข่งขันได้ดีและมีมาเลเซียกับเวียดนามเป็นคู่แข่งโดยตรง ผลยังปรากฏอีกว่า กลุ่มวัสดุชีวภาพได้รับการประเมินศักยภาพสูงสุดเพราะไทยแข่งขันได้ดี ไทยเป็นผู้ส่งออกสุทธิและมีสัดส่วนการนำเข้าจากภายในอาเซียนค่อนข้างสูง
ทั้งนี้ ในด้านการพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมอนาคตนำร่องในเชิงคลัสเตอร์อุตสาหกรรมข้ามแดน ในการวิเคราะห์การเชื่อมโยงห่วงโซ่มูลค่าและคลัสเตอร์กลุ่มอุตสาหกรรมวัสดุสีเขียว ประกอบด้วย 3 สาขา ได้แก่ บรรจุภัณฑ์ชีวภาพ สิ่งทอสีเขียว และวัสดุก่อสร้างสีเขียวนั้น สาขาบรรจุภัณฑ์สีเขียวมีโอกาสใช้วัตถุดิบจากผลผลิตการเกษตรมากที่สุด ได้แก่ มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด รองลงมา คือ สาขาสิ่งทอสีเขียว ได้แก่ เส้นใยธรรมชาติ ส่วนสาขาวัสดุก่อสร้างสีเขียวใช้ประโยชน์จากการแปรรูปสินค้าเกษตรน้อยกว่าสาขาอื่นๆ โดยผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่มาจากของเหลือใช้หรือนำกลับมาใช้ใหม่ เช่น ตะกอน ขี้เถ้า กระจกรีไซเคิล
สำหรับแนวทางการเชื่อมโยงในรูปแบบคลัสเตอร์นั้น เป็นไปได้ทั้งในรูปแบบคลัสเตอร์ข้ามแดนและคลัสเตอร์คู่แฝด แต่รูปแบบหลังเหมาะสำหรับการแลกเปลี่ยนความรู้และทรัพยากรในคลัสเตอร์ที่มีความสามารถใกล้เคียงกันโดยไม่จำเป็นต้องมีพรมแดนติดกันซึ่งได้รับความนิยมในสหภาพยุโรป ส่วนในอาเซียน ควรเน้นแบบแรกมากกว่า เพราะมีความถนัดในส่วนที่แตกต่างกัน ทั้งการเชื่อมโยงห่วงโซ่มูลค่าและการเน้นประโยชน์ในการเชื่อมต่อระหว่างแต่ละขั้นตอนการผลิตระหว่างไทยกับพื้นที่ชายแดนของเพื่อนบ้าน
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ 360 องศา” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *