กลายเป็นเทรนด์ที่มาแรงจนหยุดไม่อยู่แล้ว สำหรับการขายอาหารบนรถเคลื่อนที่หรือที่เรียกกันว่า “Food Truck” ที่นำร่องมาก่อน จนประสบความสำเร็จไปตามๆ กัน ในรูปแบบทำได้ง่าย กินง่าย สมกับเป็นฟาสต์ฟูดขวัญใจคนรุ่นใหม่
“นันท์ ธนานันท์” ก็เป็นคนรุ่นใหม่ที่มองเห็นโอกาสทางธุรกิจของการขายอาหารบน Food Truck เช่นเดียวกัน ซึ่งร่วมกับเพื่อนๆ อีก 5 คน ประกอบไปด้วยตวงพร จีรังสุวรรณ รณกร ศรีสวัสดิ์ วรดา ธีระศิริศิลป์ ปรีดาพล พลางกูร และอภิรัศมิ์ พลเตชา สร้างธุรกิจ Food Truck ขึ้นภายใต้ แบรนด์ Forkers เลือกขายอาหารหรูในราคาที่จับต้องได้อย่างพาสตา (Pasta) ซึ่งไม่เคยมีขายบน Food Truck มาก่อน
นันท์เป็นตัวแทนบอกเล่าถึงแนวคิดที่หันมาลุยธุรกิจร่วมกันกับแก๊งเพื่อนรัก ซึ่งทุกคนต่างก็มีธุรกิจส่วนตัว หรือทำงานประจำกันอยู่แล้วทุกคน แต่ก็เลือกที่จะสร้างธุรกิจร่วมกัน ด้วยความสามารถที่หลากหลายและแตกต่างกัน กลายเป็นทีมงานที่มีความลงตัว
“พวกเราทั้ง 6 คนรู้จักกันมานานแล้ว เป็นเพื่อนตั้งแต่สมัยมหาวิทยาลัย บางคนก็ตั้งแต่สมัยมัธยม ทุกคนต่างก็มีอาชีพประจำ บางคนทำธุรกิจส่วนตัว หรือธุรกิจของครอบครัวอยู่ ในขณะที่ผมอยู่ในสายงานการเมือง ซึ่งตอนนี้ยังไม่สามารถทำอะไรได้มาก จึงสามารถลงมาดูแลธุรกิจตัวนี้ได้อย่างเต็มตัว
สำหรับไอเดียในการสร้างธุรกิจ ก็มานั่งล้อมวงคุยกันว่าจะทำร้านอะไร จะขายอะไรดี หุ้นส่วนคนหนึ่งเขาทำร้านอาหารอยู่แถวสาทร เป็นพวกอาหารไทย เขาก็ไม่อยากจะได้แนวนี้แล้ว อยากจะทำอาหารแนวอื่นที่มันฉีกออกไป
ทีนี้หุ้นส่วนคนหนึ่งเพิ่งไปกิน Food Truck มาแล้วรู้สึกชอบ ซึ่งพอเสนอมาทุกคนก็เห็นด้วย เพราะถ้าจะไปเช่าพื้นที่ในห้างอย่างสยามฯ มันก็แพงมาก อาจจะสู้เรื่องค่าเช่าไม่ไหว หรือถ้าจะเป็นร้าน Stand Alone ก็อาจจะได้ทำเลที่ไกลไปเลย หรือคนเดินน้อย ก็เลยมาลงตัวที่รูปแบบของ Food Truck
ข้อดีของ Food Truck อย่างแรก ก็คือ เราตามลูกค้าได้ เป็นฝ่ายเข้าไปหาลูกค้าเอง ตรงไหนคนเยอะเราก็ไปขาย ไม่ต้องรอให้ลูกค้าเข้ามาหาเรา ข้อที่สอง ค่าเช่ามันถูกกว่ากันเยอะ และมันออกงานอีเวนต์ได้ จะไปไหนก็ขับรถไปเลยทั้งคัน ไม่ต้องมานั่งเตรียมบูท มองว่าความคล่องตัวมันสูงกว่า และมีคอสต์ที่ต่ำกว่า
ส่วนในเรื่องของประเภทอาหารก็ตัดสินใจว่าจะเลือกเป็นพาสตา เพราะเป็นเมนูที่กลุ่มพวกเราชอบทำกินกันเองอยู่แล้ว ส่วนมากก็ทำกินกันเดือนละ 2-3 ครั้ง บางครั้งทำให้พ่อแม่ ทำให้แฟนกิน มันเป็นเมนูอาหารที่อยู่ใกล้ตัวพวกเรา
อีกอย่างก็คือ เรามองว่าพาสตาเป็นอาหารที่ไม่ได้หากินได้ง่ายเหมือนพวกอาหารฟาสต์ฟูด ต้องใช้วัตถุดิบเยอะ และมีวิธีทำที่ยุ่งยากกว่า ที่สำคัญอาหารในประเภทนี้มักจะขายกันตามร้านอาหารฝรั่ง หรือร้านอาหารที่หรูหน่อย แต่เราจะเอามาขายบน Food Truck ตั้งราคาขายไม่แพง เพื่อให้คนเข้าถึงได้ง่าย ซึ่งยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน”
เมื่อระดมไอเดียจนได้ข้อสรุปร่วมกันแล้วว่าจะทำธุรกิจอาหารประเภท พาสตา บนรถ Food Truck ก็เริ่มมองหาบริษัทที่รับจ้างผลิตรถ Food Track จนมาลงตัวที่บริษัทตงฟง มอเตอร์ส (ประเทศไทย)
“รถของยี่ห้อตงฟงจะมีให้เลือกอยู่ 3 แบบ แบบแรกจะเป็นรถเปลือยๆ มาเลย ไม่มีด้านบน แบบที่ 2 จะเป็นแบบเปลือยเหมือนกัน แต่จะมีระบบไฟมาให้ ส่วนแบบที่ 3 จะมีโครงสร้างครบ และมีครัวมาให้ด้วย
เราเลือกรถในแบบที่ 2 ซึ่งใช้เงินลงทุนไป 400,000 บาท จากนั้นก็นำมาตกแต่งเพิ่มเติม ทั้งเรื่องโครงรถ หุ้นส่วน 2 คนทำเอเยนซีอยู่แล้ว ก็จะมีพวกวัสดุอย่างแผ่นไม้ที่นำมาตกแต่งรถได้ รวมถึงการเพิ่มระบบไฟอีกนิดหน่อย ในส่วนนี้ใช้งบประมาณอยู่ที่ประมาณ 200,000 บาท
สำหรับในส่วนของเมนูอาหาร หุ้นส่วนของเราคนหนึ่งเรียนทำอาหารที่กอร์ดอง เบลอ อาชีพหลักของเขาคือเป็นเซเลบริตีเชฟตามงานอีเวนต์ต่างๆ รวมถึงการสอนทำอาหาร ก็จะได้เพื่อนคนนี้เป็นคนออกแบบคอนเซ็ปต์เมนูอาหาร รวมถึงสูตรอาหารต่างๆ
ที่เราเลือกทำ พาสตา ในคอนเซ็ปต์ของ Food Truck ก็เพราะว่าพาสตาทั่วไปมันจะแพง เราเอามาทำให้มันอร่อย รสชาติเหมือนกับที่เรากินตามร้าน หรือตามโรงแรม แต่ในราคาแบบ Food Truck เริ่มต้นตั้งแต่ 50 บาท แล้วก็ไล่ขึ้นมา 85 บาท 135 บาท 160 บาท 190 บาท
อย่างเมนูที่ 75 บาท ชื่อโอริโอ จะใช้น้ำมันกับกระเทียมเป็นหลัก ใส่พริกให้มีรสเผ็ดหน่อยๆ และจะหอมกลิ่นโหระพา ตัวที่แพงสุดราคา 190 บาท ชื่อโบโรเนสเนื้อ เพราะเนื้อจะมีราคาสูงอยู่แล้ว
ส่วนเมนูที่คนกินเยอะสุด คือ คาโบนารา ราคา 135 บาท แต่ของเราไม่ได้ใส่ครีมแบบทั่วๆ ไป แต่เป็นการผัดกับเบคอนและหัวหอม เสร็จแล้วก็เอาไข่แดงตอกใส่แล้วคนให้เข้ากัน คือใช้วิถีดั้งเดิมของอิตาลี แต่ว่าไข่แดงก็จะสุกนะ หลายคนก็จะกลัวว่ามันจะไม่สุก พอเราคนทั่วๆ สักครู่ความร้อนของเส้นจะทำให้ไข่แดงสุกไปเอง
นอกจากนี้ก็จะมีเมนู Special เป็นไข่ปลาค็อดกับสาหร่าย ซึ่งได้สูตรมาจากเพื่อนที่ทำร้านอาหาร พอรู้ว่าพวกเราจะเปิด Food Truck ขายอาหาร เขาก็คิดสูตรนี้มาให้เป็นของขวัญเปิดร้าน เมนูนี้จะอยู่ที่ 220 บาท ที่เรียกว่า Special เพราะว่าจะมีการเปลี่ยนอยู่เรื่อยๆ ถ้าเราไปเจอวัตถุดิบอะไรที่ดูแล้วน่าสนใจ ก็จะเอามาทำสับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แต่เมนูหลักจะอยู่ที่ 75-190 จะไม่แตะ 200”
Forkers เป็นแบรนด์ Food Truck น้องใหม่ที่เพิ่งเข้ามาสู่ตลาดนี้ได้แค่ 2 เดือนเท่านั้น แต่ก็ได้รับการตอบรับอย่างอบอุ่นจากนักชิมที่มองหาเมนูอาหารใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ในเรื่องของความอร่อยและราคาที่ไม่แพง
“กว่าจะทำรถ กว่าจะเซตเมนูอาหารเสร็จก็ประมาณช่วงปลายเดือนมกราคมแล้ว แต่พอเดือนกุมภาพันธ์ก็ได้งานอีเวนต์แรก ที่เฟลเวอร์ สุขุมวิท 26 ในงาน Flavorfoodfest ช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ เพื่อนของเพื่อนเขารับออร์แกไนซ์งานนี้ เพื่อนเขารู้ว่าเรากำลังทำ Food Truck ก็เลยติดต่อให้ไปออก ซึ่งขายดีมากเกินกว่าที่เราคิดกันไว้ คนให้ความสนใจกันเยอะ
ตรงนี้เป็นความโชคดีอย่างหนึ่งด้วย ที่พวกเรามีเพื่อนๆ ในวงการเอเยนซี ออร์แกไนซ์อยู่เยอะ พอที่ไหนมีงานต้องการอาหาร เขาก็จะรีบบอก บางที่ก็ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย บางที่ก็เสียน้อยมาก ทำให้เราไม่มีต้นทุนในเรื่องของค่าเช่าสถานที่
พอไปออกงานครั้งแรกแล้วได้ผลตอบรับดีมากเราก็ไปเขาใหญ่ต่อเลย ตอนนั้นมีงานที่โบนันซ่าพอดี ก็อยากจะลองรถด้วยว่าไปไหวไหม ซึ่งก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ต่างจังหวัดคนจะเยอะแค่ช่วงวันเสาร์เท่านั้น พอวันอาทิตย์คนเขาก็ตีรถกลับกรุงเทพฯ กัน คนจะไม่เยอะเท่ากับอีเวนต์ในกรุงเทพฯ ก็ถือเป็นการทดลองตลาด
จากนั้นก็จะมีอีเวนต์ที่หน้าเซ็นทรัลเวิลด์อีก 2 งาน และล่าสุดก็คือท่ามหาราช ซึ่งก็ได้รับผลตอบรับที่ดี ยอดขายอยู่ที่ประมาณ 20,000 บาทต่อวัน ซึ่งเราขายแค่ช่วงสั้นๆ ประมาณ 5 โมงเย็นไปจนถึงดึก”
ถึงจะเพิ่งเปิดร้านได้แค่ 2 เดือน แต่ Forkers ก็เริ่มมีลูกค้าประจำบ้างแล้ว ซึ่งจะตามมากินทุกอีเวนต์เพราะติดใจในรสชาติของ Pasta ที่กลมกล่อม และความหลากหลายของเมนู
“ถึงจะเพิ่งเปิดขายได้ไม่นาน แต่ผลตอบรับมันดีกว่าที่คิดไว้ ตอนนี้กำลังมองหาสถานที่จอดขายประจำ ที่ดูๆ อยู่จะมีอยู่ 2 ที่ แถวทองหล่อที่หนึ่ง และแถวเอกมัยปลายๆ ก่อนถึงพระราม 9 อีกที่หนึ่ง กะว่าจะจอดขายที่ละ 3 วัน 2 ที่ก็เป็น 6 วัน ได้หยุดพักวันหนึ่ง
จริงอยู่ที่ว่าขายตามงานอีเวนต์มันจะได้เงินเยอะ เพราะคนที่มาเดินเขาเตรียมเงินมาซื้อของ เตรียมเงินมาหาของกินอยู่แล้ว ยังไงก็ได้ไม่ต่ำกว่าวันละ 20,000 แต่ข้อเสีย คืองานเหล่านี้ไม่ได้มีทุกวัน ส่วนมากจะเป็นช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ วันธรรมดาก็จะว่าง ลูกค้าก็โทร.มาถามกันเยอะว่าไม่ไปจอดขายที่ไหนเหรอ จะตามไปกิน มันก็ทำให้เราเสียโอกาส
ถ้าจอดขายประจำคิดว่าน่าจะได้ประมาณวันละ 15,000 บาท ถ้าได้ตามนี้คิดว่าประมาณ 10 เดือนก็น่าจะคืนทุนได้ จากหุ้นส่วน 6 คนที่ลงเงินกันคนละ 100,000 บาท
แต่ตอนนี้เรายังใหม่มากๆ ทุกวันนี้ก็ช่วยกันทำเองทุกอย่าง มันเลยยังไม่มีค่าใช้จ่ายอะไรมาก ถ้าขายประจำทุกวันก็อาจจะต้องมีค่าจ้างพนักงาน หรือค่าเช่าพื้นที่ ที่ต้องเสียเป็นรายวัน ในเรื่องระยะเวลาการคืนทุนอาจจะต้องยืดออกไป ตรงนี้ยังไม่สามารถบอกได้จริงๆ”
ความน่าสนใจอีกอย่างของ Forkers คือ เป็นการรวมตัวกันทำธุรกิจของกลุ่มเพื่อนที่มากถึง 6 คน ซึ่งโดยมากทุกคนต่างก็มีงานประจำ หรือทำธุรกิจส่วนตัวอยู่แล้ว
“ตอนที่เราฟอร์มทีมขึ้นมาว่าจะทำธุรกิจร่วมกัน คอนเซ็ปต์แรกที่วางไว้ก็คือ จะต้องไม่ทำเป็นงานประจำ เพราะทุกคนต่างก็มีงานประจำที่ดีทำอยู่ บางคนเป็นแอร์โฮสเตส บางคนทำบริษัทเอเยนซี บางคนก็ทำธุรกิจส่วนตัว ไม่มีใครทิ้งงานตรงนั้นมาได้ ตั้งใจจะให้มันเป็น Pocket Money หรือเงินค่าขนมเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้นเอง
แต่พอเริ่มทำจริงๆ ก็พบว่าการทำร้านอาหารมันมีรายละเอียดที่เยอะ ต้องมีคนที่ลงมาดูแลมันอย่างเต็มตัว ซึ่งก็คือผม เพราะอย่างที่รู้กันว่าตอนนี้การเมืองมันก็ทำอะไรมากไม่ได้
ที่จริงแล้วหุ้นส่วนเกือบทุกคนสามารถทำพาสตาได้หมดนะ เพราะปกติพวกเราชอบทำกินกันเองที่บ้านอยู่แล้ว ทำให้พ่อแม่กินบ้าง ทำให้แฟนกินบ้าง แต่คนที่ทำได้ทุกเมนูจริงๆ จะมีอยู่ 4 คน ทำได้คล่องอยู่ 2 คนที่จะต้องเป็นตัวยืน เพราะช่วงเวลาพีกๆ อย่างตอน 18.00-19.00 ผัดไม่ถึงนาทีก็ต้องออกแล้ว คนที่ทำไม่คล่องอาหารก็จะออกช้า
ส่วนเรื่องการทำงานร่วมกันกับกลุ่มเพื่อน ตอนนี้ยังไม่มีปัญหาอะไรเท่าไหร่ อาจจะมีแค่งอนกันบ้างอะไรกันบ้าง จริงๆ แล้วมันก็ไม่ได้ต่างไปจากตัดสินใจไปเที่ยวต่างจังหวัดด้วยกัน จะนอนโรงแรมไหน ไปรถกี่คัน มันก็คล้ายๆ กัน คือในกลุ่มก็จะต้องมีทั้งคนที่คอยเสนอไอเดีย และก็จะมีคนที่ยังไงก็ได้ ก็จะหลีกทางกัน แล้วแต่สถานการณ์
สมมติว่าผมไม่ถนัดในเรื่องหนึ่ง ก็จะมีคนแบบว่า ไม่เป็นไรเดี๋ยวกูทำเอง อะไรอย่างนี้ คือพวกเราจะหนุนกันได้ ถ้าใครรับผิดชอบงานเรื่องไหนไปแล้ว คนอื่นที่เหลือก็จะปล่อย ก็จะไว้ใจกัน จะไม่เข้าไปยุ่ง
หน้าที่หลักๆ ที่แบ่งกันก็จะมีในเรื่องของเมนูอาหาร เรื่องการบริหารจัดการ เช่นจะไปจอดรถที่ไหน เรื่องการหาสถานที่งานอีเวนต์ เรื่องการตกแต่งร้าน เรื่องของแบรนด์อิมเมจ ส่วนเรื่องของคอนเนกชัน การตลาด ทุกคนก็ช่วยกันอยู่แล้ว
อย่างเรื่องชื่อแบรนด์และคอนเซ็ปต์ ตอนแรกก็อยากได้ชื่อแบรนด์ที่มันธรรมดา เข้าใจง่าย อย่าง Pasta Truck แต่ไปๆ มาๆ ทุกคนก็ชอบชื่อ Forkers มากกว่า เพราะมันดูแรง ดูกวนๆ ดูเป็นตัวของตัวเองมากกว่า หรืออย่างเรื่องสีของรถ ตอนแรกจะใช้สีเหลืองพาสเทลให้มันดูซอฟต์ๆ สบายๆ ทีนี้เพื่อนลองมาทำสีส้มให้ดู ไปๆ มาๆ ทุกคนบอกชอบสีส้มมากกว่าสีเหลือง สุดท้ายก็เลยเลือกสีส้ม ซึ่งก็ดูเป็นสีที่เป็นมิตร เข้าได้กับทุกงาน
บางคนอาจจะมองว่าทำธุรกิจกับเพื่อนแล้วกลัวทะเลาะกัน แต่ผมกลับมองว่าอยู่กับเพื่อนมันสบายใจกว่า มันพึ่งพาได้ มันอุ่นใจกว่า ผมเชื่อว่าหลายๆ คนก็คงรู้สึกแบบนี้ ถ้าเกิดทำเองคนเดียวอาจจะต้องเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด ไม่รู้จะไปปรึกษาใคร ไม่รู้จะไปขอไอเดียจากใคร ก็รู้สึกน่ากลัวเหมือนกัน ถ้ามีเพื่อนอยู่ด้วยมันโอเคกว่า
สำหรับเรื่องของคู่แข่งขัน นันท์ยืนยันว่า Forkers เป็น Pasta บน Food Truck แบรนด์แรกที่ยังไม่มีคู่แข่ง และคงอีกนานกว่าจะมีคนคิดเลียนแบบ เพราะการทำพาสตานั้นยุ่งยากกว่าฟาสต์ฟูดแบบอื่น เช่น แฮมเบอร์เกอร์ หรือฮอตด็อก ที่นิยมขายกันบน Food Truck ทั้งยังไม่สามารถทำทุกอย่างได้บนรถ แต่ต้องเช่าครัวกลางไว้คอยเตรียมวัตถุดิบเบื้องต้น ซึ่งตอนนี้ก็ได้เช่าครัวกลางไว้แถวสาธุประดิษฐ์
“สำหรับความคาดหวังต่อตัวธุรกิจนี้ เราคุยกันตั้งแต่ต้นแล้วว่าตัวรถคงไม่ได้อยู่กับเราไปตลอด แต่มันจะกลายเป็นแฟล็กชิปของแบรนด์เรา มันจะกลายเป็นสตอรีว่า Forkers มันเริ่มมาจากรถตัวนี้ เราคงจะไม่ทำรถคันที่ 2 คันที่ 3 หรือเปิดขายแฟรนไชส์ เพราะผมมองว่าคนที่เขามีตังค์เขาก็ไปทำแบรนด์ของเขาเองได้ ไม่จำเป็นต้องมานั่งเสียค่าแฟรนไชส์ให้เรา
ในอนาคตถ้าผลตอบรับยังดีอยู่แบบนี้ เราอาจจะเปิดร้าน Stand Alone ที่ไหนสักแห่ง หรืออาจจะเข้าห้างในลักษณะของคีออสก์ ซึ่งจะคงคอนเซ็ปต์เดิม เป็น Pasta ในราคาที่จับต้องได้ มีที่นั่งไม่เยอะ คนอาจจะซื้อใส่ถ้วยแล้วเดินกินไปคุยกับเพื่อนไป”
Forkers จัดว่าเป็น Food Truck น้องใหม่ที่มาแรงไม่แพ้ Food Truck รุ่นพี่ ถึงจะเพิ่งเปิดขายได้ไม่นาน แต่ก็มีแนวคิดในการทำงานที่น่าสนใจสมกับเป็นคนรุ่นใหม่ แต่จะแจ้งเกิดได้ไกลขนาดไหน คงต้องติดตาม
ใครสนใจแลกเปลี่ยนประสบการณ์หรือจับคู่ธุรกิจกับ Forkers ติดต่อได้ที่ 08-6911-5550 หรือดูรายละเอียดได้ที่ www.facebook.com/forkersbkk
*** ข้อมูลโดย นิตยสาร SMEs PLUS ***
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *