xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” แต่งตัวแฟรนไชส์ไทยบุกอาเซียน โกย 6,300 ลบ.ใน 3 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จับมือ สมาคมแฟรนไชส์และไลเซนส์ วางยุทธศาสตร์พัฒนาแฟรนไชส์ไทยสร้างความเข้มแข็งระยะยาว วิเคราะห์ตลาดเชิงลึกเร่งผลักดันเจาะตลาดอาเซียน พร้อมเตรียมเข้าเปิดตลาดจีน อินเดีย และตะวันออกกลาง ขยายการส่งออกภาคบริการและฐานรายได้เข้าประเทศ ย้ำศักยภาพธุรกิจ “โชว์เคส” สุดอลังการในงาน “สุดยอดแฟรนไชส์ไทยสู่ตลาดโลก”

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงาน “สุดยอดแฟรนไชส์ไทยสู่ตลาดโลก Excellent Thai Franchise” ว่า ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ที่มุ่งเน้นให้หน่วยงานภาครัฐใช้หลักการขับเคลื่อนนโยบาย (Agenda) มากำหนดเป็นแนวทางการทำงานร่วมกันทุกภาคส่วน และให้มีการบูรณาการความร่วมมือกับภาคเอกชนมากขึ้น เพื่อสร้างความเข้มแข็งและสร้างความสมดุลในการพัฒนาเศรษฐกิจจากภายในสู่ภายนอก อันจะส่งผลต่อการสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนแก่ประเทศไทยในระยะยาว กระทรวงฯ จึงได้ดำเนินการสร้างระบบธุรกิจที่ส่งเสริมต่อการสร้างสังคมและเครือข่ายผู้ประกอบการเพื่อต่อยอดให้เกิดการขยายธุรกิจ โดยได้ดำเนินการพัฒนาสร้างองค์ความรู้ให้แก่ธุรกิจอย่างต่อเนื่องเพื่อยกระดับสู่มาตรฐานคุณภาพการบริหารจัดการ ท้ายสุดคือ การสร้างโอกาสทางการตลาดและเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจสู่ตลาดโลก โดยหนึ่งในธุรกิจที่กระทรวงฯ ให้ความสำคัญ คือ ธุรกิจแฟรนไชส์ เนื่องจากเป็นรูปแบบธุรกิจที่เอื้อต่อการเริ่มต้นและขยายธุรกิจ โดยมีมูลค่าตลาดสูงถึง 2 แสนล้านบาท หรือร้อยละ 9 ของมูลค่าการค้าปลีก-ส่งไทย และยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก

ดังนั้น กระทรวงฯ จึงได้ประชุมหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและสร้างความร่วมมือกับผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ สมาคมแฟรนไชส์และไลเซนส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านแฟรนไชส์ เพื่อกำหนดทิศทางในการส่งเสริมพัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์ไทยให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันและพร้อมขยายธุรกิจสู่ตลาดสากล โดยได้กำหนดยุทธศาสตร์เพื่อสร้างความเข้มแข็งระยะยาวให้แก่ธุรกิจ มุ่งเน้น 2 แนวทาง คือ 1. ขยายประเภทของธุรกิจแฟรนไชส์ให้ครอบคลุมกลุ่มธุรกิจมากขึ้น เช่น Social Business และสร้างรูปแบบธุรกิจบริการใหม่ๆ 2. ขยายการส่งออกสู่กลุ่มประเทศต่างๆ ให้ครอบคลุมทุกทวีปทั่วโลก ทั้งนี้ การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ให้บรรลุเป้าหมายและประสบความสำเร็จต้องเกิดจากความร่วมมืออย่างจริงจังของทั้งสองฝ่ายตามนโยบายความร่วมมือภาครัฐ-ภาคเอกชน หรือ PPP (Public Private Partnership) ของรองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) โดยภาคเอกชนจะเป็นแกนกลางในการเสนอยุทธศาสตร์ และภาครัฐจะเป็นผู้ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่

นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกันทำการวิเคราะห์ตลาดประเทศเพื่อนบ้าน หรือตลาดอาเซียนในเชิงลึก เพื่อวางกลยุทธ์การเข้าทำตลาด เนื่องจากปลายปี 2558 นี้จะเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) อย่างเต็มรูปแบบ อาเซียนจึงเป็นตลาดที่มีโอกาสในการขยายธุรกิจได้ดี ประกอบกับธุรกิจแฟรนไชส์ของไทยมีศักยภาพและมีคุณภาพที่ดี จึงไม่เป็นการยากที่จะเป็นศูนย์กลางหรือฮับด้านธุรกิจแฟรนไชส์ในภูมิภาคอาเซียน ไม่เพียงเท่านี้ กระทรวงฯ ยังได้เตรียมนำธุรกิจแฟรนไชส์ของไทยเข้าเปิดตลาดที่จีน อินเดีย และตะวันออกกลาง เพื่อเป็นการเปิดพื้นที่ใหม่ๆ ในการขยายธุรกิจ ขยายการส่งออกภาคบริการ และขยายฐานรายได้เข้าประเทศมากขึ้น

ล่าสุดทางกรมพัฒนาธุรกิจการค้าจึงได้ร่วมมือกับผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ จัดงาน “สุดยอดแฟรนไชส์ไทยสู่ตลาดโลก” หรือ “Excellent Thai Franchise” ณ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ สนามบินน้ำ ภายในงานนอกจากจะมีการนำโชว์เคสของแฟรนไชส์ไทยที่มีศักยภาพและมีชื่อเสียงที่สามารถขยายธุรกิจสู่ตลาดต่างประเทศ เช่น ร้านอาหารซูกิชิ แบล็คแคนยอน กาแฟชาวดอย ก๋วยเตี๋ยวสุโขทัยแม่ศรีวรรณ สถาบันการศึกษาสมาร์ทเบรน ฯลฯ มาจัดแสดงอย่างเต็มรูปแบบแล้ว ยังมีการมอบโล่ประกาศเกียรติคุณธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีศักยภาพและเป็นต้นแบบที่ดีสำหรับการขยายธุรกิจสู่ต่างประเทศ จำนวน 15 กิจการ การมอบหนังสือรับรองธุรกิจแฟรนไชส์ที่ผ่านการยกระดับสู่เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพธุรกิจฯ ประจำปี 2558 จำนวน 53 กิจการ การสัมมนา “เส้นทางสู่สากล...ธุรกิจแฟรนไชส์ไทยก้าวอย่างไร” และงานวิจัยสถานการณ์แฟรนไชส์ไทยล่าสุด

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์เตรียมผลักดันธุรกิจแฟรนไชส์ไทยสู่ตลาดโลกใน 3 ปี (ปี 2559-2561) ให้ได้ไม่น้อยกว่า 300 ราย และสามารถขยายแฟรนไชส์ในต่างประเทศไม่น้อยกว่า 1,800 ราย ซึ่งจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ราว 6,300 ล้านบาท
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SME ผู้จัดการออนไลน์" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น