xs
xsm
sm
md
lg

บสย.พร้อมค้ำประกันสินเชื่อแสนล้าน ปลดล็อก SMEs ถึงแหล่งทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ (กลาง) ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
บสย.ประกาศพร้อม “ค้ำประกันสินเชื่อ” 1 แสนล้านบาท แจงคลายเกณฑ์ธนาคารปล่อยสินเชื่อ ปลดล็อก SMEs เข้าถึงแหล่งทุน

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า ในขณะนี้มีหน่วยงานภาครัฐหลายภาคส่วนมีความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยคาดว่าภายในสัปดาห์นี้ทุกหน่วยงานจะประกาศความพร้อม และเริ่มขับเคลื่อนอย่างเต็มที่ ล่าสุดบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ได้ประกาศความพร้อมในการดำเนินมาตรการค้ำประกันสินเชื่อแบบ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 5 (PGS5) ปรับปรุงใหม่ ตามมติคณะรัฐมนตรี 8 กันยายน 2558 ในวงเงินค้ำประกัน 1 แสนล้านบาท เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถได้รับสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินได้เพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจและช่วยเสริมสภาพคล่องทางการเงิน โดยคาดว่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการSMEs ได้รับสินเชื่อเพิ่มขึ้นกว่า 30,000 ราย และก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินประมาณ 170,000 ล้านบาท
นายญาณศักดิ์ มโนมัยพิบูลย์ ประธานกรรมการ  บสย.
ด้านนายญาณศักดิ์ มโนมัยพิบูลย์ ประธานกรรมการ บสย.เผยว่า บสย.พร้อมให้บริการค้ำประกันสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ SMEs ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ภายใต้โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS5 ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2558 ที่ผ่านมา เพื่อเอื้อประโยชน์แก่ผู้ประกอบการ SMEs เนื่องจากได้ปรับเกณฑ์การค้ำประกันให้ผ่อนคลายมากขึ้น เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งทุนง่ายขึ้น โดยช่วยปลดล็อกเปิดโอกาสผู้ที่เคยมีประวัติด้านการเงิน แต่มีศักยภาพในการชำระหนี้ ขณะเดียวกัน ภายใต้หลักเกณฑ์ใหม่นี้จะทำให้ธนาคารมั่นใจในการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าที่มีศักยภาพน้อยกว่าเกณฑ์ปกติได้มากขึ้น และเร็วขึ้นตามเจตนารมณ์ของภาครัฐ

นอกจากนี้ รัฐบาลยังช่วยแบ่งเบาภาระของผู้ประกอบการ SMEs โดยเป็นผู้รับภาระค่าธรรมเนียมค้ำประกันให้กับผู้ประกอบการ SMEs ต่อเนื่อง 4 ปี โดยปีที่ 1 รัฐบาลจ่ายค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 1.75% (ฟรีค่าธรรมเนียม) ส่วนปีที่ 2-4 รัฐบาลจ่ายค่าธรรมเนียมแทนผู้ประกอบการ SMEs ในอัตรา 1.25%, 0.75% และ 0.25% ตามลำดับ รวมคิดเป็นเงินชดเชยที่รัฐบาลจ่ายแทนผู้ประกอบการ SMEs ตลอด 4 ปี คิดเป็นเม็ดเงิน 4,000 ล้านบาท ถือว่าเป็นการช่วยเหลือภาระค่าธรรมเนียมแทนผู้ประกอบการ SMEs ที่สูงกว่าทุกครั้งที่ บสย.เคยดำเนินโครงการ เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการ SMEs

การปรับเงื่อนไขการค้ำประกันใหม่ในครั้งนี้ บสย.จะรับภาระจ่ายค่าประกันชดเชยกรณีที่เป็นหนี้ NPGs ทั้งโครงการรวมทั้งสิ้นไม่เกินร้อยละ 30 ของภาระค้ำประกัน โดยแบ่งการจ่ายค่าประกันชดเชยเป็นสัดส่วนร้อยละ 100 ของผู้ประกอบการ SMEs แต่ละราย ในหนี้ NPGs 15% แรก ส่วนหนี้ NPGs ที่เกินกว่า 15% แต่ไม่เกิน 30% บสย.จ่ายค่าประกันชดเชยร้อยละ 50 ของการค้ำประกันแต่ละราย ทำให้การจ่ายค่าประกันชดเชยของโครงการดังกล่าวสูงสุดไม่เกินร้อยละ 22.5 ตลอดระยะเวลาโครงการ

“เรามั่นใจว่าภายใต้โครงการค้ำประกันใหม่นี้ จะทำให้ บสย.สามารถช่วยผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น โดยคาดว่า บสย.จะอนุมัติการค้ำประกันได้เฉลี่ยในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้ เดือนละ 8,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 60% จากยอดการค้ำประกันปกติที่อนุมัติเพียงประมาณ 5,000 ล้านบาทต่อเดือน เพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ 8,000 ล้านบาทในช่วง 3 เดือนสุดท้ายที่เหลือของปีนี้”
นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานสมาคมธนาคารไทย
นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า โครงการค้ำประกัน PGS5 ปรับปรุงใหม่ ตามมติ ครม.8 กันยายน2558 ของ บสย.ในวงเงิน 100,000 ล้านบาทในครั้งนี้ จะช่วยทำให้สถาบันการเงินต่างๆ มีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นที่จะปล่อยสินเชื่อมากขึ้น และลดความกังวลในปริมาณ NPL ของผู้ประกอบการ SMEs ที่เพิ่มขึ้นจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกเพราะมี บสย.มาเป็นกลไกในการบริหารความเสี่ยงให้ โดยขณะนี้ธนาคารต่างๆ มีความพร้อมในการรับคำขอสินเชื่อจากผู้ประกอบการ SMEs ที่จะใช้บริการค้ำประกันของ บสย. โดยมั่นใจว่ามาตรการนี้จะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินในระบบ เพื่อจะผลักดันให้ระบบเศรษฐกิจขับเคลื่อนต่อไปได้

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEsผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น